เล่าคร่าวๆกับเรื่องอดีตนายก ฯ , ตอนที่ ๑.
แน่นอนว่าพื้นที่ข่าวและสังคมโซเชี่ยลในประเทศไทยส่วนมากจะลงรายละเอียดและความเห็นเรื่องการพิจารณา "คดีจำนำข้าว"ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐
โดยกรณีนี้แบ่งเป็นสองภาค คือ หนึ่ง กรณีของอดีต รมว.พาณิชย์ "บุญทรง เตริยาภิรมย์" กับบรรดาจำเลยทั้งหลาย และ สอง กรณีของอดีตนายกฯ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"
โฟกัสของทุกคนอยู่ที่กรณีที่สอง ด้วยความที่จำเลยเป็นบุคคลระดับประเทศที่มีชื่อเสียงมีคนรักเยอะคนชังมาก ด้วยหลายเหตุผล ว่ากันไป แถมการพิจารณาคดีครั้งนี้เป็นเสมือน "ลาง" สำหรับทิศทางการเมืองไทย และเป็นคดีที่ "อาจ" กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับการดำเนินนโยบายสำหรับรัฐบาลชุดต่อๆไป ด้วย
บริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและเพิ่มมิติความซับซ้อนขึ้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ๒๕๔๐ ได้ถูกประกาศใช้ขึ้น
ซึ่งสร้างความเข้าใจบทใหม่ในนิยามของ "ประชาธิปไตย" ท่ามกลางมนต์ขลังของการปกครองในรูปแบบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" มาร่วมหลายทศวรรตก่อนหน้า
มาถึงสมัย"อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่าระหว่างวาระของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ได้สร้างสิ่งแวดล้อมทางการเมืองไทยไปสู่ความรู้สึกที่แตกต่างกว่าการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมามาก จนก่อรากสร้าง "ขั้วอำนาจ" ใหม่ที่ท้าทายกลุ่มอนุรักษ์นิยมได้มากและบ่อยครั้ง
หากนับจำนวนคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยโดยการนำของ "ทักษิณ" ก็ถือว่าการบริหารงานเป็นไปด้วยความนิยมขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดความคิดในการ "รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ" จนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับกลุ่มที่มีผลประโยชน์หรือ "ครอบครองพื้นที่อำนาจเดิม" และสะสมเป็นความไม่พอใจ ไม่ลงตัวปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ
.
นำมาสู่เหตุการณ์รัฐประหารขึ้นโดย คมช. ที่มี "พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน" ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ ก่อนที่จะส่งไม้ต่อไปยัง "พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์" องคมนตรีผู้อาวุโสให้ก้าวมานั่งทำงานสั่งการในตึกไทยคู่ฟ้า
ผลงานของ "พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์" นับว่าไม่เปรี้ยงปร้างมากนักหากเทียบกับนายกทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้หลายฝ่ายที่มีบทบาททางการเมืองตั้งหลัก รอวันระฆังเลือกตั้งยกใหม่ดังขึ้น ภายหลังที่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ ที่ได้ปรับเปลี่ยนตัวอักษรจากฉบับ ๒๕๔๐ หลายประการได้ประกาศใช้
ภายหลังจากการเลือกตั้งใน ปี ๒๕๕๐ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ปรากฏการณ์ทางการเมืองปรากฏคำตอบถึง ๒๓๓ ที่นั่งจาก ๔๐๐ ที่นั่ง ของ "พรรคพลังประชาชน" ทายาทพรรคไทยรักไทย ส่ง "สมัคร สุนทรเวช" หัวหน้าพรรคเข้าวินในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๕ ของสยามประเทศ
แต่อยู่ได้ไม่ถึงปี (๒๒๓ วัน) ก็เป็นอันสิ้นสุดบทบาทด้วยคดีประวัติศาสตร์เช่นกัน เรียกคดีนี้สั้นๆว่า "ตกตำแหน่งคาตะหลิว"
ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภากันใหม่ ปรากฏชื่อ "สมชายวงศ์สวัสดิ์" น้องเขยอดีตนายกทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๖ อย่างไรก็ดีสถานการณ์ทางการเมืองไทยตอนนั้น ทราบกันดีว่าก่อตัวจาก "ความบาดหมาง" เป็น "ความรุนแรง" ขึ้นโดยทั่วแล้ว
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ทำให้นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๖ เป็นอันสิ้นสุดลง และกลับสู่กระบวนการการเลือกนายกรัฐมนตรีในเวทีรัฐสภาอีกครั้ง
ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่ตึงเครียดตลอดเวลา ทำให้บางส่วนของพรรคการเมืองในฟากรัฐบาลพลังประชาชน มีแนวคิดในการ "กลับข้าง" หนุน "อภสิทธ์ เวชชาชีวะ"ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้นขึ้นสู่ประมุขฝ่ายบริหาร จนกลายเป็น "ดราม่าภูมิใจไทย"เป็นสีสันทางการเมืองในขณะนั้น
"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นผู้นำรัฐบาลอยู่ ๒ ปี ๒๓๑ วัน ก็หมดวาระ คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่
และแน่นอนที่ "ทักษิณ ชินวัตร" จากไทยรักไทย เป็นพลังประชาชนโดย "สมัคร สุนทรเวช" สู่ "เพื่อไทย" ที่ชู "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น้องสาวสายตรงขึ้นชิงชัย
การเลือกตั้งผ่านไป กลายเป็น "เพื่อไทย" ที่ได้รับอำนาจจากประชาชนมากถึง "๒๖๕ ที่นั่ง" นำห่างเบอร์สองอย่างประชาธิปัตย์โดยอภิสิทธ์ เวชชาชีวะกว่า ๑๐๖ ที่นั่ง
ส่ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมตรีหญิงท่านแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
หลังการเลือกตั้งผ่านไป ๒ ปี ๒๗๕ วัน การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้นามสกุล"ชินวัตร"คราวนี้สิ้นสุดลงด้วยแรงวิกฤตความศรัทธาระบบรัฐสภาจากกรณี "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" ที่ต่อยอดให้เกิด "สูญญากาศทางการเมือง" ด้วยปัจจัยหลายด้านดังที่ทราบกันอยู่
ก่อให้เกิดรัฐประหารโดย คสช. ที่นำโดย "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ในกลางปี พ.ศ.๒๕๕๗ (มาถึงวันนี้ก็สามปีแล้วนี่หว่า)
เมื่อเบอร์หนึ่ง คสช. ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มี "การเช็คบิล" รัฐบาลก่อนหน้า และที่ค้างคามาคือ "ปัญหาจำนำข้าว" ที่ระแคะระคายมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร
และสั่งสอบสวน จนนำส่งฟ้องเป็นคดีได้ โจทย์คือ "อัยการ
สุดท้าย ก็มาถึงวันที่ศาลอาญา ฯ อ่านคำพิพากษา
ที่แบ่งเป็นสองกรณีดังที่กล่าวมาในข้างต้น
กรณีแรก จำเลยที่หนึ่งมาตามนัด
กรณีหลัง จำเลยที่หนึ่งไม่ปรากฏตัวท่ามกลางความสนใจของคนไทยทั้งประเทศ และรัฐบาลของมหาอำนาจที่ส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์ด้วย
"ผิดหวัง" และ "เยาะเย้ย" ก็กลายเป็น "คำตอบ" ส่วนใหญ่ที่ดังกระหึ่มอยู่ในความเห็นของชาวไทยในขณะนี้
ที่น่าสังเกตจากเรื่องที่เขียนมาคือ (ขอยกห้าข้อละกัน)
๑. หลังรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี ๒๕๔๐ แล้ว "ทักษิณ ชินวัตร" ได้สร้างบริบททางการเมืองที่แข็งแกร่งมาก ทั้งในช่วงวาระที่ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตี และภายหลังจากถูกรัฐประหาร
๒. ทุกการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญ ๔๐ มีด้วยกัน ๖ ครั้ง โดยทุกครั้งพรรคที่ทราบกันดีว่าเป็นทายาทของ "พรรคไทยรักไทย" นั้นสามารถคว้าชัยได้ทุกครั้ง (ไทยรักไทย ๒ สมัย , พลังประชาชน ๑ สมัย , เพื่อไทย ๑ สมัย ส่วนการเลือกตั้งปี ๔๙ และ ๕๗ ถูกประกาศเป็นโมษะ)
๓. ทุกรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนหมดอำนาจด้วย ๓.๑ หมดวาระ (ทักษิณ ๑ สมัย) ๓.๒ การตัดสินคดีความ (สมัคร ๑ ครั้ง , สมชาย ๑ ครั้ง ) และ ๓.๓ รัฐประหาร (ทักษิณ ๑ ครั้ง , ยิ่งลักษณ์ ๑ ครั้ง)
๔. เกิดวาทกรรมมากที่เป็นแผลประชาธิปไตยถึงความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง โดยแตกแขนงไปยังคุณธรรมนักการเมือง, บ้านนอกกับการเลือกตั้ง, คนดี , ปฏิรูป หรือการโหนสถาบันหลักของชาติ เป็นต้น
๕. การรัฐประหารมักเข้าสู่วัฏจักรเดิม ด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ขยายอำนาจ กล่าวหารัฐบาลชุดที่ผ่านมา เศรษฐกิจซบเซา ข่าวคราวทุจริต และความพยายามในการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเป็นเงาของการยึดอำนาจในประเทศนี้เสมอมา.
#PrinceAlessandro
25-08-2017