แนวคิดของการเชือดสัตว์พลีในอิสลาม
....................................
:: คำถาม ::
อัสลามุอะลัยกุม สุขสันต์วันอีดทุกท่านครับ เมื่อวันอีดอัฏฮามาถึง แน่นอนว่าแกะ วัว อูฐจำนวนมากจะถูกจับมาเชือดสำหรับการเฉลิมฉลองในวันอีด ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจของฉันว่า อะไรคือแนวคิดของการเชือดพลีในอิสลาม? อีกเรื่องหนึ่งเพื่อนที่ไม่ใช่มุสลิมของฉันพยายามที่จะหาข้อผิดพลาดในอิสลาม โดยกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวของมุสลิมไม่ต่างอะไรกับการบูชารูปปั้นที่ทำการเชือดพลีต่อพระเจ้าของพวกเขา ได้โปรดอธิบายเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด ญาซากัลลอฮฺ ค็อยร็อน
:: คำตอบ ::
ตามความเป็นจริงแล้ว มีความเข้าใจผิดๆหลายอย่างจากคนที่ไม่ใช่มุสลิมจำนวนมากที่ไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงและวิทยปัญญาที่อยู่เบื้องหลังในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ(การเคารพบูชา)ในอิสลาม นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมการกล่าวถึงความเข้าใจผิดเหล่านั้นจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งนี้เพื่อที่จะลบล้างคำบิดเบือนเกี่ยวกับอิสลาม ดังนั้นในประเด็นนี้ เราจึงขอกล่าวเกี่ยวกับกับสิ่งที่ท่านอ้างมาดังต่อไปนี้
การเชือดพลีมิได้เป็นเสาหลักของอิสลาม เราต้องมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านบริบท โดยต้องเข้าใจว่ามิได้เป็นเพียงแค่ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มาก่อนอิสลามเท่านั้น แต่อัลกุรอานได้ปฏิรูปในเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวนี้และการเชือดพลีที่มีมาอย่างต่อเนื่องในโลกมุสลิม แต่บริบทในอัลกุรอานนั้นมีอยู่ เพราะดูเหมือนว่าผู้คนจำนวนมากทั้งคนที่ไม่ใช่มุสลิมและมุสลิม ที่บริบทเป็นกุญแจสำคัญที่พวกเขาได้พลาดไป
ด้วยความเข้าใจตรงนี้ ให้เราเริ่มด้วยสถานการณ์เช่นที่ชาวอาหรับก่อนการมาของอิสลามในเรื่องการเชือดพลี ชาวอาหรับนอกรีตในยุคก่อนอิสลามได้ทำการถวายต่อพระเจ้าหลายองค์เพื่อหวังการได้รับความคุ้มครอง ความช่วยเหลือ หรือผลประโยชน์ แต่กระนั้นพวกยิวในยุคนั้นก็พยายามที่จะถวายให้กับผู้เป็นเจ้าองค์เดียวที่แท้จริงโดยการถวายเครื่องโลหิตและเครื่องเผาบูชา
แม้แต่ชุมชนคริสเตียนต่างก็รู้สึกว่านบีอีซาถูกพลี ท่านเป็นเสมือนลูกแกะตัวสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม อิสลามได้แยกห่างจากประเพณีดั้งเดิมที่ทำกันมายาวนานซึ่งเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นการสยบความโกรธกริ้วของพระเจ้า หรือความเชื่อที่ว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ตัวตนสูญสลาย(ฟานาอฺ)หรือเป็นหนึ่งเดียวกับอัลลอฮฺ ความเชื่อในการไถ่โทษความผิดที่ปฏิบัติกันมา (การอภัยโทษจากความผิดของคน ๆ หนึ่งผ่านการหลั่งเลือดสิ่งอื่นทดแทน)นั้นไม่ปรากฏในที่ใด ๆ ของอัลกุรอาน ไม่มีแนวคิดของที่ส่งเสริมการถวายชีวิตอื่นเพื่ออัลลอฮฺ อิสลามต้องการให้การเชือดพลีนั้นเป็นเรื่องของความสมัครใจของคน ๆ หนึ่งเพื่อลดอัตตาของตัวเองและเป็นความต้องการของส่วนบุคคลที่กระทำเพื่ออัลลอฮฺ
ขอให้พิจารณาดูว่าอัลกุรอานกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างไร โดยการมองให้เห็นถึงข้อแตกต่างในเรื่องการเชือดพลีอีกทั้งอัลลอฮฺต้องได้รับการสยบด้วยเลือดหรือไม่ การอธิบายของอัล กุรอานในเรื่องการเชือดท่านนบีอิสมาอีลนั้นเป็นการกล่าวถึงที่ตรงข้ามกับการไถ่โทษด้วยเลือด
لَمَّا بَلَغَ مَعَهُ السَّعْيَ قَالَ يَا بُنَيَّ إِنِّي أَرَىٰ فِي الْمَنَامِ أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانظُرْ مَاذَا تَرَىٰ ۚ قَالَ يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ ۖ سَتَجِدُنِي إِن شَاءَ اللَّـهُ مِنَ الصَّابِرِينَ ﴿١٠٢﴾ فَلَمَّا أَسْلَمَا وَتَلَّهُ لِلْجَبِينِ ﴿١٠٣﴾ وَنَادَيْنَاهُ أَن يَا إِبْرَاهِيمُ ﴿١٠٤﴾ قَدْ صَدَّقْتَ الرُّؤْيَا ۚ إِنَّا كَذَٰلِكَ نَجْزِي الْمُحْسِنِينَ ﴿١٠٥﴾ إِنَّ هَـٰذَا لَهُوَ الْبَلَاءُ الْمُبِينُ ﴿١٠٦﴾ وَفَدَيْنَاهُ بِذِبْحٍ عَظِيمٍ ﴿١٠٧﴾
“ครั้นเมื่อเขา (อิสมาอีล) เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขา (อิบรอฮีม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้ลูกเอ๋ย ! แท้จริงพ่อได้เห็นในขณะฝันว่า พ่อได้เชือดเจ้า จงคิดดูซิว่าเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร? “ เขากล่าวว่า “โอ่พ่อจ๋า! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่า ฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน”, ครั้นเมื่อทั้งสอง (พ่อและลูก) ได้ยอมมอบตน (แด่อัลลอฮฺ) อิบรอฮีมได้ให้อีสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น, และเราได้เรียกเขาว่า “โอ้ อิบรอฮีม” เอ๋ย! , “แน่นอน เจ้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามฝันแล้ว” แท้จริง เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย , แท้จริง นั่นคือ การทดสอบที่ชัดแจ้งแน่นอน , และเราได้ให้ค่าไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันใหญ่หลวง” สูเราะฮฺ อัศ-ศอฟาต อายะฮฺที่ 102-107
จะสังเกตเห็นว่า อัลกุรอานไม่เคยกล่าวว่าอัลลอฮฺทรงแจ้งกับท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลามให้ฆ่า(เชือดพลี)ลูกชายของท่าน แม้ว่าจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็ตามแต่เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะบทเรียนด้านคุณธรรมในที่นี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนจากสิ่งที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิ้ล ซึ่งไบเบิ้ลได้กล่าวว่าท่านนบีอิบรอฮีมนั้นฝันเห็นเขาเชือดลูกชายด้วยตัวเอง ท่านนบีอิบรอฮีมเชื่อในความฝันนั้นและคิดว่าความฝันนั้นมาจากอัลลอฮฺตะอาลา แต่อัลกุรอานไม่เคยกล่าวว่าความฝันนั้นมาจากอัลลอฮฺ อย่างไรก็ตามทั้งนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีลปรารถนาที่จะอุทิศชีวิตของตัวเองให้มากที่สุด พวกเขาสามารถที่จะเอาชนะความคิดอันคับแคบของตนเองและการยึดติดอยู่กับความหลอกลวงในเรื่องของวัตถุ ดังนั้นการขจัดม่านกั้นระหว่างตัวของพวกเขาเองกับอัลลอฮฺออกนั้นจะทำให้ความเมตตาจากอัลลอฮฺลงมายังพวกเขา และจะทำให้พวกเขาเห็นแนวทางที่ถูกต้องด้วยวิทยปัญญา(ฮิกมะฮฺ)จากผู้เป็นเจ้า (เป็นยับยั้งการติดสินผิด ๆ ในเรื่องการไถ่ถอนบาป)
เนื่องจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาปรานีเสมอ ย่อมจะไม่ขอให้พ่อคนหนึ่งทำสิ่งที่ขัดแย้งกับบัญชาของพระองค์ที่ว่า “ท่านอย่าได้ฆ่าใครเป็นอันขาด” หรือสั่งให้ฆ่าลูกชายของเขาเองเพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากพระองค์ เพราะอัลกุรอานสอนเราว่าอัลลอฮฺไม่เคยสนับสนุนในเรื่องความชั่วร้าย (ดู สูเราะฮฺ อัล อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 28 และ สูเราะฮฺ อัน นะหฺลฺ อายะฮฺที่ 90) มีแต่ชัยฏอนมารร้ายเท่านั้นที่ส่งเสริมความชั่วและความเลวร้าย (ดูสูเราะฮฺ อันนูร อายะฮฺที่ 21) ความเชื่อที่ว่าอัลลอฮฺต้องการให้เรากระทำสิ่งผิดศีลธรรมนั้นเป็นการขัดแย้งกับความยุติธรรมของอัลลอฮฺอย่างสิ้นเชิง
การปฏิบัติที่กระทำกันทุกปีซึ่งดำเนินตามเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ (นั่นคือการเชือดพลีแกะเพื่อรำลึกถึงการเสียสละตัวเองที่ยิ่งใหญ่ของนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีล อะลัยฮิมัสลาม) เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับมันและทำความเข้าใจอัลกุรอานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเชือดสัตว์พลี ซึ่งสัมพันธ์กับเวลาและสถานที่ภายใต้บรรยากาศที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา ตลอดจนวิธีการที่ผู้คนใช้ความพยายามเพื่อการอุทิศตนและเสียสละด้วยการแบ่งปันปัจจัยอันจำกัดในการช่วยเหลือคนด้อยกว่าในสังคมพวกเขา
กล่าวได้ว่า ทัศนะของอิสลามที่มีต่อพิธีการเชือดนั้นมิใช่เป็นการไถ่โทษด้วยเลือดหรือแสวงหาความพอพระทัยจากอัลลอฮฺผ่านความตายของชีวิตหนึ่ง แต่เป็นการกระทำที่แสดงความขอบคุณต่ออัลลอฮฺสำหรับความช่วยเหลือของพระองค์ และเป็นการเสียสละส่วนตัวในการแบ่งปันจากสิ่งที่เขาครอบครองและการให้คุณค่าต่ออาหารแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พิธีกรรมในตัวมันเองนั้นมิใช่การบูชายัญ แต่เป็นวิธีการหนึ่งของการเชือดซึ่งแต่ละคนจะต้องเชือดอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องยอมรับว่าอัลลอฮฺเท่านั้นที่มีสิทธิจะเอาชีวิตหนึ่งและพวกเขาจะต้องกระทำอย่างผู้ถ่อมตนในฐานะสิ่งที่ถูกสร้างจากอัลลอฮฺที่มีความจำเป็นในเรื่องอาหารเช่นเดียวกับสิ่งถูกสร้างในแบบอื่น ๆ ของอัลลอฮฺ
เราลองพิจารณาอายะฮฺอัลกุรอานบางอายะฮฺที่กล่าวถึงเรื่องของการเชือดเอาไว้และมันสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนใน คริสตศักราชที่ 500 อย่างไร(คำอธิบายของยูสุฟ อาลีชี้ให้เห็นว่าบางคนที่อยู่ก่อนจะมีบัญญัติในเรื่องการเชือดพลี มนุษย์มีความเข้าใจในเรื่องการเชือดสัตว์ว่ามิใช่เป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณอย่างที่สุด หรือเป็นความเชื่อในการไถ่โทษด้วยเลือด) ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา กล่าวว่า “ในพวกมัน “ปศุสัตว์” เหล่านั้นมีคุณประโยชน์มากหลายสำหรับพวกเจ้า จนถึงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ และสถานที่เชือดของมันคือบริเวณบ้านอันเก่าแก่”
คำว่า “ละกุม(ในหมู่พวกมัน)” เป็นการโยงไปยังวัวควายหรือสัตว์ที่จะทำการเชือดพลี มันเป็นความจริงที่ว่าพวกมันเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ อูฐในประเทศทะเลทรายมีคุณประโยชน์ที่จะเป็นยานพาหนะ แบกสัมภาระหรือการดื่มน้ำนมของมัน สำหรับม้า วัว อูฐเนื้อของมันมีคุณประโยชน์เช่นเดียวกัน ขนของอูฐสามารถนำทักทอเป็นเสื้อผ้า ส่วนแพะและแกะนั้นจะให้เนื้อ เส้นผมและขนของมัน แต่ถ้าพวกมันถูกนำไปใช้ในการเชือดพลี พวกมันก็จะกลายเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของมันปรารถนาจะทำให้มันมีคุณประโยชน์ด้วยการเติมเต็มความต้องการของพี่น้องที่มีความขัดสน (คำอธิบายของยูสุฟ อาลี)
وَلِكُلِّ أُمَّةٍ جَعَلْنَا مَنسَكًا لِّيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّـهِ عَلَىٰ مَا رَزَقَهُم مِّن بَهِيمَةِ الْأَنْعَامِ ۗ فَإِلَـٰهُكُمْ إِلَـٰهٌ وَاحِدٌ فَلَهُ أَسْلِمُوا ۗ وَبَشِّرِ الْمُخْبِتِينَ ﴿٣٤﴾
อัลลอฮฺตรัสอีกว่า “และสำหรับทุก ๆ ประชาชาติเราได้กำหนดสถานที่ทำพิธีกรรม เพื่อพวกเขาจักได้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺ ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา คือสัตว์สี่เท้า (เช่น อูฐ วัว แพะ แกะ) ฉะนั้นพระเจ้าของพวกเจ้าคือพระเจ้าองค์เดียว ดังนั้นสำหรับพระองค์เท่านั้น พวกเจ้าจงนอบน้อมและจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้จงรักภักดีนอบน้อมถ่อมตนเถิด” สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ อายะฮฺที่ 34
นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการเชือดพลี มิใช่เป็นการเซ่นไหว้อำนาจที่เหนือกว่า เพราะอัลลอฮฺมีอยู่หนึ่งเดียวและพระองค์มิได้ทรงปรารถนาเนื้อสัตว์และเลือดแต่อย่างใด แต่มันเป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงความขอบคุณที่มีต่ออัลลอฮฺโดยการแบ่งปันเนื้อให้กับเพื่อนมนุษย์ การเอ่ยพระนามของอัลลอฮฺบนการเชือดพลีนั้นนับว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของพิธีกรรมนี้
อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสเพิ่มอีกว่า
لَن يَنَالَ اللَّـهَ لُحُومُهَا وَلَا دِمَاؤُهَا وَلَـٰكِن يَنَالُهُ التَّقْوَىٰ مِنكُمْ ۚ كَذَٰلِكَ سَخَّرَهَا لَكُمْ لِتُكَبِّرُوا اللَّـهَ عَلَىٰ مَا هَدَاكُمْ ۗ وَبَشِّرِ الْمُحْسِنِينَ ﴿٣٧﴾
“เนื้อของมันและเลือดของมันจะไม่ถึงอัลลอฮฺแต่อย่างใด แต่การยำเกรงของพวกเจ้าจะถึงพระองค์ เช่นนั้นแหละเราได้ทำให้มันยอมจำนนต่อพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจักได้แซ่ซร้องอัลลอฮฺอย่างเกรียงไกรต่อการที่พระองค์ทรงชี้แนะแก่พวกเจ้า และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ทำความดีเถิด” สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ อายะฮฺที่ 37
ไม่ควรมีใครทึกทักเอาเองว่าเนื้อและเลือดนั้นเป็นการถวายให้กับอัลลอฮฺ ผู้ทรงเอกะ มันเป็นการคาดเดาเอาเองของพวกนอกรีตที่เชื่อว่าจะต้องพลีถวายเลือดให้กับอัลลอฮฺ แต่อัลลอฮฺจะทรงตอบรับการถวายพลีหัวใจของพวกเราต่างหาก โดยที่การเชือดพลีนั้นเป็นเพียงสัญญลักษณ์ภายนอกที่แสดงออกมาให้เห็นเท่านั้น อัลลอฮฺทรงมอบอำนาจให้กับเราให้มีอำนาจเหนือสิ่งถูกสร้างที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน และเนื้อของมันของก็เป็นที่อนุมัติให้เรารับประทานได้ แต่เราจะต้องเอ่ยพระนามของพระองค์ขณะทำการเชือด เพราะการไม่เอ่ยพระนามของพระองค์นั้นแสดงว่าเรากำลังทอดทิ้งความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตไป ด้วยการเอ่ยพระนามของพระองค์ เราจึงถูกย้ำเตือนว่าการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนนั้นจะไม่มีอยู่ในความเชื่อของเรา เป็นเพียงแค่ความจำเป็นใช้เป็นอาหารเท่านั้น (คำอธิบายของยูสุฟ อาลี)
จากอัลกุรอานที่นำมากล่าวข้างต้นเป็นที่ชัดเจนว่า ประเด็นสำหรับเรื่องการเชือดสัตว์พลีนั้นมีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ที่อยู่ในสังคมอาหรับ ณ ช่วงเวลาและสถานที่นั้น (เช่นเดียวกับสังคมอื่น ๆ ที่ขึ้นอยู่สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมนั้น ๆ ) มนุษย์นั้นถูกบัญชาให้รู้จักขอบคุณอัลลอฮฺและสรรเสริญพระองค์สำหรับปัจจัยยังชีพที่พระองค์ทรงประทานให้กับพวกเขาและพวกเขาจะต้องทำการเชือดพลีสิ่งทีมีค่าบางอย่างด้วยตัวพวกเขาเองเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำนึกบุญคุณของพวกเขาสำหรับสิ่งที่พวกเขาได้รับ (ซึ่งในกรณีของพวกเขาสัตว์นั้นมีความหลากหลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดหลักที่พวกเขานำมาเป็นอาหารเพื่อการดำรงชีวิต)
อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง
................................................
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี
ที่มา: www.islamveg.com
#อีดอัฎฮา
#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไมต้องเชือดสัตว์เพื่อการพลี ?
ความหมายของอุฎฮียะฮ์(เนื้อกุรบาน)และกฎเกณฑ์ของมัน