โรฮิงญา: “ระยะสุดท้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นับวันปัญหาโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ก็ยิ่งได้รับความสนใจจากประชาคมโลกมากขึ้น นอกจากผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติจะออกมาระบุว่าชาวโรฮิงญาคือชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่มากที่สุดแล้ว (Most persecuted minority in the World) ระยะหลังยังมีการใช้คำว่า “การฆ่าล้างเผาพันธุ์” หรือ Genocide จากผู้เชี่ยวชาญบางคนที่ศึกษากรณีปัญหานี้มานานอีกด้วย
ไม่ใช่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติเท่านั้นที่พูดถึงกรณีปัญหาโรฮิงญาว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อปี 2015 ก็มีรายงานศึกษาอย่างน้อย 2 งานจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกออกมาใช้คำว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อกรณีปัญหาโรฮิงญาที่ถูกกระทำโดยรัฐบาลเมียนมาร์ งานหนึ่งเป็นของคณะนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale) อีกงานศึกษาหนึ่งเป็นของมหาวิทยาลัยควีนแมรี (Queen Mary) งานศึกษาของทั้ง 2 มหาวิทยาลัยนี้สรุปผลการศึกษาไปในทิศทางเดียวกันว่า กรณีความทุกข์ยากของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ถือเป็น ‘กระบวนการของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (process of genocide)
บางส่วนของรายงานจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีอธิบายว่า “ประชาคมมุสลิมชาวโรฮิงญาที่อยู่ภายใต้รัฐทหารแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อทางการปัจจุบันว่า ‘เมียนมาร์’ ได้เข่นฆ่าชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ และกระทำการอันเป็นการลบเรื่องราวของชาวโรฮิงญาออกจากประวัติศาสตร์ชาติ ส่วนใหญ่เกิดจากการสั่งการของกลุ่มสุดโต่งที่มีอิทธิพลในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ หรือแม้แต่เกิดจากการสั่งการของรัฐบาล เป้าหมายคือกำจัดปราบปรามพวกโรฮิงญาให้สูญสิ้น….ชาวโรฮิงญากำลังเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในระยะสุดท้าย”
รายงานฉบับนี้ที่ศึกษาโดย International State Crime Initiative ของมหาวิทยาลัยควีนแมรี ได้ใช้กรอบคิดของ Feierstein ที่อธิบาย 6 ระยะของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นเกณฑ์ศึกษา จากการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และจากการรายงานของสื่อ ตลอดจนเอกสารของรัฐบาลที่รั่วไหลออกมา
สรุปได้ว่าขณะนี้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาได้ผ่านพ้นมาถึงระยะที่ 4 แล้ว
ระยะที่ 1 คือกระบวนการของการตีตราบาปและลดทอนความเป็นมนุษย์ชาวโรฮิงญา
ระยะที่ 2 คือการคุกคามใช้ความรุนแรงและสร้างความหวาดกลัวต่อชาวโรฮิงญา
ระยะที่ 3 คือการโดดเดี่ยวปิดล้อมและแยกชาวโรฮิงญาออกจากชุมชนส่วนอื่น ๆ ของสังคม
ระยะที่ 4 คือการทำให้ชาวโรฮิงญาอ่อนแออย่างเป็นระบบ
ระยะที่ 5 คือการกำจัดทำลายล้าง และระยะสุดท้ายคือลบล้างชาวโรฮิงญาออกจากประวัติศาสตร์เมียนมาร์
ความจริงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็คือการกระทำอย่างเป็นระบบและไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใดในชาติ หรือกลุ่มชนทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการทำลายทั้งกลุ่มหรือทำลายคนส่วนใหญ่ของกลุ่มก็ตาม
แม้การใช้คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ต่อกรณีปัญหาชาวโรฮิงญาจะดูรุนแรง แต่การตั้งคำถามว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็นับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถือเป็นเรื่องที่มีน้ำหนักทางกฎหมายในเวทีสหประชาชาติ อันจะเป็นการผูกมัดให้ประชาคมโลกต้องเร่งแก้ปัญหา ไม่ใช่ปล่อยปะละเลยจนสถานการณ์เลวร้ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในกรณีบอสเนียและรวันดา
ที่ผ่านมานักการทูตและกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มพยายามเลี่ยงไม่เรียกอาชญากรรมที่เกิดกับชาวโรฮิงญาว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยมักใช้คำว่าการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ หรือการกดขี่สังหารแทน แต่จากการพิจารณามาตรการและนโยบายของรัฐที่มีต่อชาวโรฮิงญาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปฏิเสธได้ยากครับว่ามันคือกระบวนการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีเป้าหมายกวาดล้างทำลายชาวโรฮิงญาให้สิ้นชื่อไปจากประเทศเมียนมาร์ โดยใช้วิธีความรุนแรง การสร้างความหวาดกลัว การบีบบังคับขับไล่ การกักกั้นจำกัดการเคลื่อนย้าย กีดกั้นการแต่งงาน นโยบายลดอัตราการเกิด การจับขังคุก การลงโทษทางกฎหมาย ฯลฯ
กรณีล่าสุดที่ทหารพม่าได้ไล่เผาหมู่บ้านชาวโรฮิงญา ข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิง และสังหารอย่างเลือดเย็นอย่างน้อย 1,000 ศพ (รวมถึงเด็ก คนชรา และผู้หญิง) จนทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 100,000 คนต้องอพยพลี้ภัยไปชายแดนบังคลาเทศ น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในระยะที่ 5 แล้วก็เป็นได้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง