Skip to main content

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (2)

ที่มาของระบบดินแดนใต้อาณัติ

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับอาณาเขตดินแดนภายในอาณาจักรออตโตมันกับหลายฝ่าย ถึงแม้ว่าทุกข้อตกลงจะมีจุดร่วมเหมือนกันคือการแบ่งแยกดินแดนภายในอาณาจักรออตโตมันเดิม ทว่าแต่ละชาติต่างไม่ลงรอยกันในเรื่องของรูปแบบของการปกครองพื้นที่ดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากกรณีของการตัดสินเรื่องดินแดนในปาเลสไตน์ว่าจะให้ฝ่ายใดครอบครอง

หากดูตามสนธิสัญญาที่ลงนามโดย เซอร์เฮนรี่ แม็กมาฮอน (Sir. Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษ มีเนื้อใหญ่ใจความระบุว่า อังกฤษจะให้เอกราชแก่ชาวอาหรับในดินแดนหลายส่วน ซึ่งรวมถึงปาเลสไตน์ หากชาวอาหรับช่วยอังกฤษทำสงครามรบกับเยอรมัน

ในอีกด้านหนึ่ง ลอร์ด อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Lord Arthur James Balfour) รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษในสมัยนั้น กลับลงนามใน "คำประกาศบัลโฟร์" แห่งปี 1917 มอบดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นที่พักพิงถาวรของชาวยิว

แต่ในข้อตกลงไซคส์ - พิโกต์ (Sykes - Picot Agreement) อังกฤษและฝรั่งเศสกลับทำข้อตกลงลับระหว่างกันว่าจะให้ดินแดนปาเลสไตน์เป็น “ดินแดนสากล” (international zone)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าก่อนที่จะเกิดการจัดตั้งรัฐอิสราเอล ดินแดนปาเลสไตน์ได้เป็นประเด็นที่ชาติมหาอำนาจถกเถียงกันในเรื่องของกรรมสิทธิ์ครอบครองดินแดน โดยที่เสียงส่วนใหญ่ของชาวอาหรับไม่ได้รับการเหลียวแล

แรงสนับสนุนสิทธิในการปกครองตนเอง

ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องการรักษาอำนาจอิทธิพลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการรักษาดินแดนอาณานิคมของตน แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1917 กลับสนับสนุนให้ดินแดนอาณานิคมมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (self-determination) ตามหลักการสิบสี่ข้อของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายวูดโรล์ วิลสัน (Woodrow Wilson’s Fourteen Points)

การจัดตั้งระบบอาณัติ

แนวคิดที่ขัดแย้งกันของบรรดาชาติมหาอำนาจได้คลี่คลายลงหลังการประชุมสันติภาพที่ปารีส (Paris Peace Conference) ในปี ค.ศ. 1919 ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ ตกลงกันบริหารอาณาบริเวณเหล่านี้ในนามของสันนิบาต เรียกว่า “ดินแดนใต้อาณัติ” (mandate) ซึ่งได้รับการรับรองจากมาตรา ๒๒ (Article ๒๒) ของกติกาสันนิบาตชาติ (The Covenant of the League of Nations) โดยมีคณะกรรมการจัดการดินแดนใต้อาณัติ (The Permanent Mandates Commission) เป็นผู้ดูแล

สนธิสัญญาแซฟร์ (Treaty of Sèvres) กำหนดให้อังกฤษได้รับมอบดินแดนปาเลสไตน์และเมโสโปเตเมียในอาณัติ ส่วนฝรั่งเศสได้รับมอบดินแดนซีเรีย (ซึ่งรวมเลบานอนด้วย) ตามมาตรา ๒๒ ของกติกาสันนิบาตชาติและมติในที่ประชุมซาน รีโม (San Remo Conference) ในปี ค.ศ. 1920

กล่าวได้ว่า มาตรา 22 (Article 22) ของกติกาสันนิบาตชาติ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการจัดตั้งระบบรัฐสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง เนื่องจากก่อให้เกิดระบบดินแดนใต้อาณัติที่ตอบสนองความต้องการของอังกฤษและฝรั่งเศสในการรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในดินแดนตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ยังสามารถอ้างอิงหลักการ "กำหนดชะตาชีวิตตนเอง" ด้วยการสนับสนุนให้ประชากรภายใต้ดินแดนอาณัติมีความพร้อมและศักยภาพที่จะปกครองตนเองในอนาคตข้างหน้าหากมีความพร้อม

จะเห็นได้ว่า ชาติมหาอำนาจยุโรปมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการกับภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยแบ่งแยกและรวมดินแดนในภูมิภาคภายใต้อาณัติของตน ซึ่งกำหนดโดยสนธิสัญญาที่ชาวอาหรับไม่มีส่วนรู้เห็น และมิได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือความต้องการปกครองตนเอง

ด้วยเหตุนี้ ระบบดินแดนในอาณัติจึงขัดต่อคำแถลงการณ์ 14 ประการของประธานาธิบดีวูดโรล์ วิลสัน คำสัญญาต่างๆ ที่อังกฤษทำไว้กับผู้นำอาหรับจึงไม่ได้รับการตอบสนอง ขณะที่ข้อเรียกร้องของชาวอาหรับก้ไม่ได้รับความสนใจ

ดังนั้น การถ่วงดุลอำนาจของชาติมหาอำนาจยุโรปจึงปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาการบริหารจัดการและการปกครองตนเองของชาวอาหรับในตะวันออกกลางภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (1)