Skip to main content

 

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (4)

ปาเลสไตน์ในอาณัติอังกฤษ (British Mandate of Palestine)

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

คำประกาศบัลโฟร์ (Balfour Declaration) ซึ่งมีชื่อเรียกตามชื่อของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษสมัยนั้น คือ เซอร์ อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Sir Arthur James Balfour) ระบุว่ารัฐบาลอังกฤษให้ความเห็นชอบในการตั้งถิ่นฐานสำหรับชาวยิวขึ้นแห่งหนึ่งในประเทศปาเลสไตน์ คำแถลงการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การอพยพของชาวยิวจากยุโรปตะวันออกและรัสเซีย มาสู่ดินแดนปาเลสไตน์ในอาณัติของอังกฤษ

ตั้งแต่ ค.ศ. 1882 - ค.ศ. 1939 อังกฤษได้ออกมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คลื่นผู้อพยพชาวยิว (Aliyah) ได้เข้ามาในแผ่นดินปาเลสไตน์แบบไม่จำกัดจำนวน รวมกันทั้งสิ้น ๕ ครั้ง แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาคือรัฐบาลอังกฤษสนับสนุนองค์กรยิวไซออนิสต์ (Zionist Organization) ให้จัดตั้งรัฐยิวขึ้นในปาเลสไตน์ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับชาวอาหรับเจ้าของดินแดนแต่ประการใดทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ประชากรภายในดินแดนปาเลสไตน์ในขณะนั้นยังประกอบไปด้วยชาวอาหรับมุสลิมร้อยละ 85 ซึ่งครอบครองดินแดนถึงร้อยละ 90 ส่วนชาวคริสเตียนและยิวรวมกันเป็นร้อยละ 9 ซึ่งครอบครองดินแดนส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10

การอพยพของชาวยิวที่เพิ่มมากขึ้นได้ทำให้สัดส่วนของการครอบครองที่ดินเปลี่ยนไป นำไปสู่การแก่งแย่งพื้นที่ในดินแดนปาเลสไตน์ และความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อชุมชนอาหรับท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ ชาวอาหรับปาเลสไตน์จึงก่อจลาจลขึ้นต่อต้านการอพยพเข้ามาของชาวยิวในช่วง ค.ศ. 1919 - 1921

หลังอังกฤษประกาศแผนของ Peel Commission แบ่งแยกดินแดนปาเลสไตน์โดยให้ส่วนหนึ่งเป็นของยิว และอีกส่วนเป็นของชาวอาหรับปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์จึงเริ่มประท้วงเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งต่อต้านการอพยพเข้ามาของชาวต่างชาติ โดยหันมาใช้วิธีก่อจลาจลต่อต้านตำรวจอังกฤษ ทหาร และชาวยิวแทน

อาจกล่าวได้ว่า การรับรองของขบวนการไซออนนิสต์ หรือ ขบวนการชาตินิยมยิวโดยอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1917 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างอาหรับและอิสราเอล

ความขัดแย้งดังกล่าวดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นวัฏจักรของความรุนแรงที่เริ่มเข้มข้นและขยายวงกว้างขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (1)

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (2) : ที่มาของระบบดินแดนใต้อาณัติ

ตะวันออกกลางในยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (3) : รูปแบบและระบบการปกครองภายใต้อาณัติ