Skip to main content

มารา ปาตานี : พื้นที่ปลอดภัยยังไม่ใช่ข้อสรุป

นายสุกรี ฮารี (คนกลาง) อ่านแถลงการณ์ถึงรัฐไทย โดยมีนายอาหามัด ชูโว คณะพูดคุยสันติสุขฯ และนายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม โฆษกกลุ่มมารา ปาตานี ร่วมด้วยImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
คำบรรยายภาพนายสุกรี ฮารี (คนกลาง) อ่านแถลงการณ์ถึงรัฐไทย โดยมีนายอาหามัด ชูโว คณะพูดคุยสันติสุขฯ และนายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม โฆษกกลุ่มมารา ปาตานี ร่วมด้วย

ตัวแทนกลุ่ม "มารา ปาตานี" แถลง 4 ข้อเรียกร้องถึงรัฐไทย ยืนยันยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการกำหนด"พื้นที่ปลอดภัย" ตามที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยกล่าวอ้าง ยก 2 โครงการของแม่ทัพภาค 4 ทับซ้อนกระบวนการ

บีบีซีไทยได้รับการประสานงานให้เดินทางไปยังเมืองโกตาบารู เมืองหลวงของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เวลา 09.00 น. ตามเวลาไทย) เพื่อร่วมรับฟังการแถลงข่าวของตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เรียกตัวเองว่า "มารา ปาตานี" (Mara Patani) ที่บ้านพักหลังหนึ่ง ห่างจากใจกลางเมืองไปราว 20 นาที โดยมีสื่อมวลชนไทยอีก 2 สำนัก และสื่อท้องถิ่น 3 สำนัก ร่วมด้วย

นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากฝ่ายมารา ปาตานี อ่านแถลงการณ์เป็นภาษามลายู โดยมีนายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม โฆษกกลุ่มฯ ทำหน้าที่ล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดสร้างความสับสนและความเข้าใจผิด มีสาระสำคัญ 4 ข้อคือ

"1. การพูดคุยที่ดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ ระหว่าง มาราปาตานี และรัฐบาลไทย ยังคงเป็นระดับทางเทคนิค ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะทำงานร่วมการพูดคุยสันติสุข (JWG-PDP) ดังนั้นข้อตกลงที่บรรลุก่อนหน้านี้จึงไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย

2. มารา ปาตานีนั้นเปิดกว้างต่อความคิดเห็นและข้อแนะนำจากประชาชนภายใต้สิทธิกำหนดการปกครองด้วยตนเอง

3. เรามีความเชื่อมั่นในทีมพูดคุยสันติสุขของไทย ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และเราก็เชื่อด้วยว่ามันเป็นกระบวนการทางการที่ถูกพัฒนาให้เป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตามเราเป็นกังวลต่อคำแถลงการณ์และการกระทำบางประการของแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งขัดแย้งกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

4. มารา ปาตานีให้คำมั่นที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งโดยการพูดุคยสันติสุขในปัจจุบัน (JWG-PDP) และเราต้องการที่จะเน้นย้ำว่า:

4.1 โครงการ "พาคนกลับบ้าน"

4.2 พื้นที่ปลอดภัย 14 แห่ง ซึ่งทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศออกมาแล้ว

โครงการทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้นไม่มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างมารา ปาตานีและรัฐบาลไทยแต่อย่างใด"

เหตุไม่สงบที่ปัตตานีและนราธิวาสImage copyrightREUTERS
คำบรรยายภาพเมื่อวันที่ 19 เมษายน ปีที่แล้ว เกิดเหตุไม่สงบหลายจุดในพื้นที่อย่างน้อย10 อำเภอ ทั้งในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส

การแถลงข่าวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังคณะทำงานพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทย ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ ออกมาเปิดเผยว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้ข้อสรุปในการกำหนด"พื้นที่ปลอดภัย" (Safety Zone)ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว และเตรียมเปิดแถลงข่าวร่วมกันในเดือน เม.ย. นี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ เพราะจะเป็นเครื่องพิสูจน์ศักยภาพของฝ่ายผู้เห็นต่างที่ร่วมโต๊ะเจรจากับฝ่ายไทยว่าเป็น "ตัวจริง" หรือไม่ หลังเกิดคำถามเรื่อง "ตัวจริง-ตัวปลอม" อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 2 ปี 7 เดือนของการพูดคุยในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าต้องไม่มีเหตุร้ายรุนแรงในพื้นที่ปลอดภัยเกิน 3 ครั้ง

ส่วนตัวชี้วัดที่ พล.ต.สิทธิ์ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขฯ เคยออกมาระบุไว้มี 3 ประการคือ ต้องปลอดความรุนแรงทุกรูปแบบ ต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และต้องเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติด

ระเบิดรถยนต์Image copyrightTUWAEDANIYA MERINGING/AFP/GETTYIMAGES
คำบรรยายภาพเหตุระเบิดรถยนต์เมื่อเดือนมิถุนายน 2558

ขณะเดียวกันในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อไทยหลายสำนัก อาทิ สำนักข่าวอิศรา และไทยพีบีเอส รายงานโดยอ้างความเห็นของนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ว่าจะมีการเปิด "ศูนย์ประสานงาน" (Safe house) ขึ้นที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี (หลังเก่า) เพื่อเป็นสถานที่ทำงานของคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่ให้ผู้ต้องโทษคดีความมั่นคงที่ได้รับการพักโทษ จำนวน 3 ราย ได้ใช้ชีวิต 7-8 เดือนก่อนกลับบ้านเกิด

สำหรับกลุ่มมารา ปาตานี เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ 27 ส.ค. 2558 หลังร่วมโต๊ะเจรจากับตัวแทนรัฐไทย ในนามคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายอาวัง ยะบะ ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นประธาน มีตัวแทนผู้เห็นต่าง 6 กลุ่มร่วมเป็นสมาชิก ประกอบด้วย ผู้แทนจากกลุ่มพูโล (PULO-MKP), กลุ่มบีไอเอ็มพี (BIMP), กลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN), กลุ่มบีไอพีพี (BIPP) และกลุ่มพูโล (PULO-DSPP)อย่างไรก็ตามมีตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นออกมาระบุอย่างต่อเนื่องว่าไม่มีผู้แทนของกลุ่มใต้ร่มมารา ปาตานี พร้อมกดดันรัฐไทยให้เปิดเจรจาโดยตรงกับบีอาร์เอ็น

เหตุความไม่สงบใน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ บางอำเภอของ สงขลา นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 ได้คร่าชีวิตพลเรือน ทหาร ตำรวจไปแล้วเกือบ 7,000 คน ท่ามกลางความพยายามหลายครั้งของทางการไทยในการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่ไม่สามารถยุติได้

ประธานกลุ่มมาราปาตานีImage copyrightMANAN VATSYAYANA/AFP/GETTYIMAGES
คำบรรยายภาพกลุ่มมาราปาตานีขณะร่วมแถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อกลางปี 2558

เมื่อเดือน ก.ย. กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ซึ่งเป็นกองกำลังหลักที่ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดกว่าสิบปี ให้สัมภาษณ์พิเศษ บีบีซีไทย เรียกร้องรัฐบาลไทยให้มาเจรจาสันติภาพโดยตรงกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แทนการเจรจากับกลุ่ม "มารา ปาตานี" แต่ หัวหน้าทีมเจรจาฝ่ายไทยขอร้องให้หยุดตั้งคำถามใครตัวจริง-ตัวปลอม

"บีอาร์เอ็น จะปฏิบัติการทางทหารต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ารัฐบาลไทย จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายมาหาหนทางยุติความขัดแย้งร่วมกัน "ปฏิบัติการทางทหารของเราไม่ใช่จุดหมายหมายทาง แต่มันคือ วิถีทางสู่เป้าหมาย" ตัวแทนจาก "ฝ่ายข้อมูลข่าวสาร" ของ บีอาร์เอ็น ที่เรียกตัวเองว่า "ยูซุฟ" กล่าว