บทสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุ่งยางแดงน่าจะพอลดความร้อนแรงของกระแสสังคมที่เกิดวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการทำงานของรัฐและสื่อในช่วงนี้ลงได้บ้าง โดยเฉพาะที่บอกว่า ผู้ถูกวิสามัญสี่คนไม่ใช่แนวร่วม และอาวุธที่พบข้างตัวไม่ใช่ของพวกเขา
เพราะจากพาดหัวข่าวที่ออกมาค่ำวันนี้ที่ประกาศว่าพวกเขาคือผู้บริสุทธิ์ มันกลายเป็นการแก้ข่าวที่ออกมาวันแรกที่ยกให้พวกเขาเป็น “แนวร่วม” ที่เสียชีวิตจากการ “ปะทะ”
แต่ปัญหาใหญ่ที่หลายคนมองข้ามจากการแถลงข่าวหนนี้ก็คือ ข้อมูลของคณะกรรมการในเรื่องนี้ดูจะยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าบุคคลทั้งสี่ไม่ใช่แนวร่วม ที่ไม่ชัดเจนเชื่อว่าไม่ใช่เพราะไม่มีข้อมูล ทว่า เป็นเพราะไม่มีการชี้แจงว่า หลักฐานสนับสนุนการตัดสินใจนี้คืออะไร เพราะการพูดคุยกับผู้คนไม่ต่ำกว่า 25 คนจากสามกลุ่มคือชาวบ้าน เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่เก็บพิสูจน์หลักฐาน ตลอดจนผลของการเรียกหาหลักฐานต่างๆมาประกอบการพิจารณาย่อมทำให้คณะกรรมการมีข้อเท็จจริงแน่นอน แต่การที่ข้อเท็จจริงไม่ออกมาเต็มที่ในวันนี้นับเป็นข้อบกพร่องของผู้สื่อข่าวรวมทั้งผู้เขียนเองที่ไม่ได้ถามคำถามที่ควรถามในที่แถลงข่าว
และโอกาสที่จะได้อ่านรายงานฉบับเต็มของคณะกรรมการก็ดูจะไม่สดใสนัก เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดนายวีรพงศ์ วงศ์สุวรรณบอกในที่แถลงข่าวว่า รายงานชิ้นนี้ต้องส่งไปให้จนท.ตร.ใช้ประกอบในการสืบสวนสอบสวนคดี ไม่อาจเปิดเผยได้มากกว่าไปกว่าที่ทำไปแล้วในวันนี้
ที่พูดดังนี้ไม่ใช่เพื่อจะจุดกระแสสร้างความไม่พอใจหรือเข้าข้างจนท. ตรงกันข้าม ผู้เขียนเห็นว่า หากคิดจะกอบกู้ความน่าเชื่อถือ และให้ความยุติธรรมกับผู้ตายอย่างแท้จริง สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเปิดความจริงให้กระจ่าง ข้อมูลที่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างหนักแน่นเท่านั้นจึงจะกอบกู้ศักดิ์ศรีของผู้ตาย และความน่าเชื่อถือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้คืนกลับมาได้
หลายคนชี้ว่า คณะกรรมการชุดนี้ทำได้แค่นี้ก็เก่งมากแล้ว เพราะทำงานภายใต้กรอบเวลาที่จำกัดคือแต่สัปดาห์เดียว ประกอบกับปัญหาที่การเป็นคณะกรรมการแบบนี้มักจะพบ ก็คือเรื่องของการแสวงหาหลักฐาน ของบางอย่าง เรื่องบางสิ่ง อาจจะยังไม่ปรากฏตัว
ยกตัวอย่างเรื่องเล็กๆจากการแถลงข่าวก็คือ เมื่อคณะกรรมการแถลงว่า ปืนไม่ใช่ของผู้ตายทั้งสี่ เพราะตามพยานหลักฐานที่รวบรวมได้พบว่า ก่อนตายพวกเขาไม่มีปืน และตามผลพิสูจน์ที่คณะกรรมการได้ไปไม่พบเขม่าปืนที่ผู้ตาย อีกทั้งปืนนั้นก็ไม่มีประวัติว่ามีการนำไปก่อเหตุมาก่อน แต่เมื่อถึงคราวผู้บังคับการตำรวจภูธรปัตตานีคือพตอ.กฤษกร พลีธัญญาวงศ์แถลงบ้าง กลับบอกว่า ผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานในเรื่องอาวุธต่างๆยังไม่ออกมา ต้องรอจากส่วนกลาง นี่อาจจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า หลักฐานบางอย่างน่าจะต้องรอเวลา การทำงานในเวลาเพียงเจ็ดวันจึงเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่ง
จึงไม่น่าแปลกใจที่คณะกรรมการมีข้อสรุปที่ชัดเจนเพียงไม่กี่เรื่อง
แต่ความเป็นจริงที่ต้องไม่ลืมกันก็คือว่า ก้าวต่อไปของคดีทุ่งยางแดงอยู่ที่กระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นกระบวนการที่เป็นตัวตัดสินสุดท้าย
จะเห็นว่าทุกคนล้วนเปิดทางไว้หมดว่าถึงที่สุดต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็คือการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีโดยพนักงานหรือตร. คณะกรรมการยืนยันว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในป่าสวนยางเป็นเรื่องที่เกินเอื้อมของคณะกรรมการ จำเป็นต้องพึ่งจนท.ตร. แม่ทัพภาคที่สี่ก็บอกผู้สื่อข่าวว่า ต้องให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำงาน ต้องฟังจากจนท.ด้วย และเมื่อนักข่าวถามว่าเหตุใดปฏิบัติการของจนท.ไม่เป็นไปตามขั้นตอนอย่างที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนำเสนอที่แม่ทัพบอกว่าเป็นขั้นตอนที่ปกติก็ใช้กันอยู่แล้ว พล.ท.ปราการ ชลยุทธตอบว่า นี่คือสิ่งที่จะต้องค้นหา โดยผ่านกระบวนการทำงานของจนท.ตร. ส่วนจนท.ตร.เองบอกว่า ต้องรอการให้การของจนท.ทหาร ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวพันไปถึงเรื่องที่ว่าผู้ตายทั้งสี่บริสุทธิ์จริงหรือไม่
ข้อสรุปของคณะกรรมการมีผลในทางสังคม แต่ความถูกหรือผิดในทางกฎหมายหรือทางคดี ต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด และการต่อสู้ในชั้นศาล ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและสำนวนที่เจ้าพนักงานสอบสวนจะทำออกมา การจะให้น้ำหนักกับรายงานของคณะกรรมการมากแค่ไหนอยู่ที่จนท.ตร.
เท่าที่ทราบ กระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้น่าจะมีสองขั้นตอน หนึ่ง คือการชันสูตรพลิกศพไต่สวนการตายที่กระทำในชั้นศาล เพราะในกรณีที่ชาวบ้านตายจากการปฏิบัตืงานของจนท.ก็ต้องมีการไต่สวนตามกฎหมาย และสอง หากศาลมีคำสั่งว่าจนท.ทำเกินกว่าเหตุ จะเป็นขั้นแรกที่จนท.ตร.รวบรวมสำนวนเพื่อฟ้องร้องต่อเป็นคดีอาญา อย่างที่สองมักไม่เกิดถ้าอย่างแรกไม่ทะลุ หมายความว่า ถ้าในการไต่สวนการตาย ศาลลงความเห็นว่าจนท.กระทำการตามสมควรแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีการฟ้องร้องจนท.แต่อย่างใด
ในภาคใต้ แม้แต่ในคดีที่ศาลสรุปแล้วว่าตายเพราะการกระทำของจนท.แต่ยังไม่เห็นมีการดำเนินคดีอาญาก็มีหลายกรณี ยกตัวอย่างก็คือกรณีการเสียชีวิตของอิหม่ามยะผา กาเซ็งและคดีของอัสฮารี สะมาแอ ที่ศาลตัดสินว่าตายเพราะถูกจนท.ทำร้าย จนบัดนี้เราก็ยังไม่เห็นว่ามีการฟ้องร้องคดีอาญา
อีกหลายกรณีที่คำสั่งศาลออกมาไม่ชัดยิ่งทำให้ยากมากยิ่งขึ้นสำหรับญาติผู้ตายจะแสวงหาความเป็นธรรม บางรายที่ใจแข็งยังสู้กันด้วยการฟ้องร้องคดีอาญาด้วยตนเองก็มี เช่นคดีที่ญาตินายซูเฟียน สาและจากบ้านสะแนะยังพยายามฟ้องร้องเอง หลังจากที่ศาลออกคำสั่งไต่สวนการตายออกมาแล้วว่าจนท.ปฏิบัติตามหน้าที่ แต่ส่วนใหญ่พวกเขามักจะเดินหนทางเส้นเดียวกัน คือจบแล้วจบเลย โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีแบคอัพในทางสังคม โนเนม หรือเป็นกรณีคาบลูกคาบดอก คดีพวกนี้กระบวนการยุติธรรมยิ่งไม่เป็นคำตอบให้กับพวกเขา
เพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นเกมที่ยาว เกมที่คนธรรมดาเล่นยากเพราะแอคชั่นไปอยู่ในชั้นศาล อันเป็นที่ที่พวกเขาต้องปล่อยให้นักกฎหมาย อัยการ ตำรวจและผู้พิพากษาเป็นตัวแทนว่ากันด้วยกฎเกณฑ์ของกฎหมายและศาลที่เกินเอื้อมสำหรับพวกเขา
นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายคนจึงมองจากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้ไม่ยากว่า ถ้าหลุดจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คนเสพข่าวเห็นอาการของสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้แล้วจะบอกว่า น่าเบื่อ ซ้ำซาก และยังแสดงอาการไม่เชื่อมั่นในกระบวนการต่อไป
ในที่แถลงข่าววันนี้ ผู้บัญชาการตร.ปัตตานีบอกว่า กำลังมีการทำคดีอาญา จะมีการแจ้งข้อหาเจ้าหน้าที่ด้วยข้อหาฆ่าผู้อื่น ในทางกฎหมายยังน่าแปลกใจว่า เราก้าวข้ามขั้นตอนของการไต่สวนการตายไปแล้วหรือไม่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการแถลงวันนี้ก็ไม่ใช่จุดที่ทำให้เรื่องจบ แต่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอีกยาวนานมากกว่า