ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้มีนักข่าวจากประชาไท (คุณกฤษา ศุภวรรธนะกุล) ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ความเห็นผู้เขียนเกี่ยวกับกระแสอิสลามโมโฟเบียที่แพร่กระจายไปอย่างมากทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะในโลกตะวันตก เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ของบทความของประชาไทซึ่งเป็นลักษณะสกู๊ปข่าว เรื่อง “รายงาน: เมื่อพุทธไทยขันติธรรมลด ม.67 ร่าง รธน. ซุกระเบิดเวลา” โดยเป็นการรวบรวมความเห็นในเรื่องนี้จากนักวิชาการหลากหลาย จึงไม่สามารถนำคำสัมภาษณ์ทั้งหมดของผู้เขียนไปลงตีพิมพ์ได้ จึงอยากนำบทสัมภาษณ์ทั้งหมดมาเผยแพร่ในรูปแบบอื่นๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการช่วยกันคิดถกเถียงในเรื่องนี้ต่อไปในสังคม
คำถาม: เวลาพูดถึงความกลัวอิสลามหรือ Islamophobia จริงๆ แล้วคืออะไร มันมีคำนิยามที่ชัดเจนหรือไม่ในเชิงวิชาการ
อิสลามโมโฟเบีย หรือ โรคเกลียดกลัวอิสลาม เป็นแนวคิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยทั่วไปทั้งแวดวงวิชาการและในหมู่สาธารณะชน แนวคิดนี้มีพัฒนาการตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 และต้น 2000 โดยนักการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน (NOGs) นักวิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อเรียกร้องความสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำร้ายชาวมุสลิมและศาสนาอิสลามในสังคมเสรีประชาธิปไตยตะวันตกไม่ว่าโดยการกระทำหรือโดยการใช้วาจาก็ตาม ในปีต่อๆ มา แนวคิดนี้เริ่มเป็นที่สนใจในแวดวงสังคมศาสตร์จากการที่มีนักวิจัยศึกษามิติต่างๆ ของแนวคิดนี้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้นได้แก่ มิติทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และพัฒนาการจนถึงในปัจจุบัน สาเหตุและผลของอิสลามโมโฟเบีย ตลอดจนความเข้มข้นของอิสลามโมโฟเบียว่าเป็นอย่างไรในสังคมที่ศึกษา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คำนิยามของแนวคิดนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนและยังไม่เป็นที่ลงตัวในหมู่นักวิชาการว่าหมายถึงอะไร ในบางแง่ อิสลามโมโฟเบียเป็นเหมือนคำใหม่ของแนวคิดที่เคยถูกนำเสนอมาแล้ว ได้แก่ งานที่มีชื่อเสียงของ Edward Said เมื่อต้นทศวรรษ 1970 เรื่อง Orientalism ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “โลกตะวันตก” ได้สร้างความเป็นอื่นและสร้างภาพลักษณ์ ตลอดจนความรู้สึกในเชิงลบต่อโลกอิสลามมายาวนานแล้ว ต่อมา อิสลามโมโฟเบียได้อุบัติขึ้นเป็นวาทกรรมร่วมสมัยจากการพิมพ์รายงานในปี ค.ศ. 1997 เรื่อง อิสลามโมโฟเบีย: สิ่งท้าทายสำหรับเราทั้งหมด” (Islamophobia: A Challenge for Us All) โดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านความสัมพันธ์เชื้อชาติ นับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ที่มหานครนิวยอร์ค ในปี ค.ศ. 2001 แนวคิดนี้ได้ถูกใช้กันอย่างเป็นปรกติในสื่อ และผู้คนทั่วไปในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และแนวคิดได้แพร่กระจายออกไปอย่างมากในองค์กรนานาชาติไม่ว่าองค์กรสหภาพยุโรปและองค์การสหประชาชาติที่ได้เขียนรายงานเรื่องเกี่ยวกับอิสลามโมโฟเบียออกมาหลายชิ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแนวคิดนี้จะเริ่มแพร่หลายโดยทั่วไป แต่คำนิยามที่ถูกต้องของอิสลามโมโฟเบียคืออะไร ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงและยังหาข้อสรุปอย่างลงตัวไม่ได้ในทางวิชาการ ได้แก่ ในรายงาน The 1997 Runnymede Trust อธิบายว่า อิสลามโมโฟเบีย หมายถึง “ความสะพรึงกลัวหรือความเกลียดต่อศาสนาอิสลาม ดังนั้น จึงเกิดความกลัวและเกลียดต่อชาวมุสลิมทั้งหมดหรือส่วนใหญ่” ในรายงานนี้ ได้ขยายความแนวคิดอิสลามโมโฟเบียว่าไม่ใช่เป็นเพียงความรู้สึกเกลียดชังเท่านั้น หากยังรวมถึงการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อชาวมุสลิมและชุมชนมุสลิม และการผลักไสมุสลิมให้ออกไปจากเรื่องราวทางสังคมและการเมืองนั้นๆ ด้วย
นักเขียนหลายคนเกี่ยวกับเรื่องนี้เลี่ยงที่จะไม่อธิบายคำนิยามของอิสลามโมโฟเบียว่าคืออะไร บางคนก็อธิบายลักษณะของอิสลามโมโฟเบียอย่างกว้างๆ บ้างก็แคบๆ บ้างก็ คลุมๆเคลือๆ เช่น อิสลามโมโฟเบีย หมายถึง “ความวิตกกังวลของสังคมต่ออิสลามและวัฒนธรรมของมุสลิม” หรือ “รูปแบบหนึ่งของการแบ่งแยกโดยการเหยียดผิว”ดังนั้น ไม่ว่าจะมีนักวิชาการจะนิยามอิสลามโมโฟเบียว่าหมายถึงอะไร ก็อาจยังคงมีจุดอ่อนอยู่ แต่ก็พอจะเห็นนัยยะสำคัญๆ ของแนวคิดอิสลามโมโฟเบียว่า “เป็นภาวะความสะพรึงกลัวต่อมุสลิมและศาสนาอิสลาม จนตัดสินโดยลอยๆ อย่างเหมารวมเลยว่า อิสลามมีฐานะเป็น ‘ศัตรู’ ‘เป็นคนอื่น’ ‘เป็นตัวอันตราย’ ต่อโลกตะวันตก” ดังนั้น อิสลามโมโฟเบีย จึงเป็นอาการปฏิเสธต่อศาสนาอิสลาม กลุ่มคนมุสลิม หรือมุสลิมที่เป็นปัจเจกชน โดยพื้นฐานของอคติและการเหมารวม ดังปรากฏตัวอย่างเช่น สตรีมุสลิมถูกทำร้ายจนเสียชีวิตที่เยอรมัน เด็กหญิงมุสลิมถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะคลุมผมมาโรงเรียน ชุมชนมุสลิมถูกจ้องโดยนักการเมือง หรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เป็นต้น ตัวอย่างที่กล่าวมา ไม่ใช่เรื่องราวในนิยาย แต่ได้เกิดขึ้นจริงในยุโรปปัจจุบันอันเป็นผลพวงจากกระแสการต่อต้านและสร้างความเกลียดชังในหมู่มุสลิมที่แพร่กระจายไปทั่ว
คำถาม: อาจารย์คิดว่ามูลเหตุแห่งความกลัวอิสลามทั้งในระดับโลกและในไทยคืออะไร มันแพร่ระบาดอย่างไร
ผมมองว่ามูลเหตุความกลัวอิสลามว่ามาจาก ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ที่ว่าปัจจัยภายนอกคือ เราได้เห็นงานที่มีพลังทางวิชาการอย่างของ Edward Said ที่ได้สืบสาวเรื่องราวให้เห็นว่าโลกตะวันตกได้มีความพยายามจงใจสร้างความเป็นอื่นโดยผ่านชุดองค์ความรู้ที่เป็นอุตสาหกรรมทางวิชาการ เพื่อเขียนภาพอิสลามให้เป็นไปตามจินตนาการของโลกตะวันตก วัฒนธรรมอาหรับและอิสลามจึงถูกฉายภาพในลักษณะเป็นสิ่งแปลกประหลาด (exotic) ล้าหลัง (backward) ไร้อารยะธรรม (uncivilized) และอันตราย (dangerous)
นอกจากอคติในงานทางวิชาการแล้ว ภาพความป่าเถื่อน น่ากลัวของอิสลามและมุสลิม ถูกผลิตซ้ำในสื่อแทบทุกแขนงในโลกตะวันตก เช่น ในภาพยนตร์ฮอลลิวู๊ดที่มุสลิมหรือชาวอาหรับมักเป็นผู้ร้ายอยู่เสมอ หลายท่านอาจยังจำได้ถึงภาพเหตุการณ์เมื่อตอนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ถูกถล่มเมื่อเดือนกันยายน ในปี ค.ศ.2001 ภายหลังเครื่องบินชนตึกแฝดทั้งสองที่มหานครนิยอร์ค ในขณะที่ผู้คนบริสุทธิ์ต้องล้มตายเป็นจำนวนนับพัน แต่สำนักข่าวที่กำลังเผยแพร่ได้ตัดภาพในทันทีว่ามีมุสลิมไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจ ซึ่งความจริงแล้วภาพนั้นเป็นภาพคนละเหตุการณ์และคนละสถานที่กันคือ เป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 1992 ในสงครามอิรักกับคูเวต ที่ชาวคูเวตโห่ร้องด้วยความดีใจเมื่ออิรักถูกผลักดันออกไปจากคูเวต แล้วคนที่ดูข่าวอยู่ทั้งโลกโดยไม่รู้เรื่องจะคิดและรู้สึกต่อมุสลิมอย่างไร เป็นต้น ในรายงานการติดตามเกี่ยวกับอิสลามโมโฟเบียในที่ต่างๆ ขององค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน สื่อในโลกตะวันตกได้มีความพยายามบิดเบือนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับอิสลามอย่างชัดเจน แม้ว่าในหลายประเทศเริ่มจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับความบิดเบือนและการทำร้ายหรือเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมแล้วก็ตาม
สำหรับปัจจัยภายใน คือ ต้องยอมรับว่าในหมู่มุสลิมเอง ซึ่งมีคนบางกลุ่มนิยมการใช้ความรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างมากมายแม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยก็ตาม เช่น กลุ่มไอซิส เมื่อปรากฏเป็นข่าวตามสื่อกระแสหลักต่างๆ ย่อมสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนโดยทั่วไปที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในอิสลาม และสำหรับในประเทศไทยตอกย้ำด้วยสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ที่มีมายาวนานจึงทำให้ชาวไทยในที่อื่นๆ เกิดความหวาดกลัวต่อชาวมุสลิม ดังตัวอย่างของหนังสือจากคนใน จ.น่าน ที่เขียนถึงท่านจุฬาราชมนตรี กรณีคัดค้านการสร้างมัสยิด โดยให้เหตุผลในบางข้อไว้ว่า “ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีการปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนสองศาสนา” และ “ราษฎรในพื้นที่หวาดกลัว หวาดระแวง ต่อผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีคนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และข่าวสารจากญาติที่ลงไปทำงานในพื้นที่ พบว่าความไม่สงบส่วนใหญ่เป็นการสังหารชาวไทยพุทธ ชาวบ้านจึงไม่มีความไว้วางใจ” รวมถึงกรณีล่าสุด การคัดค้านการสร้างมัสยิดที่ จ.มุดาหาร โดยมีมือลึกลับเขียนแผ่นป้ายไปปักหน้ามัสยิดที่กำลังก่อสร้างไว้ว่า “พวกเราชาว จ.มุกดาหาร ขอให้หยุดการก่อสร้างมัสยิด พุทธมณฑลปัตตานีสร้างไม่ได้เพราะมีอิสลาม ที่นี่มีแต่พุทธสร้างให้ใคร ที่นี่มีแต่พุทธ”
ดังนั้น ในหมู่ชนที่ไม่ใช่มุสลิมจึงมีคำถามที่ค้างคาใจหรือมีภาพเกี่ยวกับอิสลามหลายประการที่เป็นไปในลักษณะ
- การวาดภาพอิสลามอย่างแข็งกระด้างมีความเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมดในโลกอิสลาม ซึ่งในความเป็นจริงโลกอิสลามยังคงมีความแตกต่างหลากหลายมากมาย
- การมองว่าศาสนาอิสลามมีคุณค่าที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงจนเข้ากันไม่ได้กับศาสนาและวัฒนธรรมอื่นๆ
- มองว่าคำสอนของศาสนาอิสลามสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในสังคม
- มองศาสนาอิสลามเป็นอุดมการณ์ความรุนแรงในปริมณฑลทางการเมือง
คำถาม: และมันมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ที่ศาสนิกอื่นจะเกิดความกลัวอิสลาม
ผมว่ามันไม่มีความสมเหตุสมผลเลยที่จะกลัวอิสลาม อิสลามเป็นศาสนาที่มีกำเนิดมายาวนานนับกว่าพันสี่ร้อยปี ปัจจุบันมีประชากรมุสลิมกระจายในที่ต่างๆ ทั่วโลกเกือบสองพันล้านคนจากประชากรทั้งหมดหกพันกว่าล้านคน ดังนั้น เราจะพบมุสลิม 1 คน ในจำนวนคนทุกๆ 3-4 คน ในประเทศไทยเราแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็มีประชากรมุสลิมกระจายในทุกภาคแม้ว่าจะอยู่กันอย่างหนาแน่นในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะมีสัดส่วนมุสลิมประมาณ 1 คนต่อคนไทย 10 คน ดังนั้น แปลว่าเมื่อเราเดินออกจากบ้านไปไม่ว่าจะไปเรียน ไปทำงาน ไปที่ไหน ๆ ก็ตาม เราก็จะพบเจอคนมุสลิม หากศาสนาอิสลามสอนให้นิยมความรุนแรงและทำร้ายผู้อื่นดังภาพที่ถูกนำเสนอ ถามว่าโลกเราจะอยู่กันได้อย่างไร และแม้ในสังคมไทยก็คงต้องเดือดร้อนวุ่นวายรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่านี้ และคนจำนวนมากอาจจะถามว่า ทำไมที่ต่างๆ ของโลกที่ขัดแย้งรุนแรงวุ่นวายไม่รู้จบจึงมักเกิดแต่ในประเทศที่เป็นมุสลิมดังเช่นในตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยคนส่วนใหญ่ก็เป็นมุสลิม ทำไมที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมจึงมีความขัดแย้งรุนแรง เรื่องนี้ก็คงต้องวิเคราะห์ให้ละเอียดยิ่งขึ้นถึงบทบาทของมหาอำนาจต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วงชิงผลประโยชน์ทางทรัพยากร (น้ำมัน)ในดินแดนเหล่านี้ ตลอดจนอุตสาหกรรมการค้าอาวุธที่มีผลประโยชน์มหาศาล (ซึ่งงานศึกษาวิจัยยืนยัน) ตลอดจนเกมแห่งอำนาจต่างๆ เป็นต้น และประการสำคัญที่คนทั่วไปควรตระหนักและรับทราบก็คือ คนส่วนใหญ่ที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในพื้นที่ขัดแย้งทั้งหลายต่างๆ นั้น ล้วนเป็นชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่กรณีความขัดแย้งในภาคใต้ของไทยตัวเลขของคนมุสลิมที่บาดเจ็บล้มตายไม่ได้น้อยไปกว่าคนต่างศาสนิกเลย ดังนั้น ทั้งมุสลิมและคนต่างศาสนิกจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้นในสังคม
ความจริงแล้ว สังคมไทยมีลักษณะเด่นคือ มีความหลากหลายทั้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ซึ่งก็ต่างอยู่กันมาด้วยดีตลอดมาในระดับหนึ่ง สำหรับพัฒนาการของสังคมมุสลิมในสังคมไทยเองก็ได้มีมายาวนานนับแต่สมัยอยุธยา และมุสลิมไทยในทุกพื้นที่ได้ดำรงตนเป็นมุสลิมและพลเมืองไทยที่ดีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกๆ ภาคส่วนเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับพี่น้องศาสนิกอื่นๆ จนเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะยัดเยียดสร้างความเป็นอื่นและมีความหวาดกลัวต่อชาวมุสลิม เหมือนกับวาดผีมาหลอกตัวเอง
คำถาม: อาจารย์คิดว่าขันติธรรมของชาวพุทธที่ลดลงมีสาเหตุจากความกลัวอิสลามเพียงอย่างเดียวหรือไม่
ผมต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์พุทธศาสนาในสังคมไทย แต่ผมคิดว่าขันติธรรมที่ลดลงของชาวพุทธนั้นไม่ได้มีสาเหตุมากจากความกลัวอิสลามเพียงอย่างเดียวอย่างแน่นอน เราได้เรียนรู้จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ความสูญเสียและเจ็บปวดช่วงปี พ.ศ. 2519 ว่าขันติธรรมของพระสงฆ์อย่างท่านกิตติวุฒโฑภิกขุ กลับเหือดแห้งไปเพื่อรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างดังที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารรายสัปดาห์จัตุรัสว่าการฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์บาปไม่บาปเพราะถือว่าเราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน จนถึงสมัยปัจจุบัน ผมว่าวาทกรรมฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปยังคงอยู่ในหมู่สงฆ์ไทยบางรูป ยังไม่ได้หายไปไหนแต่อาจแปรเปลี่ยนรูปแบบไป (เช่น เผามัสยิดไม่บาป)
เราได้เห็นบทบาทพระสงฆ์ส่วนหนึ่งตลอดจนชาวพุทธจำนวนไม่น้อยในความขัดแย้งทางการเมืองไทยเรื่องสีเสื้อที่ผ่านมาและได้เรียนรู้ว่า การยึดมั่นถือมั่นติดแน่นในอุดมการณ์ทางการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่งอย่างสุดจิตสุดใจจนไม่เห็นคนที่เห็นต่างเป็นเพื่อนมนุษย์สะท้อนถึงขันติธรรมของชาวพุทธที่เหือดแห้งไปใช่หรือไม่ หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งระหว่างวัดกับชุมชนในหลายๆ แห่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจในที่ดินและอื่นๆ ล้วนนับเป็นสาเหตุที่ทำให้ขันติธรรมของชาวพุทธลดลงหรือเปล่า และในหลายๆ กรณีแม้กระทั่งพระหลายรูปก็อาจถูกทำร้ายจากชาวพุทธด้วยกันจากการขัดในผลประโยชน์ทางธุรกิจใดๆ ก็ตาม ดังกรณีพระสุพจน์ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จนถึงขณะนี้ก็ยังหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้ใช่หรือไม่
คำถาม: ในรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย มาตรา 67 วรรค 2 ระบุว่า “ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าว”
อาจารย์คิดว่า ถ้อยคำแบบนี้ในรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อความขัดแย้งระหว่างศาสนาหรือไม่ อย่างไร
ผมเห็นว่าการระบุถ้อยคำแบบนี้ในรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อความขัดแย้งอย่างแน่นอน เพราะเป็นข้อความที่มองศาสนาอย่างคับแคบ โดยความขัดแย้งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือในระหว่างชาวพุทธด้วยกันเอง เพราะศาสนาพุทธในสังคมไทยก็ไม่ได้มีแค่นิกายเถรวาท แล้วทำไมต้องระบุการสนับสนุนของรัฐแก่พุทธศาสนาแบบเถรวาทเท่านั้น และยิ่งถ้อยคำให้ “ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด” นั้น แสดงถึงเป็นการให้ใบอนุญาตในการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตจนเกินไปที่จัดการพุทธศาสนาแบบไม่ใช่เถรวาท รวมถึงศาสนาอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ย่อมสามารถตีความเป็นอย่างนั้นได้ใช่หรือไม่ อะไรคือ คำนิยามความหมายของ “การบ่อนทำลาย” มีขอบเขตแค่ไหน เช่น การที่เมืองไทยมีสถานบริการทางเพศผิดกฎหมายเยอะแยะมากมาย (ผิดศีลข้อ 3) มีร้านขายสุรายาเมาทั่วทุกหัวระแหง (ผิดศีลข้อ 5) หรือมีวัดที่มุ่งขายวัตถุมงคลอย่างเป็นล่ำเป็นสันซึ่งผมเห็นนักวิชาการชาวพุทธจำนวนไม่น้อยได้ออกมาวิจารณ์ว่านั่นไม่ใช่วิถีพุทธ แต่เป็นวัตถุนิยมมอมเมาผู้คน แล้วสิ่งเหล่านี้จะถือว่าเป็นการบ่อนทำลายพุทธศาสนาหรือไม่ จะจัดการอย่างไร ดังนั้น ผมคิดว่า สิ่งที่น่ากังวลใจที่สุดสำหรับถ้อยคำแบบนี้คือ การอาจถูกนำไปใช้ในการทำลายผู้มีความคิดหรือวิถีความเชื่อความศรัทธาและการปฏิบัติที่ต่างไปจากพุทธกระแสหลัก (เถรวาท) สังคมไทยซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคม
คำถาม: จะมีหนทางลดความกลัว ความไม่เข้าใจกันระหว่างศาสนาหรือไม่
ผมว่าคำถามนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญมากๆ เพราะผมเห็นด้วยกับ Hans Kung บาทหลวงชาวคาทอลิกที่มีชื่อเสียงซึ่งได้ให้ข้อคิดเพื่อเตือนสติศาสนิกชนต่างๆ ว่า สันติสุขระหว่างสังคมหรือชนชาติต่างๆ จะเกิดไม่ได้เลยหากไม่มีสันติสุขระหว่างศาสนา สันติสุขระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการเสวนาพูดคุยกันระหว่างศาสนา และการเสวนาพูดคุยกันระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากศาสนิกในศาสนานั้นๆ ไม่เข้าใจแก่นธรรมคำสอนของศาสนาตัวเอง ซึ่งผมเห็นว่าข้อคิดของท่านสอดคล้องกับนักปราชญ์ของชาวพุทธในสังคมไทยอย่างท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งได้ตั้งปณิธาน 3 ข้อเพื่อนำสู่การเป็นศาสนิกที่สมบูรณ์ ได้แก่ 1) ศาสนิกใดๆ จะต้องรู้ซึ้งและเข้าใจถึงแก่นธรรมในศาสนาของตนเอง 2) จะต้องมีการพูดคุยและร่วมมือกันระหว่างศาสนา และ 3) ต้องร่วมกันต่อสู้กับลัทธิวัตถุนิยมและบริโภคนิยม สำหรับนักวิชาการสำคัญในโลกมุสลิมก็ความเห็นเป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่น Fethullah Gulen ชาวตุรกี ได้เรียกร้องว่า การเสวนาพูดคุยกันระหว่างศาสนานั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด และท่านยังได้กล่าวว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นมุสลิมนั้นต้องไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย และผู้ก่อการร้ายไม่ใช่มุสลิม
ดังนั้น หนทางที่จะลดความกลัวและความไม่เข้าใจ หากเสนอโดยรวมๆ ผมเห็นว่า แต่ละศาสนิกต้องกลับมาทบทวนในแก่นธรรมคำสอนของศาสนาของตัวเองและหาแนวทางพูดคุยทำความเข้าใจกันให้มากขึ้นกว่านี้ เพื่อหาทางนำคำสอนของศาสนาไปเยียวยาแก้ไขปัญหาและวิกฤตต่างๆ ในสังคมที่เรามีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สิ่งแวดล้อม เด็กและเยาวชน ยาเสพย์ติด ฯลฯ ตลอดจนการปลูกฝังศาสนิกของตนให้เกิดการเรียนรู้ที่จะรัก เมตตา อภัย และเคารพในความแตกต่างหลากหลายจากมุมองของศาสนาแทนความโกรธเกลียด ไม่ใช่สอนด้วยอวิชาว่า “หากพุทธหรือมุสลิม ถูกฆ่า เราก็เอาคืนด้วยการไปเผามัสยิด เผาวัด” เป็นต้น ท่าน Nelson Mandela ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครที่เกิดมาพร้อมกับการเกลียดผู้อื่นเพียงเพราะสีผิว หรือศาสนา ที่แตกต่างกัน แสดงว่าคนเรียนรู้ความเกลียดในภายหลัง ดังนั้น หากคนเรียนรู้ที่จะเกลียดได้ เขาก็ย่อมที่จะถูกสอนให้รักกันได้เช่นกัน เพราะความรักนั้นมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เสียยิ่งกว่าความเกลียด”
ในฐานะนักวิชาการมุสลิม สิ่งที่ผมพอจะทำได้ในทุกครั้งเมื่อมีโอกาสก็คือการเรียกร้องให้พี่น้องมุสลิมหันกลับมาทบทวนและเข้าในในเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ในทัศนะอิสลาม คือการมุ่งสู่การเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า อันหมายรวมถึงการต้องปฏิบัติดีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกหมู่เหล่าไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใดก็ตามต้องดำเนินตามรอยคำสอนของศาสนาอย่างมั่นคงที่ว่าศาสนาอิสลามถูกส่งมาเพื่อเป็นความเมตตาสำหรับมนุษยชาติไม่ใช่สำหรับมุสลิมเท่านั้น ดังนั้น การรับใช้ผู้อื่นจึงหมายถึงการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า เพราะการเป็นมุสลิมหมายถึง การยอมรับอิสลามโดยสันติ ยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยสันติ และการจะต้องปฏิบัติตัวโดยสันติ หากมุสลิมทุกคนปฏิบัติได้ดังนี้ ผมบอกว่าไม่ว่าสื่อจะสร้างภาพลักษณ์อิสลามที่บิดเบือนอย่างไรก็ตาม ผู้คนที่เขามีประสบการณ์ตรงกับมุสลิมแบบนี้จะเป็นผู้คอยปกป้องและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับมุสลิมเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปแก้ข่าวหรือแก้ตัวว่าศาสนาอิสลามดีอย่างนั้น สันติอย่างนี้
คำถาม: อาจารย์ประเมินความขัดแย้งระหว่างศาสนาพุทธและอิสลามในระยะสั้น กลาง และยาวอย่างไร
ผมอยากพูดรวมๆ โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงในภาคเหนือที่ผมเติบโตมาคือ ได้เห็นถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่เปลี่ยนไปจนน่าตกใจ ในอดีตเมื่อหลายสิบที่ผ่านมานั้นชาวมุสลิมค่อนข้างได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพี่น้องชาวพุทธในภาคเหนือ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสการต่อต้านการสร้างมัสยิดไม่ว่าจะเป็นที่ จ.เชียงราย จ.น่าน รวมทั้ง จ.เชียงใหม่ โดยมีการใช้ข้อมูลทั้งที่ขาดความเข้าใจและข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อจงใจสร้างความเกลียดชังในหมู่มุสลิม ดังนั้น จากพัฒนาการดังกล่าว หากสังคมทุกฝ่ายต่างนิ่งเฉย และปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ โดยไม่ช่วยกันหาทางสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกันแล้ว ผมประเมินว่าในอีกไม่นานอาจในช่วง 20-30 ปี ข้างหน้า หรืออาจจะเร็วกว่านั้นย่อมมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่รุนแรงดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าได้
ดังนั้น นอกเหนือจากความพยายามสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างศาสนาให้มากขึ้นดังกล่างในข้อข้างต้นแล้ว ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะฝ่ายที่เกี่ยวข้องความมั่นคง และเทคโนโลยีการสื่อสารควรติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดถึงแหล่งการแพร่กระจายข้อมูลที่นำมาซึ่งการสร้างความแตกแยกและสร้างความเกลียดกลัวต่อชนทุกศาสนา หากผลการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเป็นการจงใจให้ร้ายต่อคนต่างศาสนิกโดยไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด จะต้องมีการดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดเพื่อยุติการสร้างความแตกแยกซ้ำซ้อนและความขัดแย้งที่จะถลำลึกยิ่งขึ้นต่อไปในสังคมไทย