ขบวนการค้าสัตว์ป่าเหิม ขโมยลูกนกเงือกในอท.บูโด ซื้อขายทันทีทางเว็ปไซต์ ตำรวจไม่รับแจ้งความ-อ้างไม่ใช่ผู้เสียหาย คณะวิจัยเผยสถานการณ์น่าเป็นห่วง เสนอตรวจดีเอ็นเอนกเงือกในสวนสัตว์
ต้นกาลอซึ่งเป็นไม้ตระกูลยางซึ่งนกเงือกเข้าไปทำรังและถูกขโมยลูก
เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 15 พฤษภาคม คณะนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและช่างภาพสารคดีกลุ่มหนึ่งได้เดินทางเข้าไปยังเขาปูลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบูโดในเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี เขตอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อถ่ายภาพและติดตามดูการเจริญเติบโตของลูกนกเงือกในโพรงหรือรังหมายเลข 29 ซึ่งเป็นนกเงือกหัวแรด แต่เฝ้าสังเกตตลอดช่วงเข้า กลับไม่เห็นกิจกรรมการป้อนอาหารของพ่อ-แม่นำเงือกเหมือนเช่นเคย ขณะที่พ่อ-แม่นกต่างบินวนอยู่รอบๆ ทำให้รู้สึกผิดปกติ ทางคณะจึงได้เดินไปสำรวจยังโคนต้นไม้ที่นกเงือกทำรังอยู่ และพบร่องรอยของคนร้ายปีนเข้าไปล้วงขโมยลูกนกเงือก โดยมีสวิงสำหรับจับนกตกอยู่ใกล้ๆและบริเวณลำต้นยังพบไม้ที่ใช้ปีนเป็นบันไดเพื่อปีนขึ้นไปยังรัง
ภาพการซื้อขายนกเงือกทางเว็บไซต์
หลังจากทราบแน่ว่ามีการขโมยนกเงือกไปจากพ่อ-แม่นก ทางคณะฯได้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรบาเจาะ แต่ได้รับการปฎิเสธแจ้งความโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหตุผลว่า นกเงือกเป็นของในธรรมชาติและผู้ที่แจ้งความไม่ใช่ผู้เสียหาย ในที่สุดทางผู้แจ้งความจึงได้ขอให้ลงบันทึกประจำวันไว้
ในเวลาใกล้เคียงกันในเฟสบุคของผู้ที่ใช้นามว่า “ทำไปเหอะ ถ้าคิดว่าดี”ได้โพสต์ขายลูกนกเงือกในกลุ่มปิดที่ชื่อว่า “ซื้อ-ขาย สัตว์แปลกๆน่ารักๆ”ในราคา 10,000 บาท โดยนกเงือกโพรงที่ 29 นี้เป็นนกเงือกหัวแรกซึ่งเป็นนกเงือกที่หายากพบได้เฉพาะในป่าบูโดและป่าฮาลาบาลา ซึ่งแม่นกเงือกตัวนี้เข้าโพรงตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ และออกมาจากโพรงเมื่อวันที่ 30 เมษายน และคาดว่าในวันที่ 25-26 พฤษภาคม ลูกนกเงือกจะสามาระออกจากโพรงได้ อย่างไรก็ตามในปีนี้มีนกเงือกหัวแรดเข้าโพรงเพียง 4 รังเท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมากจนน่าเป็นห่วง
นายสมชาย ศิริอุมากุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งเหตุจากชาวบ้านแล้วว่ามีขบวนการลักลอบจับสัตว์ป่า เข้ามาจับลูกนกเงือกในพื้นที่อุทยานฯ ไปขาย จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามและป้องกันเตรียมเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันพรุ่งนี้(16 พฤษภาคม) พร้อมทั้งเตรียมประชุมวางแผนมาตรการดูแลนกเงือก ที่เบื้องต้นจะมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวน และสนธิกำลังร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) และหน่วยทหารพราน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย
สวิงที่ใช้จับลูกนกซึ่งตกอยู่ข้างต้นกาลอ
นายสมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาการลักลอบตัดไม้ตะเคียนชันตาแมวในเขตอุทยานแห่งชาติฯ หลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสำรวจความเสียหายในจุดที่พบว่ามีการตัดไม้ทั้งหมดแล้ว พบว่า ไม่ได้มีการตัดไม้จำนวนมาก หรือมีมูลค่าเป็นสิบล้านอย่างที่เป็นข่าว โดยในแต่ละจุดเราพบว่ามีการตัดไม้เพียง 1-2 ต้นเท่านั้น ซึ่งได้ดำเนินการเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่แล้ว 8 คดี และมีการจับกุมผู้กระทำผิดได้แล้ว 2 ราย ในพื้นที่ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนสอบสวนติดตามผู้กระทำผิดเพิ่ม
“ช่วงที่ผ่านมาในพื้นที่ไม่ค่อยพบปัญหาการลักลอบจับลูกนกเงือกมานานแล้ว จนกระทั่งมีเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น ซึ่งอุทยานฯ จะเพิ่มความเข้มข้นในการลาดตระเวน ร่วมกับฝ่ายปกครองแต่ละอำเภอ และทหาร เพราะตอนนี้กำลังเจ้าหน้าที่อาจไม่เพียงพอจะลาดตะเวนป้องกันการตัดไม้หรือจับนกเงือกได้ทั้งหมด เพราะต้องแบ่งกำลัง 3-4 ชุด ไปสับเปลี่ยนช่วยดับไฟที่ป่าพรุโต๊ะแดงด้วย” หัวหน้าอุทยานฯ กล่าว
ด้านนายปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบจับนำเงือกไปขายไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รังนกเงือกที่เราเฝ้าติดตามเก็บข้อมูลถูกขโมยลูกนกไปแล้ว 5 รัง ซึ่งยังไม่นับรวมกับรังนกเงือกอื่นๆ ที่เราไม่ได้ส่งทีมเข้าไปเฝ้าเก็บข้อมูล จึงน่าจะมีลูกนกถูกจับไปขายมากกว่านี้
“ตอนนี้เป็นช่วงที่นกเงือกกำลังเลี้ยงลูกในรัง พวกจับนกก็จ้องอยู่แล้วว่าเมื่อไหร่ชาวบ้านที่เฝ้ารังนกเผลอ เขาก็จะเข้ามาจับลูกนก จับง่ายมาก ปีนขึ้นต้นไม้เอามือล้วงก็จับได้แล้ว เท่าที่ทราบราคาลูกนกออกจากป่าตัวละ 5 พันถึง 2 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับชนิดของนกเงือก” นายปรีดากล่าว และว่า ขณะนี้ตลาดค่าสัตว์ป่ามีความต้องการนกเงือกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนนิยมสัตว์ป่าหรือสัตว์แปลก เห็นได้จากมีการประกาศซื้อขายบนเว็บเพจต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งนกเงือกถือว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ใกล้สูญพันธุ์ และอาศัยอยู่ในป่าเท่านั้น ดังนั้นนกที่ถูกนำมาขายก็น่าจะเป็นนกที่ถูกจับออกจากป่า
นายปรีดากล่าวอีกว่า นอกจากนี้อยากให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบนกเงือกในสวนสัตว์ต่างๆ ที่มักถูกนำไปเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะสงสัยว่าอาจเป็นนกที่ถูกจับออกจากป่าของอุทยานแห่งชาติบูโดฯ โดยสามารถพิสูจน์ได้ง่ายด้วยการตรวจดีเอ็นเอจากตัวอย่างเลือดของนกเงือก เนื่องจากขณะนี้โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกตัวอย่างดีเอ็นเอของพ่อแม่นำเงือกมากกว่า 100 ตัวอย่าง ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างเลือดของลูกนกเงือกที่พบได้ว่าถูกจับหรือนำออกจากเทือกเขาบูโดไปหรือไม่
ทั้งนี้ ทีมข่าวได้รับข้อมูลจากในพื้นที่ว่า บริเวณใกล้เขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของพื้นที่ป่านั้น มีตลาดซื้อขายนกป่า สัตว์ป่า และของป่า ซึ่งอาจจะเป็นต้นทางของขบวนการลักลอบจับนกเงือกไปขายก่อนกระจายไปสู่ตลาดใหญ่ต่อไป ทั้งนี้คณะนักวิจัยฯได้ติดตามนกเงือกในป่าบูโด พบว่าสถานการณ์ของนกเงือกในป่าแห่งนี้น่าเป็นห่วงมากโดยพบรังนกเงือกอยู่ราว 70 รัง แต่ในปีนี้มีนกเงือกเข้าไปอยู่ในรังหรือในโพรงเพื่อเลี้ยงลูกเพียง 23 โพรง จากปีก่อนที่มีนกเงือกเข้าโพรง 45 โพรง อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้มีข่าวการลักลอบตัดต้นตะเคียนชันตาแมวในป่าบูโดกันขนานใหญ่ โดยต้นไม้ชนิดนี้เป็นเป็นแหล่งสำคัญในการทำรังของนกเงือก ทำให้หวั่นเกรงกันว่าหากมีการปล่อยให้ลักลอบตัดไม้กันอย่างหนักเช่นนี้ก็จะทำให้นกเงือกสูญพันธุ์ไปจากป่าเทือบเขาบูโดด้วย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://transbordernews.in.th/home/?p=12706