ข้อเสนอของนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ต่อการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพเก่าจากเวทีสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 29
นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์สันติชายแดนใต้ ได้เปิดพื้นที่พูดคุยและแลกเปลี่ยนระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อร่วมกันหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและรุนแรง และมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีสานเสวนารวมทั้งสิ้น 32 ครั้ง โดยสถาบันฯ ได้ทำหน้าที่เอื้ออำนวยความสะดวกการพูดคุย
สถาบันฯจึงขอนำผลการสานเสวนานักการเมืองระหว่างเดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2559 มาเสนอต่อคณะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข และมาราปาตานี เพื่อพิจารณาในการพูดคุย วันที่ 2 กันยายน 2559 นี้
ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายบี อาร์ เอ็น และมารา ปาตานี ควรจะวางกรอบคิดว่าจะสร้างสังคมแห่งนี้อย่างไร สันติภาพที่จะมีจะเป็นแบบไหน จุดหมายปลายทางจะอยู่ตรงไหน ฯลฯ และแถลงให้ประชาชนในและนอกพื้นที่ทราบ เพื่อให้เกิดพลังและความหวังที่จะเดินไปสู่อนาคตที่จะอยู่ร่วมกันต่อไป
การพูดคุยไม่ควรจำกัดวงแต่เฉพาะในทางสายเอก (track one) หากแต่รัฐบาลควรเปิดกว้างขึ้นโดยให้การสนับสนุนทางสายโท (track two) อย่างจริงจัง เช่น ให้มีการคัดสรรบุคคลที่แข็งขันและเป็นที่ยอมรับจังหวัดละ 10 คน และจาก 4 อำเภอของสงขลา อีก 5 คน ซึ่งมีหน้าที่เดินทางไปพูดคุยกับตัวแทนของขบวนการต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ โดยได้รับความสะดวกพอสมควรจากเจ้าหน้าที่ในสถานที่มีการพูดคุยนั้น ข้อเสนอที่ได้จากการพูดคุยเช่นนี้จะได้นำเสนอทั้งต่อรัฐบาลและต่อประชาชน ทั้งนี้ ให้คนในพื้นที่ทำการคัดสรรตัวแทนของตน (เช่นผ่านการเลือกตั้งโดยอ้อม) และให้เป็นผู้สะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ส่วนตัวแทนของขบวนการต่าง ๆ ก็ให้ขบวนการนั้น ๆ เป็นผู้คัดสรรและให้การยอมรับ
การพูดคุย (เพื่อสร้างความไว้วางใจ) ซึ่งเป็นขั้นแรกของแผนที่เดินทาง (road map) ของฝ่ายความมั่นคงนั้น ควรเปลี่ยนไปสู่การเจรจาสันติภาพ/สันติสุขซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไปให้เร็วขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และความหวังว่าจะเกิดผลลัพธ์ตามลำดับอย่างเป็นรูปธรรม
ในการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น มีการตั้งคณะทำงานทางเทคนิคเพื่อเตรียมการให้มีข้อตกลงทางเทคนิคดังกล่าว ประเด็นที่ทราบจากกระแสข่าวได้แก่ (1) พิจารณาที่จะยอมรับสถานภาพการเป็นผู้พูดคุยของมารา ปาตานี (2) ผู้พูดคุยในส่วนของผู้เห็นต่างจะต้องเป็นการเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ไม่ถูกบังคับด้วยวิธีการใด ๆ (3) ควรให้ภาคประชาสังคมเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุย
ผู้พูดคุยน่าจะพิจารณาดำเนินการให้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (TOR) ทั้งในเรื่องงานธุรการและการวางกรอบเบื้องต้นของเนื้อหาการพูดคุยกัน ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการพูดคุยดำเนินต่อไปได้ ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเรื่องการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงควรมีการพูดคุยและเสนอทางออกที่เป็นข้อตกลงกันในเรื่องการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ผู้ที่จะช่วยขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ไม่ควรจำกัดแต่เฉพาะกระบวนการพูดคุยที่เป็นทางการเท่านั้น หากต้องรวมฝ่ายอื่น ๆ ทั้งในพื้นที่และระดับชาติด้วย หากภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ฯลฯ สามารถตกลงกันได้ในเรื่องข้อเสนอการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เหมาะสม ก็ควรมีการปรึกษาหารือกับเสนาธิการของฝ่ายความมั่นคง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการปกครองท้องถิ่นดังกล่าวไม่ใช่การกรุยทางไปสู่การแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด
กระบวนการพูดคุยควรพูดถึงว่าจะคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายที่ทำร้ายได้ง่าย (soft target) ได้แก่ เด็ก ผู้หญิง ผู้พิการ ให้เป็นผลในลำดับแรกได้อย่างไร