Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

บัณฑิตพยาบาลจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2,848 คน ที่เรียนจบจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ถูกส่งตัวกลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

                    เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 สถาบันพระบรมราชนก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต) จัดประชุมวิชาการโครงการบัณฑิตคืนถิ่นเพื่อสร้างสุขภาพและสันติสุขชาวใต้

                    ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการ

                    และให้โอวาทแก่พยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษาในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

                    ที่ประชุมมีการอภิปรายในหัวข้อ “ข้อคิดบัณฑิตใหม่กับการทำงานในพื้นที่” โดยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายพระนาย สุวรรณรัฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาณุ อุทัยรัตน์ รักษาการเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต) ดำเนินรายการโดยนายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

                     นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า โครงการนำคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาศึกษาวิชาชีพพยาบาล เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต) ร่วมกันดำเนินการโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนพยาบาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

                     “พยาบาลซึ่งเป็นคนในพื้นที่สามารถทำงานได้สะดวก มีความเข้าใจระหว่างพยาบาลกับคนไข้ เป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพอย่างตรงจุด” นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว

                     นายพระนาย กล่าวว่า จากโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้คนจังหวัดอื่นว่าเป็นเด็กเส้น อันที่จริงผู้เข้าศึกษาจะต้องผ่านกระบวนการสอบเข้า มีผู้สมัครสอบหลายพันคน แต่มีโควตาแค่ 3,000 คน จบมาได้เลือดตาแทบกระเด็นต้องอาศัยความวิริยะ อุตสาหะมาก ต้องกระจายเรียนตามวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชนก กระทรวงสาธารณสุข 25 สถาบันทั่วประเทศ การสื่อสารภาษาระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ก็เป็นอุปสรรคพอสมควร

                     นายพระนาย กล่าวต่อไปว่า ทุนการศึกษา 3,000 คนนั้น เมื่อจบมาแล้วต้องทำงานชดใช้ทุนการศึกษา ในพื้นสถานพยาบาลในตำบลที่ตนอาศัยจำนวน 8 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐได้ประโยชน์มาก บัณฑิตประกอบอาชีพในพื้นที่ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลน บุคลากรทางด้านการพยาบาล เพราะคนนอกพื้นที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปในพื้นที่

                     พลโทอุดมชัย ธรรมาสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ตนดีใจที่ต่อไปจะมีพยาบาลวิชาชีพเชื้อสายมลายู ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถให้บริการและสื่อสารกันอย่างเข้าใจ รู้จักขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ศาสนาและวัฒนธรรมของอิสลาม

                     สำหรับสถานที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุนของพยาบาลวิชาชีพในโครงการฯ นี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายสถานที่ครอบคลุมสถานบริการทุกระดับ แยกเป็น จังหวัดปัตตานี 914 คน จังหวัดยะลา 551 คน จังหวัดนราธิวาส 929 คน จังหวัดสตูล 158 คน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ, เทพา, นาทวี และสะบ้าย้อย 271 คน โดยร้อยละ 37 ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 39 ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 23 ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสุขภาพตำบล