ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการภาคใต้
ถึงแม้การจัดทำผังเมืองรวมของแต่ละเมือง จะเป็นงานปกติของกรมโยธาธิการและผังเมือง แต่สำหรับจังหวัดหรือเมืองที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ งานวางผังเมืองรวมของพื้นที่นั้นๆ ย่อมได้รับความสนใจจากผู้คนในพื้นที่อย่างเป็นพิเศษ
จึงไม่แปลกที่เอกสารรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 13/2553 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2553 ที่ห้องประชุม 1201 อาคาร 1 ชั้น 2 กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระราม 9 กรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาผังเมืองรวมชุมชนกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จึงถูกคนในพื้นที่หยิบยกมากล่าวถึงอย่างเอาจริงเอาจัง
จากเอกสารรายงานการประชุมระบุว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการผังเมืองมีมติให้คณะทำงานจัดทำผังเมืองรวมชุมชนกำแพง นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการฯ ไปปรับปรุงแก้ไขร่างผังเมืองรวมชุมชนกำแพง จากนั้นให้นำกลับไปเสนอคณะอนุกรรมการผังเมืองอีกครั้ง
สั่งเพิ่มข้อมูลโครงการยักษ์
ข้อเสนอแนะของอนุกรรมการผังเมือง ระบุให้เพิ่มเติมรายละเอียดโครงการสำคัญต่างๆ ในตำบลละงู เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย และแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและเส้นทางคมนาคม เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนการใช้พื้นที่ และเส้นทางคมนาคม รองรับโครงการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น โดยให้คณะทำงานจัดทำผังเมืองรวมชุมชนกำแพงปรับเพิ่มวิสัยทัศน์และนโยบายให้สอดคล้องกับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย
พร้อมกับเสนอให้ปรับแก้ไขสัญลักษณ์ของถนนให้ถูกต้อง ในส่วนของที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่อยู่ติดกับแม่น้ำละงูทั้ง 2 ฝั่งควรมีวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วย นอกจากนี้ควรกำหนดเขตทางถนนหมายเลข 3003 (หน้าอำเภอละงู–ปากบารา) ให้มีความกว้างมากขึ้น เนื่องจากถนนเส้นนี้อนาคตจะมีความสำคัญ เป็นถนนสายเลี่ยงเมืองจากท่าเรือปากบาราไปอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา โดยไม่ต้องผ่านเข้าเมือง และควรกำหนดระยะถอยร่น โดยให้คณะทำงานจัดทำผังเมืองรวมชุมชนกำแพง ประสานกับสำนักวิศวกรรมการผังเมือง
ทางคณะอนุกรรมการผังเมือง ยังเสนอให้ตรวจสอบข้อกำหนด การกำหนดระยะพื้นที่เว้นว่างในที่ดินประเภทโล่งเพื่อนันทนาการและสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) ว่า ควรกำหนดไว้ 16 เมตร หรือ 6 เมตร และให้ปรับแก้ไขข้อกำหนดในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) โดยห้ามจัดสรรที่ดินทุกประเภท ในส่วนของแผนที่วิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ ควรปรับเพิ่มแสดงโครงการต่างๆ ที่สำคัญด้วย พร้อมกับให้ตรวจสอบถนนสาย ก 7 ที่บรรจบซอยสันติธรรมว่า มีความเหมาะสมกับระบบถนน และศักยภาพของพื้นที่เพียงใด
นอกจากนี้ ให้ทบทวนที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) บริเวณหมายเลข 1.4 ริมคลองละงูทางด้านทิศเหนือของผัง เนื่องจากอยู่ติดเขตป่าไม้ เส้นทางหลัก และบริเวณพื้นที่ที่อยู่ติดกับแม่น้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบันมีการอยู่อาศัยไม่มาก การกำหนดเป็นพื้นที่สีเหลืองเหมาะสมหรือไม่
จากข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการผังเมือง นำมาสู่การประชุมของคณะทำงานจัดทำผังเมืองรวมชุมชนกำแพง เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลกำแพง มีคณะทำงานฯ เข้าร่วมประชุมในวันนั้น 15 คน โดยนายมนตรี ศักดิ์เมือง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสตูล ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม
ที่ประชุมได้กำหนดเขตทางถนนหมายเลข 3003 (หน้าอำเภอละงู–ปากบารา) ให้มีความกว้างมากขึ้นจาก 28 เมตร เป็น 30 เมตร กล่าวคือขยายออกไปอีกฝั่งละ 1 เมตร พร้อมกับเพิ่มพื้นที่สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) บริเวณหน้าศูนย์ราชการอำเภอละงู จากระยะถนน 200 เมตร ตั้งแต่ 3 แยกถนนสาย สต. 3003 ตัดกับ สต. 4020 ไปถึง 3 แยกทางเข้าโรงเรียนบ้านเกาะญวน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
กำหนดพื้นที่สีเขียวอ่อน (ที่ดินประเภทโล่งเพื่อนันทนาการและสิ่งแวดล้อม) เว้นระยะห่างจากคลองละงู 8 เมตร และแก้ไขพื้นที่สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) ถนนละงู–ทุ่งหว้า จาก 3 แยกทางหลวงหมายเลข 416 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 4052 โดยปรับลดเหลือ 200 เมตร จากระยะถนน ซึ่งเดิมกำหนดติดภูเขาและคลองละงู
หลังจากนี้ คณะทำงานจัดทำผังเมืองรวมชุมชนกำแพง จะนำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะอนุกรรมการผังเมือง และคณะกรรมการผังเมือง ก่อนเข้าสู่คณะกรรมการร่างกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเสนอคณะรัฐมนตรีออกพระราชกฤษฎีกาต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมชุมชนกำแพง มาตราส่วน 1:35,000 ฉบับเสนอคณะทำงานจัดทำผังเมืองรวมชุมชนกำแพงพิจารณา ระบุถนนทางเข้าท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา (ตอนที่2) ทีมีปัญหาการเวนคืนที่ดินกับชาวบ้าน ตรงบริเวณถนนสายสต. 3003 ตัดกับสต. 4020 ซึ่งปัจจุบันเป็น 3 แยก แต่ในแผนผังเป็น 4 แยกออกสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4052 มุ่งสู่ปากบารา
นอกจากนี้ ยังมีการระบุพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) พื้นที่สีส้ม (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) และพื้นที่สีเหลือง (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) เกือบเต็มพื้นที่เทศบาลตำบลกำแพง และครอบคลุมบางส่วนของตำบลละงู
เปิด3พื้นที่อุตสาหกรรม
ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษก็คือ ในแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท ท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสตูล พ.ศ. ... มาตราส่วน 1:250,000 ได้ระบุ พี้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) ไว้ 3 พื้นที่
จุดแรกบริเวณตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล จุดที่สอง บริเวณตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล จุดที่สาม บริเวณตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
ขณะที่ระบุพื้นที่สีชมพู (ที่ดินประเภทชุมชน) เกือบเต็มพื้นที่ตำบลปากน้ำ ตำบลละงู และตำบลกำแพง
นักวิชาการยันต้องฟังชาวบ้าน
นางสาวภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมือง จากเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการผังเมือง ที่ให้ระบุโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย โครงการก่อสร้างถนนทางเข้าท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา (ตอนที่2) ไว้ในผังเมือง
“การกำหนดโครงการขนาดใหญ่เข้าไปในผังเมืองรวม โดยที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการน้อยมาก นับเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง ตอนนี้มีชาวบ้านบางกลุ่มอยากได้ท่าเรือฯ บางกลุ่มไม่อยากได้ท่าเรือฯ ยังไม่มีข้อสรุปว่าชาวบ้านจะเอาอย่างไร อยู่ๆ ก็นำโครงการขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านยังไม่มีข้อสรุป ไปบรรจุในผังเมืองรวมได้อย่างไร เพราะในหลักการการวางผังเมือง ต้องรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านด้วย” นางสาวภารณี กล่าว