Skip to main content
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSW)
 
ตั้ง ‘ถาวร’ เป็นประธานคณะทำงานส่งเสริมพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ เล็งจัด‘Expo Asian’ที่ด่านไทย–มาเลย์ บรรจุมอเตอร์เวย์หาดใหญ่ – สะเดา ในแผนแม่บทชายแดนใต้แล้ว รอรัฐบาลใหม่สานต่อ เผยมาตรการส่งเสริมลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 4 อำเภอสงขลา งบสินเชื่อผ่อนปรนยังมีอีกตั้งสามแสนล้าน
 
เมื่อเวลา 08.00 วันเสาร์ที่ 16 เมษายน 2554 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.3) ออกอากาศรายการร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหากับรัฐมนตรีถาวร ถ่ายทอดสดจากห้องส่งของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา(ช่อง11) กรมประชาสัมพันธ์ ออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายถาวร เปิดเผยในรายการว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กพต.) มีคำสั่งโดยนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ แต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่พิเศษ การค้า การลงทุน และการพัฒนาด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยมีตน เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะทำงาน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นฝ่ายเลขานุการ
คณะทำงานชุดนี้ ทำหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการ บูรณาการและจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน โครงการ กำกับ เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน ตลอดจนแก้ไขปัญหา อุปสรรค ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาการค้า การลงทุน และการพัฒนาด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ตลอดจนเสนอแนะการจัดตั้งและพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษและกรอบแนวทางการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับแผนการและนโยบายของคณะทำงานส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่พิเศษ การค้า การลงทุน และการพัฒนาด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย จะดำเนินการในอนาคต ได้แก่
1.ตนวางแผนที่จะจัดงาน ‘Expo Asian’ โดยจะจัดงานที่ด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย ด่านใดด่านหนึ่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน ค้าขาย สร้างบรรยากาศของการท่องเที่ยว
2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายหาดใหญ่-สะเดา(ชายแดนมาเลเซีย) ได้บรรจุอยู่ในแผนแม่บท 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว 3.สนับสนุนให้จัดตั้งปั้มแก้ส NGV
4.ส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่จังหวัดปัตตานี ให้มีประสิทธิภาพ 5.ส่งเสริมการบริการน้ำมันราคาถูกให้กับผู้ประกอบการเรือประมงพื้นบ้าน
6.อำนวยความสะดวก ประสานงานเพื่อให้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้กับคนไทยที่จะทำงานในประเทศมาเลเซียลดลงจาก 15,000 บาท
7.ส่งเสริมการสร้างงานในพื้นที่ กรณีความคืบหน้าของ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) สนใจที่จะตั้งโรงงานผลิตแอร์ ที่จังหวัดปัตตานี เพื่อส่งขายต่างประเทศปีละจำนวนมาก
“แผนการและนโยบายเหล่านี้รอรัฐบาลใหม่มาสานงานต่อ หากรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง โครงการเหล่านี้จะได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” นายถาวร กล่าว
นายถาวร เปิดเผยต่อไปว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ได้ดำเนินการเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการค้า การลงทุน และการพัฒนาด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะละ นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอเทพา สะบ้าย้อย จะนะ และนาทวี โดยมีสิทธิพิเศษและมาตรการเพื่อจูงใจนักลงทุนมาดำเนินการในพื้นที่
สิทธิพิเศษและมาตรการดังกล่าว ได้แก่ 1.มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิ/เดือน 2.มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหลือร้อยละ 0.1 ของกำไรสุทธิ/ยอดเงินที่พึงประเมิน/เดือน
3.มาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เหลือร้อยละ 0.1 ของกำไรสุทธิ/เดือน 4.มาตรการลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม เหลือร้อยละ 0.1
5.มาตรการลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด, บริษัทจำกัด 6.มาตรการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยเพื่อคุ้มครองภัยอันเกิดจากการก่อการร้าย 7.มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีโดยให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในพื้นที่
8.มาตรการสินเชื่อผ่อนปรน โดยขอกู้เงินและเสียดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 1.5/ปี โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยส่วนต่าง ซึ่งตามปกติต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7/ปี ขณะนี้รัฐบาลมีงบประมาณอยู่ 350,000 ล้านบาท โดยได้ปล่อยกู้ไปจำนวนหนึ่งแล้ว
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการทำธุรกิจ การค้า และลงทุน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะละ นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอเทพา สะบ้าย้อย จะนะ และนาทวี สามารถกู้เงินได้จากธนาคารพาณิชย์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารนครหลวงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต
9.มาตรการหลักประกันด้านแรงงาน เช่น การรับจดทะเบียนด้านแรงงาน, การผ่อนปรนด้านแรงงานต่างด้าว ฯลฯ