Skip to main content

มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท

              

               เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 เมษายน 2554 ที่โรงแรมลี การ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้(CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแถลงข่าว เรื่องผลการดำเนินงาน โครงการการศึกษาพัฒนาต้นแบบการบริหารรัฐกิจและการปกครองแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ พร้อมคณะเป็นผู้แถลงข่าว

                การแถลงข่าวครั้งนี้ เป็นการเปิดเผยผลงานวิจัยที่บุกเบิกการใช้กระบวนการ “ลูกขุนพลเมือง” (Citizens Jury) เพื่อพิจารณาต้นแบบการบริหารรัฐกิจและการปกครองแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้

ชี้รูปแบบใหม่ประชาธิปไตยแบบหารือ

                ผศ.ดร.ศรีสมภพ แถลงว่า โครงการนี้ใช้รูปแบบ “คณะลูกขุนพลเมือง” หรือ Citizens Jury ในการศึกษารูปแบบการปกครองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการศึกษาเพื่อหาทางออกของปัญหาโดยใช้รูปแบบใหม่ในการจัดการ โดยการปรึกษาหารือกับประชาชน โดยมีข้อพิจารณาว่า มีหลายรูปแบบ (โมเดล) การปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการเสนอมา ในรอบ 2 -3 ปี ที่ผ่านมา

                ผศ.ดร.ศรีสมภพ แถลงต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ จึงน่าจะต่อยอดและทบทวนผลการศึกษาของหลายๆ ฝ่ายที่แตกออกเป็นโมเดลต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรที่จะหาทางออกอีกทางหนึ่งร่วมกัน โดยอาศัยวิธีการจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยอาศัยรูปแบบการวิจัยใหม่ มีชื่อว่า คณะลูกขุนพลเมือง หรือ Citizens Jury ซึ่งเป็นกระบวนการของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) รูปแบบหนึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดย Jefferson Center ประเทศสหรัฐอเมริกา

กลั่นจาก8โมเดล “หะยีสุหลง – บิ๊กจิ๋ว – หมอประเวศฯ”

                อาจารย์ศศิวรรณ จริงจิตร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี หัวคณะวิจัยโครงการวิจัยศึกษาพัฒนาต้นแบบการบริหารรัฐกิจและการปกครองแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงว่า สำหรับโมลเดล ที่นำมาให้คณะลูกขุนพลเมืองมาพิจารณา มี 8 โมเดล ได้แก่ โมเดลการปฏิรูปมวลชนของหมอประเวศ วะสี โมเดลมหานครปัตตานีของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ข้อเสนอของหะยีสุหลง โมเดลสามนครของอาจารย์อำนาจ ศรีบูรณ์สุข โมเดลนครทั้งสามของนายอุดม ปัตนวงศ์ โมเดลปัตตานีมหานคร ของนายอัคคชา พรหมสูตร โมเดลทบวงชายแดนชายของผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และอาจารย์สุกรี หลังปูเต๊ะ จากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และโมเดลการปกครองปกติทั่วไปในปัจจุบัน

                อาจารย์ศศิวรรณ แถลงต่อไปว่า ทั้ง 8 โมเดลนำมาเป็นทางเลือกให้คณะลูกขุนพลเมืองเลือกว่าแบบไหนสามารถตอบโจทย์สร้างความยุติธรรมในพื้นที่ได้ดีที่สุด โดยให้พยาน คือ ผู้ที่มาอธิบายโมเดลของตัวเองมาอธิบายกับขณะลูกขุนพลเมือง

                “ก่อนอื่นเราได้ให้ข้อมูลกับคณะลูกขุนพลเมืองเกี่ยวกับการปกครองโดยทั่วๆ ไป และในเรื่องการปกครองพิเศษ โดยเชิญผู้ที่มีความรู้มาอธิบาย หลังจากรับฟังทุกโมเดลแล้ว ก็ได้เปิดโอกาสให้คณะลูกขุนพลเมือง ถามรายละเอียดได้อย่างอิสระจากพยาน ซึ่งส่วนมากจะถามว่า ในแต่ละโมเดลจะทำได้หรือไม่ในความเป็นจริง” อาจารย์ศศิวรรณ กล่าว

                อาจารย์ศศิวรรณ แถลงอีกว่า นอกจากนี้ ยังถามในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องนโยบาย การแบ่งแยกอำนาจ การกระจายอำนาจ และอาจจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง ซึ่งคณะลูกขุนพลเมืองค่อนข้างจะมีอิสระพอสมควรในการแสดงความคิดเห็น และในการหาข้อมูลให้ได้มากที่สุดในแต่ละตัวแบบ

                อาจารย์ศศิวรรณ แถลงว่า หลังจากนำเสนอแต่ละโมเดลเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เวลาคณะลูกขุนพลเมืองประชุมพิจารณา โดยใช้เหตุผล เพื่อนำมาเป็นข้อสรุปที่เป็นมติเอกฉันท์ในการตัดสินว่า โมเดลไหนที่เหมาะสมที่สุด หรือว่าถ้าไม่มีโมเดลที่เหมาะสม จะมีโมเดลที่คณะลูกขุนพลเมืองพึงประสงค์ควรจะมีอะไรบ้าง

                อาจารย์ศศิวรรณ แถลงด้วยว่า หลังจากสรุปเสร็จแล้วคณะลูกขุนพลเมือง ก็จะเขียนแถลงการณ์ด้วยตัวเอง เป็นบทสรุปที่ได้มาจากคณะลูกขุนเอง ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่มีความน่าสนใจมาก เพราะมีคณะลูกขุนพลเมืองมีความหลากหลาย ทั้งในด้าน อาชีพ รายได้ ศาสนา เพศ ที่อยู่อาศัย

ยุบปกครองส่วนภูมิภาค-ตั้งมณฑลชายแดนใต้-เลือกตั้งผู้ว่าฯ

                อาจารย์สุทธิศักดิ์ ดือเระ อาจารย์วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แลงว่า การปรึกษาหารือของคณะลูกขุน จะใช้วิธีอาศัยหลักฉันทามติ โดยทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ไม่ได้ใช้เสียงข้างมากเป็นหลัก และจะไม่มีการวางธง ส่วนนักวิจัยจะให้ข้อมูลความรู้เท่านั้นเอง สิ่งที่คณะลูกขุนพลเมืองได้นำเสนอผ่านแถลงการณ์ ทั้ง 3 ประเด็น ดังนี้

                ประเด็นแรก อะไรคือคุณค่าสำคัญในการสร้างความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ประชุมโดยฉันทามติ ตอบว่าเรื่องของการให้ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อันนำมาสู่ความสงบสุขและนำไปสู่การพัฒนาและความเจริญทางเศรษฐกิจ การศึกษา และคุณภาพชีวิต ผมย้อนนิดหนึ่งว่า การตัดสินของคณะลุกขุนต้องใช้วิธีการฉันทามติโดยที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน จะไม่ใช้เสียงข้างมากเป็นหลัก

                ประเด็นที่ 2 รูปแบบการปกครองในปัจจุบันมีสามารถสร้างความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้มากน้อยเพียงใด คณะลูกขุนมีความเห็นว่า โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน ไม่มีประสิทธิภาพ มีช่องโหว่ทางการปฏิบัติมาก และทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น

                ความหย่อนประสิทธิภาพต่างๆ ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่างๆ และปัญหาถูกละเลย เพราะมีสายการบังคับบัญชายาวเกินไป ทำให้ข้าราชการในพื้นที่ไม่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน ในทางกลับกัน กลับไปสนองตอบต่อความต้องการของผู้บังคับบัญชาจากส่วนกลาง นี่คือจุดที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในพื้นที่

                ประเด็นที่ 3 การปกครองรูปแบบใดจะนำมาซึ่งความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้? ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญ

                หลังจากที่ได้ฟังทั้ง 8 โมเดลแล้ว ขณะเดียวกันคณะลูกขุนพลเมืองข้อค้นพบของเครือข่ายประชาสังคมมาประกอบในการพิจารณาด้วย เช่น ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเดียว แบ่งแยกมิได้

กระบวนการที่ได้จากการพูดคุยปรึกษาหารือกันในประเด็นที่ 3 คณะลูกขุนได้แตกออกเป็น 4 ข้อ ดังนี้

               1.การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยผ่าการคัดกรองจากคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนองค์กรทุกภาคส่วน ผู้สมัครที่ผ่านการคัดกรองแล้วให้นำมาเสนอประชาชน ให้ประชาชนเลือกอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อคัดกรองผู้ที่ไม่เหมาะสมออกจากกระบวนการเลือกตั้ง เช่นคนที่มีประวัติไม่ดี ซึ่งในทางกฎหมายแม้จะไม่เอาผิด แต่ในทางปฏิบัติ ทุกคนอาจจะเห็นว่าคนนี้ ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการที่ไม่โปร่งใส มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถที่จะคัดออกไปก่อนได้

               2.การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น มี 2 ระดับ

                  ระดับแรก คือ การเลือกตั้งระดับมณฑล โดยให้มีผู้ว่าราชการมณฑล 1 คน ซึ่งมณฑลนี้ประกอบด้วย ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

                  ระดับที่ 2 คือ การเลือกตั้งระดับจังหวัด คือ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยยกระดับ 4 อำเภอของสงขลา เป็นจังหวัด เพราะฉะนั้น ในมณฑลนี้มีทั้งหมด 4 จังหวัด แต่ในประเด็นนี้ คณะลูกขุนยังไม่ได้ให้รายละเอียด ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการต่อไป

                3.คณะลูกขุนมีข้อเสนอให้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาค ยกเว้นด้านความมั่นคง (ทหาร) การต่างประเทศ และนโยบายด้านการเงิน ทั้งนี้ให้คงเหลือไว้เพียงการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคมาขึ้นกับส่วนท้องถิ่นแทน สุดท้ายองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กให้คงไว้ แต่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นั้นคือสิ่งที่ค้นพบจากคณะลูกขุน ที่มีการพูดคุย ซักถาม ทั้ง 8 โมเดล แต่ไม่ได้เลือกแบบหนึ่งแบบใด

                   อาจารย์ฮาฟิส สาและ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี แถลงว่า กระบวนการของงานวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก เป็นการออกแบบกระบวนการทั้งหมดภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษา และสุ่มคัดเลือกคณะลูกขุนพลเมืองหรือตัวแทนภาคประชาชนที่จะพิจารณาโมเดลการปกครอง

                   “ในระยะแรกกำหนดไว้ 5 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เป็นการประชุมกับคณะกรรมที่ปรึกษาที่มาจากหลายภาคส่วน ทั้งสายการปกครอง ทหาร หรือผู้นำศาสนา เป็นต้น เพื่อพิจารณาการคัดเลือกคณะลูกขุนพลเมือง การคัดเลือกพยานที่จะมานำเสนอโมเดลการปกครอง ซึ่งก่อนหน้านี้มีมากกว่า 8 โมเดล สุดท้ายคัดมาแค่ 8 โมเดล” อาจารย์ฮาฟิส กล่าว

                   อาจารย์ฮาฟิส แถลงต่อไปว่า สำหรับคณะลูกขุนเดิมตั้งเป้าไว้ 40 คน แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553 จึงทำให้มีคณะลูกขุนพลเมืองที่มาร่วมประชุมเพียง 29 คน มีทั้งพุทธและมุสลิม

                  “ในเรื่องการคัดเลือกลูกขุนเราพลเมือง ได้รับคำแนะนำจากคณะที่ปรึกษาว่า ถ้าเอาคณะลูกขุนพลเมืองที่เป็นพี่น้องประชาชนทั่วไปก็อาจจะไม่เข้าใจเรื่องการเมืองการปกครอง ควรเอามาจากภาคประชาสังคมด้วย” อาจารย์ฮาฟิส กล่าว

                   อาจารย์ฮาฟิส แถลงอีกว่า ระยะที่สอง เป็นกระบวนการรับฟังและปรึกษาหารือ โดยคณะลูกขุนพลเมืองรับฟังและซักถามข้อมูลเกี่ยวกับการปกครองรูปแบบต่างๆ จากพยาน ก่อนจะอภิปรายอย่างอิสระ กระทั่งหารือร่วมกันสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

                  “เราได้ศึกษาเรื่องการตั้งประเด็นที่จะให้คณะลูกขุนพลเมืองอภิปราย และซักถามข้อมูลที่พยานพูดไม่ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจที่จะเสนอรูปแบบการปกครองที่เหมาะสม ซึ่งพยานก็จะพยายามโน้มน้าวให้คณะลูกขุนพลเมืองเลือกโมเดลของตัวเอง” อาจารย์ฮาฟิส กล่าว

                  อาจารย์ฮาฟิส แถลงว่า คณะวิจัยได้ตั้งไว้ 3 ประเด็นคือ คุณค่าที่สำคัญที่นำไปสู่การสร้างความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ มองในภาพรวมว่า คนในพื้นที่ต้องการอะไรมากที่สุด ประเด็นที่ 2 คือรูปแบบการปกครองที่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสามารถตอบโจทย์ ตอบคุณค่าตรงนั้นได้หรือไม่ และประเด็นที่ 3 เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ รูปแบบการปกครองรูปแบบใดที่เหมาะสมกับพื้นที่ นำมาซึ่งความยุติธรรมและสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

                  “นี่คือสิ่งที่ลูกขุนพลเมืองต้องตอบให้ได้ ซึ่งคณะลูกขุนพลเมือง สามารถเลือกเอาโมเดลใดโมเดลหนึ่งมาเป็นคำตอบก็ได้ หรือจะผสมผสานระหว่างโมเดลต่างๆ โดยการดึงองค์ประกอบที่เด่นออกมาของแต่ละโมเดลมานำเสนอ” อาจารย์ฮาฟิส กล่าว

                  อาจารย์ฮาฟิส แถลงด้วยว่า การประชุมปรึกษาหารือและการรับฟังการนำเสนอโมดลการปกครองของคณะลูกขุนพลเมือง มีขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 13 มกราคม 2554 ที่ผ่านมาที่จังหวัดตรัง

                 ผลการศึกษาส่วนหนึ่งมาจากระยะที่ 2 ซึ่งมาจากกระบวนการการรับฟังและปรึกษาหารือของคณะลูกขุนพลเมืองเป็นหลัก มีข้อค้นพบ 2 ข้อ คือ ข้อเสนอของคณะลูกขุนพลเมืองผ่านแถลงการณ์และข้อค้นพบที่เกิดจากการสังเกต

ชี้เป็นกระบวนใหม่มีประโยชน์ในการเรียนรู้ประชาธิปไตย

                 นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ หนึ่งในคณะลูกขุนพลเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ตนได้เรียนรู้กระบวนการใหม่และผู้คนใหม่ๆและหลากหลาย เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนที่แม้จะมีที่มาแตกต่างหลากหลายได้แสดงความคิดเห็นและฝึกรับฟังความเห็นกันและกัน

                  “เขตการปกครองพิเศษอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับลูกขุนพลเมืองบางคน แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะได้เรียนรู้ ตนเองคิดว่ากระบวนการลูกขุนพลเมืองสามารถนำไปใช้ในอนาคตเพื่อบูรณาการความคิดของทุกภาคส่วนได้ดี เป็นกระบวนการที่มีความเป็นกลาง มีทั้งผู้ให้ข้อมูล ผู้ซักถาม การคัดค้านและสนับสนุนอย่างเป็นอิสระ” นายอับดุลอาซิส กล่าว

                  ผศ.ดร.ศรีสมภพ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า โครงการลูกขุนพลเมืองเป็นแนวคิดใหม่ในการตัดสินนโยบายและเรื่องทางการเมือง ที่ให้ความสนใจกับการตัดสินใจของสามัญชน คนธรรมดาที่มีความเข้าใจและเหตุผล มีข้อมูลประกอบการคิดการตัดสินใจเรื่องนโยบายสาธารณะและช่วยกันคิดหาทางเลือกให้สังคมในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

                  “จุดเริ่มมาจากแนวคิดแบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือของประชาชน หรือประชาธิปไตยทางตรงที่เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงในเรื่องนโยบายสาธารณะ เพราะเราเชื่อในประชาชนเราถึงมีระบบนี้ได้ เมื่อนำแนวคิดนี้มาใช้กับทางเลือกสาธารณะ เช่น นโยบายโครงการสาธารณะ หรือการเลือกรูปแบบการเมืองการปกครองแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจึงต้องมีระบบคณะลูกขุนมาตัดสินในร่วมกันว่าสังคมคิดอย่างไร เชื่ออย่างไรและตัดสินใจอย่างไรในเรื่องการปกครองแบบธรรมาภิบาลในการแก้ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

                   “ประชาชนเขาคิดอย่างไรก็ต้องเคารพการตัดสินใจแบบนี้ การปกครองแบบประชาธิปไตยจึงต้องอาศัยระบบคณะลูกขุนพลเมืองมาแก้ปัญหาความขัด แย้งทางการเมือง โดยระบบลูกขุนจะเป็นตัวเสริมให้กับประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เรามีอยู่แล้ว เช่นระบบรัฐสภาเพื่อให้มันมีความสมบูรณ์ขึ้น แต่ไม่ใช่มาแทนระบบตัวแทนทางการเมืองแบบเดิมที่มีอยู่แล้ว ควรเพิ่มทางเลือกใหม่ในการตัดสินใจโดยประชาชน เพื่อประชาชนและโดยประชาชนแบบนี้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว