Skip to main content

อารีด้า  สาเม๊าะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

“บิสมิลลาฮี้รเราะมานี้รรอหีม..........”

             เสียงประสานของเหล่าเด็กๆและเยาวชนกว่า 400 คน ที่กล่าวตามครูอาวุโส ผู้สอนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน ดังกระหึ่มไปทั่วหอประชุมอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

             นั่นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเชิดชูเกียรติ “คอตัมอัลกุรอานิลการีม” หรือ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2554 จัดโดยสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) อำเภอหนองจิก เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา

             “คอตัมอัลกุรอานิลการีม” แปลได้ว่า เป็นกิจกรรมการอ่านทบทวนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านอันประเสริฐ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญสำหรับชาวมุสลิมที่เรียนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านได้จบเล่มแล้ว

             กิจกรรมในช่วงปิดเทอมนี้ จัดขึ้น เพื่อลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ โดยยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ฟื้นฟูจารีตที่เข้มแข็ง เพื่อฟื้นฟูสังคมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้ให้เข้มแข็งและให้เยาวชนมีจิตสำนึกในทางที่ดี ตามหลักศาสนาอิสลาม

              ในขณะที่ทั้ง 400 ชีวิต นั่งรออยู่ในหอประชุมอย่างเรียบร้อย โดยแต่งกายถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามทั้งชายและหญิง ในมือถือคำภีร์อัลกุรอ่านเล่มเล็ก (ยุซ หรือ ภาคสุดท้ายของคำภีร์อัลกุรอ่านจากทั้งหมด 30 ยุซ) อยู่นั้น พิธีก็เริ่มขึ้น

              โดยนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการชาวมุสลิมของจังหวัดปัตตานี เดินนำขบวนในชุดมุสลิมอาหรับ พร้อมกับกล่าวสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺและศาสดามุฮัมมัดดังกระหึ่มตลอดขบวน มุ่งหน้ามายังอาคารที่ประกอบพิธี เพื่อเป็นประธานเปิดงาน

              จากนั้นจึงเริ่มพิธีคอตัม โดยครูผู้สอนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านอาวุโส อ่านนำในซูเราะห์หรือบทในอัลกุรอานเล่มเล็กทีละโองการ แล้วให้เด็กอ่านตามจนจบเล่ม

              จากนั้นมีการอ่านดุอา คือ การขอพรต่อพระองค์อัลลอฮฺให้ประทานความบารอกัตหรือความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมทั้งหมด

              พิธีคอตัม เป็นวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้มายาวนาน เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับคำภีร์อัลกุรอ่าน เนื่องจากคำภีร์อัลกุรอ่าน ถือเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตของชาวมุสลิม เป็นที่มาของคำสอนต่างๆ

              แหล่งเรียนรู้คำภีร์อัลกุรอ่านในพื้นที่มีหลายแห่ง เริ่มตั้งแต่เรียนรู้กับผู้ปกครองของตัวเองภายในบ้าน เรียนจากเพื่อนบ้านที่รับสอนเด็กๆในหมู่บ้าน เรียนที่มัสยิด ที่โรงเรียนตาดีกา รวมทั้งปอเนาะ อันเป็นสถาบันการศึกษาทางด้านศาสนาอิสลาม และสอนฟรี

              นอกจากนี้ยังมีสถาบันสอนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน หลักสูตรกีรออาตีซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนอัลกุรอานแบบใหม่ที่ได้รับมาจากประเทศอินโดนีเซีย โดยมีวิธีการสอนที่ทำให้เด็กสามารถอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านได้เร็วขึ้น

              สำหรับชาวมุสลิมแล้ว การเรียนการสอนทางด้านศาสนาอิสลาม มักเริ่มด้วยการสอนให้อ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน โดยเริ่มจากการท่องจำ และการออกเสียงตัวอักษรภาษาอาหรับก่อน เนื่องจากคำภีร์อัลกุรอ่านเป็นภาษาอาหรับ

              จากนั้นจึงต่อด้วยการสอนหลักการอ่าน การสะกด การผัน เป็นต้น ซึ่งมักเริ่มต้นเรียนจากพ่อแม่ก่อน จากนั้นจึงส่งไปเรียนกับครูที่มีความชำนาญมากขึ้น

              ส่วนมากเวลาในการเรียนการสอน มักเป็นช่วงเวลาหลังละหมาดมัฆริบ หรือช่วงตะวันตกดินจนถึงช่วงเวลาละหมาดอีซา หรือช่วงที่แสงตะวันหมดไปจากท้องฟ้าแล้ว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ยกเว้นบางแห่งที่กำหนดเวลาสอนชัดเจน เช่น ช่วงเช้ามืดหลังละหมาด หรือช่วงเย็น หรือแทรกในตารางเรียนของนักเรียน

              เมื่อเรียนคำภีร์อัลกุรอ่านจนจบเล่มหรือพออ่านออกได้ด้วยตัวเองและท่องจำ โดยเฉพาะในยุซที่ 30 แล้ว ก็จะมีการทำพิธีคอตัมอัลกุรอ่าน ส่วนมากจะทำทีละคนระหว่างครูผู้สอนกับลูกศิษย์ โดยผู้ปกครองเด็กจะมอบสิ่งของตอบแทน

               แต่พิธีคอตัมอัลกุรอ่าน ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำตอนเรียนจบใหม่หรือสำหรับเด็กและเยาวชนเท่านั้น บางคนทำตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว เช่น ตอนก่อนจะเข้าพิธีแต่งงาน หรือแม้แต่คนเฒ่าคนแก่ที่เรียนอัลกุรอ่านกับโต๊ะครูก็มักจะนัดกันคอตัมเป็นประจำ

               เกือบทุกหมู่บ้านของชาวมุสลิมมักมีการรวมกลุ่มกันของผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพื่อเรียนอัลกุรอ่าน หรือจากหลายหมู่บ้านรวมกัน เช่นเดียวกับการฟังโต๊ะครูมาสอนศาสนาประจำสัปดาห์ในหมู่บ้าน

               ด้วยความเด็กมุสลิมเริ่มเรียนรู้อัลกุรอ่าน ตั้งแต่เล็กๆ ในเป็นช่วงวัยที่มีความสามารถในการจดจำสูง จึงทำให้ชาวมุสลิมเติบโตมาด้วยเสียงอัลกุรอ่าน และมีความผูกพันเป็นอย่างมาก

               แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้วิถีเหล่านี้ถูกละเลยไป บางคนเรียนอัลกุรอ่านยังไม่ทันจบเล่ม หรือ ไม่ทันได้พออ่านได้ด้วยตัวเองและท่องจำบางบทที่สำคัญๆ ได้ ก็หยุดเรียนเสียแล้ว ทั้งที่ในชีวิตประจำวันของชาวมุสลิม จำเป็นต้องอ่านอัลกุรอ่าน ทั้งในการละหมาด และพิธีกรรมอื่นๆ

               นายนิฟูอัด บาสาลาฮา นักวิชาการอิสลามศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอหนองจิก ผู้เสนอโครงการนี้บอกว่า ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้วันนี้ ทำให้เยาวชนในพื้นที่อ่อนแอลง ผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญและไม่ส่งเสริมกิจกรรมด้านศาสนา
“สิ่งที่เราเห็นชัดเจนวันนี้ คือ เมื่อลูกเรียนจบระดับปริญญาตรี พ่อแม่จะเห็นความสำคัญอย่างมาก ยอมเสียเงินสำหรับการจัดงานแสดงความยินดี แต่เมื่อลูกหลานเรียนอัลกุรอ่านจบเล่มแล้ว กลับไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก” นายนิฟูอัด กล่าว

               นายซานูซี ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอหนองจิก บอกว่า กิจกรรมในวันนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กับภาคประชาชน พยายามทำให้เห็นว่า ภาครัฐพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประชาชนและภาคเอกชน

               “เราเข้าถึง เพราะเราเข้าใจ เราพยายามส่งเสริมสิ่งที่เขาทำอยู่ เราไม่ได้เปลี่ยนบริบทอะไรของเขา ในขณะเดียวกันเราก็พยายามพัฒนา โดยพยายามปรับในสิ่งที่มีอยู่ให้เข้าสู่มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป” นายซานูซี กล่าว

               ด้านตัวแทนผู้เข้าร่วมพิธีอย่างนางสาวอาซีซะห์ มาตัคสา นักเรียนโรงเรียนศาสน์สามัคคี อำเภอหนองจิก เล่าว่า ตัวเองเริ่มเรียนอัลกุรอานตั้งแต่อายุห้าขวบกับโต๊ะครูข้างบ้าน การเข้าร่วมพิธีครั้งนี้ รู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะเป็นงานใหญ่ และเป็นครั้งแรกของตนเองตั้งแต่เรียนจบเมื่อสองปีที่แล้ว

               “อัลกุรอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเมื่อได้เปิดอ่านสักพักแล้ว รู้สึกว่าความสับสนวุ่นวายใจและความเครียดก็จะคลายลง” นั่นคือความรู้สึกนางสาวอาซีซะห์ ที่มีต่อการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน

               นายอับดุลซอมะ เย็มมัน นักเรียนโรงเรียนศาสน์สามัคคี เล่าว่า “แรกๆรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องเรียนอัลกุรอ่าน เริ่มจากสะกดทีละคำจนเริ่มอ่านคล่อง จากนั้นก็รู้สึกง่ายและรู้สึกชอบ เวลาที่อ่านอัลกุรอ่านรู้สึกโปร่ง”

               และนายอับดุลซอมะ ยังเล่าอีกว่า งานวันนี้ยิ่งใหญ่มาก ทำให้รู้สึกเห็นคุณค่าของอัลกุรอ่าน ยิ่งทุกวันนี้เยาวชนในพื้นที่ละเลยการการเรียนและการอ่านอัลกุรอานมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่มัวแต่ตามวัฒนธรรมตะวันตก ให้คุณค่ากับอัลกุรอานน้อยลง

                “ถ้าเยาวชนมุสลิมไม่สนใจอัลกุรอ่าน วันข้างหน้าสังคมมุสลิมจะเสื่อมเสียไปมากกว่านี้ครับ” นายอับดุลซอมะ ยืนยัน