มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
“หมัด” นายอาหมัด แกสมาน และ“มัง” นายสุไลมาน บือราเฮง(ผมฟู) 2 ตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้
“ช่วงนี้ขบวนการนักศึกษาในสังคมหายไปไหนหมด” เป็นคำถามจาก 2 ตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ที่อาจสะท้อนถึงพลังนักศึกษาที่ดูจะห่างหายไป ไม่ค่อยปรากฏตามสื่อ
คนแรก คือ “หมัด” นายอาหมัด แกสมาน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกกฎหมายอิสลาม คณะวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จากสตูล
อีกคน “มัง” นายสุไลมาน บือราเฮง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เอกการปกครองท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะรัฐศาสตร์ สถาบันเดียวกัน คนปัตตานี
ทั้ง 2 เป็นตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ที่กำลังเดินสายรวมขบวนพลังประชาชนในการรณรงค์ในเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากโครงการยักษ์และร่วมแสดงจุดยืนกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ
เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ มีการรวมตัวกันอย่างไร?
หมัด - ที่ผ่านมานักศึกษาต่างองค์กร ต่างชมรม ต่างแยกกันทำกิจกรรม ต่อมาจึงเกิดจากการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมของนักศึกษาหลายๆ องค์กรในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาทิ เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม เครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สหพันธ์นักศึกษาปัตตานี ชมรมสำนึกรักษ์บ้านเกิด เป็นต้น
ต่อมาได้ประสานงานไปยังเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคใต้ โดยการประสานผ่านนายกองค์การนักศึกษา ประธานสภาองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า มีกิจกรรมรณรงค์ที่โน่นนะ ที่นี่นะ จะไปร่วมหรือไม่ ซึ่งแต่ละองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย จะแจ้งไปยังนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นๆ รวมถึงบอกต่อไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ เป็นรายกิจกรรม
มัง – จากการที่เราเคยไปร่วมรณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ทำให้เรามีเครือข่ายมากขึ้นพอสมควร
กระทั่งเรามาเคลื่อนไหวกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ปรากฏว่ามีเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในส่วนกลางและภาคเหนือ เช่น ชมรมทักษิณสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความสนใจกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบาราเช่นกัน โดยมาออกค่ายร่วมกับชาวบ้านที่จังหวัดสตูล เราจึงได้ประสานเพื่อร่วมในการรณรงค์เคลื่อนไหวกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา
นอกจากนี้แล้ว เราประสานกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาลัยพละศึกษาจังหวัดยะลาด้วย
จุดประสงค์ในการรวมตัวเป็นเครือข่าย?
หมัด – ที่ผ่านมาเราเห็นภาครัฐรังแกและกระทำต่อชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านไม่รู้ข้อมูล รายละเอียดของโครงการต่างๆของภาครัฐ ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษา ทุนส่วนหนึ่งในการศึกษาก็เป็นเงินภาษีของประชาชน และตั้งคำถามว่าเราจะทำอะไรให้กับชาวบ้านได้บ้าง เราจะนิ่งเฉยอยู่อย่างไรในเมื่อชาวบ้านถูกกระทำ จึงเกิดการรวมตัวของนักศึกษาขึ้น
แนวทางของเรา เมื่อเห็นชาวบ้านถูกรังแก ไม่ว่าไทยพุทธหรือมุสลิม เราพร้อมและยินดีจะเข้าไปช่วยเหลือเคลื่อนไหว ต่อสู้กับพี่น้องชาวบ้านในทุกเรื่องที่ละเมิดสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ
โครงสร้างของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้?
มัง – ฐานโครงสร้างเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ หลักๆ อยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชื่อมโยงกัน ประกอบด้วย สมาคมนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้นั้น องค์กรนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยต่างเคลื่อนไหวโดยอิสระ ซึ่งไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับเวลา และโอกาส ในการร่วมกิจกรรมในแต่ละกิจกรรม เราหวังว่า ต่อไปเครือข่ายนักศึกษาจะมีโครงสร้างที่ชัดเจน มีโครงสร้างที่เข้มแข็ง
ทำไมถึงสนใจรณรงค์เคลื่อนไหวประเด็นแผนพัฒนาภาคใต้?
มัง – สาเหตุที่เราสนใจประเด็นแผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาและสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชาวบ้าน ละเมิดสิทธิชุมชน และละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และไม่เข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้
ผมมองว่า คนในชุมชนมีสิทธิที่จะจัดการทรัพยากรในชุมชนตนเองได้ แต่รัฐและนายทุนเข้าไปรังแก กระทำโดยใช้อำนาจเพื่อแย่งชิงฐานทรัพยากรของชาวบ้าน โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย สร้างภาพว่า แต่ละโครงการพัฒนาของรัฐนำความเจริญมาให้ แต่จริงๆแล้วชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย
ดังนั้นผมและเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จะขออยู่เคียงข้างชาวบ้าน
ที่ผ่านได้ร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นใดบ้าง
มัง – ที่ผ่านมาเราได้ร่วมเคลื่อนไหวกรณีชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
เรื่องที่เราเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกรณีชาวบ้านถูกกระทำ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐ เช่น ป.วิอาญา พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
มีนักศึกษาส่วนหนึ่งลงไปเยี่ยมพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เยี่ยมหญิงหม้าย ลูกกำพร้า
นอกจากนี้แล้วเราเคยร่วมทำกิจกรรมกับผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงด้วย
โรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดนครศรีธรรมราช?
มัง – นอกจากนี้แล้วเราเคยร่วมเคลื่อนไหวกรณีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเพื่อนจากเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ติดต่อประสานมายังเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
โดยเราไปร่วมสมทบกับกิจกรรมรณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในระหว่างวันที่ 22 – 24 มีนาคม 2554
กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา?
มัง – เราเห็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรณรงค์ไม่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เราจึงมองมายังกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน แต่ที่จังหวัดสตูลไม่มีมหาวิทยาลัยใดเลย ชาวบ้านที่ต่อสู้กันเองโดยลำพัง เราจึงตัดสินใจเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวด้วยกันกับพี่น้อง
กรณีพิพาทเรื่องที่ดินทำกินระหว่างชาวบ้านกับมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง?
มัง – ทราบว่าปัญหาพิพาทเรื่องที่ดินทำกินระหว่างชาวบ้านมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายปีแล้ว โดยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ในกรณีที่ชาวบ้านโดนมหาวิทยาลัยฟ้องร้อง ซึ่งเราจะเข้าไปร่วมด้วย แต่ก็เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว
กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช?
มัง – จริงๆแล้วเราอยากไปร่วมเคลื่อนไหวอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้ทางเราไม่มีข้อมูล เราจะต้องศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนมากว่านี้
เรียนรู้ภาพรวมของแผนพัฒนาภาคใต้อย่างไร?
หมัด – เรียนรู้จากพี่ๆเครือข่ายองค์พัฒนาภาคเอกชน(NGOs) ที่ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสังคม อาทิ พี่ๆเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ซึ่งมีข้อมูลโครงการต่างๆ พี่ๆเครือข่ายจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมทั้งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างท่อส่งก๊าซไทย – มาเลย์ ซึ่งส่วนหนึ่งของนักศึกษาได้เข้าไปมีส่วนร่วมตรงนั้นด้วย
เรียนรู้จากทำงานประสานกับชาวบ้าน โดยผ่านการร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ต่อมาได้รู้กรณีปัญหาของชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีกลุ่มนักศึกษาร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนนั้นๆ อยู่ อย่างเช่น เราลงพื้นที่ทำกิจกรรมที่ปากบารา แต่มีเครือข่ายนักศึกษาอีกกลุ่มที่ทำกิจกรรมอยู่ที่นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฏร์ธานี เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลุ่มเครือข่าย
กรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินทำกินระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณ กับชาวบ้าน ซึ่งแต่ก่อนเราไม่มีข้อมูลเลย มาอยู่กับพี่ๆ นักพัฒนาภาคเอกชน(NGOs) และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบซึ่งจะมีการเชื่อมเครือข่ายระหว่างจังหวัดเช่นกัน
นอกจากนี้แล้วก็หาข้อมูลเอาเองจากอินเตอร์เน็ทจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือได้
เดินทางไปร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งจะโบกรถ?
มัง – การโบกรถเป็นกระบวนการนักศึกษาอย่างหนึ่ง เราไม่อยากจะทิ้ง การโบกรถเป็นการสร้างอะไรหลายๆ อย่างให้กับนักศึกษา ซึ่งสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ในหมู่นักศึกษาด้วยกัน
อย่างตอนไปร่วมกิจกรรมรณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เราโบกรถจากจังหวัดปัตตานีไป โดยขอติดรถพ่วง 18 ล้อเดินทาง
เราเดินทางมาปากบาราก็เช่นกัน เราหลายๆคนโบกรถมาจากปัตตานี ต่อกันมาเป็นทอดๆ
ได้เรียนรู้อะไรจากการเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้าน?
มัง – เรียนรู้ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านจากแผนพัฒนาภาคใต้ที่จะส่งผลกระทบจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันเป็นจิ๊กซอว์ที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ ตอนแรกก็นึกไม่ถึงว่ามันเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทรัพยากร วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน
ในมุมของนักธุรกิจ โครงการแผนพัฒนาภาคใต้อาจพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ชาวบ้านกลับถูกละเมิด
แล้วชาวบ้านเรียนรู้อะไรจากนักศึกษาบ้าง?
มัง – ชาวบ้านจำนวนน้อยมากที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐ เราคล้ายกับเป็นนาฬิกาปลุก โดยเราเข้ามาพื้นที่ปลุกให้ชาวบ้านตื่นให้รับรู้ข้อมูล ว่ามีอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร
เมื่อชาวบ้านรู้ข้อมูลแล้ว ปรากฏว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เอาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เราก็ประกาศจุดยืนเพื่อแสดงพลังร่วมกับชาวบ้าน
มีความสัมพันธ์กับกลุ่มใดบ้างนอกจากชาวบ้าน?
มัง – เราสัมพันธ์กับนักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ไหม ผมตอบเลยว่า สัมพันธ์ในเรื่องการขอข้อมูลรายละเอียดโครงการต่างๆ ถามว่า เราเป็นเครื่องมือของนักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ไหม ผมไม่ยอมเป็นเครื่องมือของ NGOs แน่ๆ
เราใช้กระบวนการนักศึกษาในการทำงาน จะไม่ทำในสิ่งที่กระบวนการนักศึกษาทำไม่ได้ เราอยากให้เรียนรู้ด้วยกระบวนการนักศึกษามากกว่า
นอกจาก NGOs แล้ว เรายังสัมพันธ์กับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เป็นต้น
หมัด – นอกจากนี้เราทำค่ายเยาวชน โดยถ่ายทอด นำเสนอข้อมูลให้กับเยาวชนให้มีจิตสำนึกต่อสังคมตั้งแต่เด็กๆ
มองยังไงกับบทบาทของนักศึกษาในปัจจุบัน?
มัง – ปัจจุบันผมมองว่า ระบบการศึกษามีอะไรหลายๆอย่างที่มาครอบงำนักศึกษา เมื่อจบมัธยมแล้ว มาศึกษาต่อเพื่ออะไร เพื่อหวังใบปริญญาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ค่อยต้องการความรู้หรือประสบการณ์
นักศึกษาส่วนใหญ่มองว่า อาจารย์เป็นเทวดา อาจารย์สั่งอะไรนักศึกษาก็ต้องทำหมด ทั้งที่อาจารย์ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการและบังคับนักศึกษา อาจารย์เป็นแค่ผู้สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้เท่านั้นเอง นักศึกษากลัวอาจารย์
ผมมองว่าเรามีสิทธิ์ที่จะค้าน หรือถกเถียงกันด้วยเหตุผลกับอาจารย์ได้ ผมคิดว่านักศึกษาในปัจจุบันควรมีบทบาทต่อสังคม ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเหมือนในอดีต
สมัยก่อนนักศึกษามีบทบาทในสังคมมาก ทำให้เห็นภาพว่า ปัจจุบันนี้ ขบวนการนักศึกษาในสังคมหายไปไหนหมด ผมเคยตั้งคำถามว่า ผมเองเป็นนักศึกษาไหม ผมไม่กล้าเรียกตัวเองว่านักศึกษา เพราะผมไม่ได้ทำงานให้กับประชาชนเลย จริงๆแล้วนักศึกษาต้องทำงานเพื่อประชาชน
ตอนนี้นักศึกษามีพลังมากน้อยแค่ไหน?
หมัด – พลังนักศึกษาเป็นแค่พลังเล็กๆ แต่ถ้าในวันข้างหน้าที่มากว่านี้อาจเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่
มัง – อย่างน้อยที่สุด นักศึกษามาเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวบ้านให้สู้ต่อไป โดยบอกชาวบ้านว่า เราไม่ไปไหน เราจะอยู่เคียงข้างท่านนั่นแหละ พลังนักศึกษาอาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
วิชาในชั้นเรียนได้นำมาใช้กับกิจกรรมบ้างหรือไม่?
มัง – สามารถมาประยุกต์ใช้กับการรณรงค์เคลื่อนไหวได้น้อยมาก ทฤษฎีหลายๆอย่างในชั้นเรียนไม่ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริง ประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการคลุกคลีกับชาวบ้าน
แนวทางของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ในอนาคต?
หมัด - เราใช้วิธีการประสานงานผ่านนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมรณรงค์เคลื่อนไหว โดยหวังว่า จะนำไปสู่การเป็นเครือข่ายนักศึกษาที่มีโครงสร้างที่เข้มแข็งขึ้น
นอกจากนี้ เราใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) อาทิ เฟสบุค ทวิตเตอร์ ฯลฯ โดยมีการตั้งกลุ่มที่สนใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้โดยเฉพาะ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการและปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละโครงการ