10 May 2011
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
สัมภาษณ์พิเศษ ‘ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เรื่องการทำนโยบายใหม่ ความมั่นคงในชายแดนใต้ ภายใต้โครงสร้างใหม่ ชี้ไม่มีอะไรขัดข้องปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในชายแดนใต้ ยันครอบคลุมอัตลักษณ์ ความยุติธรรม พร้อมให้พื้นที่กลุ่มเห็นต่างๆ รับสมช.เป็นเจ้าภาพสนทนาเพื่อสันติภาพ(Dialogue/Peace talk)
จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่เดียวของประเทศไทยที่มีนโยบายทางด้านความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ อันเนื่องมาจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบ ล่าสุดระหว่างวันที่ 25 – 26 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2555 – 2557 ซึ่งเป็นนโยบายทางด้านความมั่นคงของพื้นที่อีกครั้ง
ความน่าสนใจ คือ การทำนโยบายครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงสร้างใหม่ หลังมีกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
และท่ามกลางการขับเคลื่อนของกลุ่มภาคประชาสังคม ทั้งในประเด็นอัตลักษณ์ ความยุติธรรม การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นชายแดนใต้ในรูปแบบพิเศษ รวมทั้งการให้พื้นที่แก่กลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ เพื่อให้ปรากฏอยู่ทั้งในนโยบายและการปฏิบัติของรัฐ
นโยบายฉบับใหม่ของ สมช.จะให้พื้นที่กับประเด็นเหล่านั้นอย่างไร อ่านสัมภาษณ์พิเศษ “ถวิล เปลี่ยนศรี” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ดังนี้
ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
-กระบวนการทำจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร การมีส่วนร่วมพื้นที่ของภาคประชาสังคมในพื้นที่ไปอยู่ในส่วนไหน โดยครอบคลุมในเรื่องอัตลักษณ์ ความยุติธรรม และการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
สมช.เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะหน่วยนโยบาย มีการทำนโยบายมาร่วม 20 ปีแล้ว เป็นนโยบายระยะ 5 ปีเป็นหลัก ทำมาหลายฉบับ แต่เป็นนโยบายที่ทำในรูปแบบเก่า
ล่าสุดทำนโยบายในรูปของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 206/2549 เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการแก้ปัญหาจนถึงทุกวันนี้
กระบวนการทำนโยบาย เริ่มจากการรับฟังความคิดความเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคประชาชน ภาคประสังคม ภาควิชาการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2553 ที่ให้มีการจัดตั้ง ศอ.บต.ขึ้นมาใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในมาตรา 4 กำหนดให้ สมช. มีหน้าที่ในการนำเสนอนโยบายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติ
หมายความว่า เดิมเรามีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมากำหนดตรงนี้ไว้ชัดเจน ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางที่สมช.ได้ทำอยู่แล้ว
ประเด็นสอง ขั้นตอน วิธีการที่จัดทำในมาตรา 4 ระบุไว้ชัดเจนว่า สมช.ต้องทำนโยบายในระยะ ต้องปรึกษาหารือใครบ้าง ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น ระบุไว้ว่า สมช.ต้องเสนอสภาความมั่นคงแห่งชาติ แล้วเสนอความเห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
ก่อนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ คณะรัฐมนตรีต้องเสนอแจ้งให้รัฐสภาเพื่อทราบ นี่เป็นกระบวนการใหม่เลย
กระบวนไปสู่รัฐสภาเราไม่มี แต่ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ บอกให้เสนอรัฐสภาเพื่อทราบ แล้วให้ส่วนราชการรับไปปฏิบัติ
ในกระบวนการรับไปปฏิบัติ กำหนดไว้ทั้งในพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 เนื่องจากมีงาน 2 ส่วน คือ ในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) กับในส่วนของ ศอ.บต. ซึ่งมีการแบ่งกันชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ในมาตรา 4 ระบุว่า นโยบายนี้ต้องทบทวนทุก 3 ปี หรือ ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นว่า จำเป็นต้องทบทวนก่อนให้เร็วกว่านั้น
ในการจัดทำนโยบายนี้ กำหนดไว้ว่า สมช.ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อให้นโยบายนั้นได้สะท้อนถึงลักษณะเฉพาะของความต้องการของพื้นที่ รวมทั้งอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์
นโยบายนี้จะครอบคลุมสองส่วนด้วยกัน คือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงกับการพัฒนา ที่สำคัญคือ เนื่องจากในพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ได้กำหนดให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่สภาปรึกษาให้กับ ศอ.บต.ด้วย ซึ่งสภาที่ปรึกษาชุดนี้ได้ผ่านการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว
ในมาตรา 4 ระบุว่า ต้องรับฟังความเห็นของที่ปรึกษาชุดนี้ ไปประกอบกับการพิจารณาด้วย ไม่ใช่พิจารณาให้ความเห็นชอบอย่างเดียว แต่ต้องรับความเห็นนั้นไปด้วย
นโยบายฉบับนี้ สมช.ต้องนำเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ จากนั้นนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีต้องแจ้งให้ที่ประชุมรัฐสภาทราบ จากนั้นให้ส่วนราชการนำไปสู่การปฏิบัติ
-นโยบายนี้ได้ให้พื้นที่กับคนที่เห็นต่าง ฝ่ายตรงข้าม/ฝ่ายที่ต่อสู้กับภาครัฐอยู่อย่างไรบ้าง
ในคำสั่งที่ 206 / 2549 ที่เป็นนโยบายปัจจุบัน เขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องเปิดพื้นที่ ต้องมีการสื่อสารพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐที่ชัดเจน เปิดโอกาสพูดให้ชัดเจน เรื่องนี้ยิ่งมีความจำเป็นยิ่งขึ้นในนโยบายใหม่
จริงๆไม่อยากพูดว่า ในนโยบายใหม่ควรจะประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะเรายังอยู่ในกระบวนการของการรับฟังความคิดเห็น เดี๋ยวจะเป็นการชี้นำ
แต่ผมมีความเห็นลึกๆ จากการที่ประมวลและจากการประเมินมาทั้งหมดว่า เรื่องการพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่างจากภาครัฐ เป็นเรื่องที่จำเป็น เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ ในนโยบายปัจจุบันก็ได้กำหนดไว้ และเป็นเรื่องที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
กฎหมายไม่ได้ห้ามที่จะพูดคุย เพราะการพูดคุยนั้น เป็นการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา และเป็นแนวทางที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดจากใครก็ตาม ผู้ที่ได้รับผลโดยตรงก็คือประชาชนในพื้นที่
เพราะฉะนั้นการที่มีการพูดคุยกัน เป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาอย่างสันติ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เหมาะสม ดีงามด้วยกันทั้งสิ้น
ยืนยันได้ว่า เรื่องนี้ได้มีดำเนินการอยู่ มีอยู่ในนโยบาย และน่าจะปรากฏอยู่ในนโยบายต่อไปด้วย ยืนยันได้ว่าเรื่องนี้ได้มีการวางระบบ มีการจัดตั้งช่องทางของการพูดคุย
เป็นการพูดคุยที่ไม่ใช่เป็นการต่อรอง แต่เป็นไดอาล็อก (Dialogue) หรือเป็นการสนทนา เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับคนที่อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน
วัตถุประสงค์ คือ เพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาในแนวทางที่ก่อประโยชน์สูงสุด โดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ก่อให้เกิดปัญหา
-แน่นอนว่า เรื่องการพูดคุยกับฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ สมช.ก็ต้องรับเป็นเจ้าภาพดำเนินการ และใส่ในนโยบายด้วย
แน่นอน หลายเรื่องที่เห็นว่า เป็นทางที่เหมาะสม เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย และต่อการพัฒนา เราก็ต้องรับมาใส่เอาไว้
เรื่องความเป็นธรรมยังเป็นปัญหาอยู่ไหม เรื่องการยอมรับลักษณะพิเศษบางอย่างของพื้นที่ ภาครัฐจะรับไหม ผมเรียนอย่างนี้ว่า ลักษณะพิเศษของพื้นที่มาจากสาเหตุของปัญหานี้
ตัวปัญหาจริงๆ คือ ความเป็นลักษณะเฉพาะของคนที่แตกต่างกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ภาษา ลักษณะเฉพาะอื่นๆ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาแตกต่างจากที่อื่นๆ
ถ้าเป็นเรื่องดีๆ มันไม่ใช่ปัญหา เราสามารถแก้ปัญหานี้ด้วยการเปิดกว้างให้มากยิ่งขึ้นต่อการมีส่วนร่วม ต่อการรับเอาความแตกต่างนี้เข้ามา เหมือนกับเราดูแจกัน ถ้าดอกไม้ดอกเดียวมันก็ไม่ได้สวยงาม
แต่โชคร้ายที่ว่า ในช่วงที่ผ่านมาในกลไกการทำงาน เรื่องการรับลักษณะเฉพาะพวกนี้เข้ามา แล้วลงไปทำงานนี้ มันยังไม่ก้าวหน้ามากพอ
เราก็มีปัญหาขึ้นมาว่า มีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ใช้ลักษณะเฉพาะนี้ขึ้นมาใช้ประโยชน์ จากเดิมที่ไม่เคยมีปัญหาก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมา รวมทั้งยังมีการเอาความคิด ความเชื่อทางด้านศาสนามาใช้ประโยชน์ในการทำให้เกิดความแตกแยก แตกต่าง และมีการต่อต้านรัฐบาลขึ้นมา
เรื่องพวกนี้สามารถจัดการด้วยระบบที่เป็นอยู่ได้ สร้างความแตกต่าง สร้างความมีลักษณะเฉพาะขึ้นมา รวมอยู่ในฐานะที่เป็นคนในประเทศไทยเหมือนกัน คนในพื้นที่จะรู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีมากยิ่งขึ้น เพราะลักษณะเฉพาะของตนเองได้รับการยอมรับ
เรายอมรับว่า เราทำงานเรื่องนี้อาจจะยังไม่เร็วพอ ไม่เป็นที่พอใจมากพอ และมีคนบางกลุ่มมาใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมา นี่คือปัญหาหลักๆ
แต่มีปัญหาอื่นๆ มาแทรกอีก คือ เรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ถูกนำไปอ้าง นำไปเล่าซ้ำ ส่วนพวกอิทธิพลอำนาจมืด น้ำมันเถื่อน ยาเสพติด สิ่งที่ผิดกฎหมายต่างๆพวกนี้ก็ทำให้ปัญหาซับซ้อนขึ้นไปอีก
-ที่มันยังไปไม่ไกล เพราะต้องมีการใหม่ตลอด
ความเปลี่ยนแปลงของภาคใต้ ในช่วง 20 ปีที่ผมมาทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่มีนัยยะสำคัญ คือมีความก้าวหน้ามากพอ แต่การนำสู่การปฏิบัติตั้งแต่อดีตมา มันยังไม่ทันใจ อาจยังไม่เพียงพอกับความคาดหวัง หรือการกระตุ้นจากอีกฝ่าย
จนกระทั่งวันนี้ ถามว่าเราทำงานด้านการเมือง ความยุติธรรม ความเป็นธรรม การยอมรับ การให้เกียรติ ผมว่ามันก็ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ถามว่ามากพอไหม แน่นอนไม่พอ เราก็ต้องทำงานต่อ
เพราะฉะนั้นนโยบายใหม่ ก็เป็นนโยบายที่ต่อเนื่องจากนโยบายเก่า และมีการปรับปรุง สิ่งที่ยังไม่ได้ดี สิ่งที่ยังบกพร่องและเป็นปัญหา ต้องทำให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการรับฟังทั้งภาคประชาชนที่มีส่วนต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหานี้ ก็จะทำให้ทราบถึงความคาดหวังและปัญหาที่เป็นผลกระทบจากเขา
นอกจากนี้ เราจะได้รับฟังภาครัฐด้วยว่า มีอะไรบ้างที่คิดว่ายังเป็นปัญหาอยู่ อะไรที่อยากจะเสนอแนะเพิ่มเติม อะไรที่เป็นข้อจำกัดของตัวเองที่เห็นว่า ยังทำให้เขาทำงานยังไม่เต็มที่ ทั้งระบบการบริหารจัดการ งบประมาณหรือเรื่องไหนบ้างที่อยากเพิ่มเติม ที่คิดว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว รวมทั้งสิ่งที่ภาคปะชาชนชี้ให้เห็นว่า ตัวเจ้าหน้าที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เขาคิดอย่างไร พวกนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติด้วย
ยกตัวอย่างเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ที่มีการยกเว้นพื้นที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ที่ใช้มา 6 ปีแล้ว ถามว่ามีความจำเป็นไหม แน่นอนมีความจำเป็น เพราะมีการต่อสู้อยู่ ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนค่อนข้างมาก
เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายที่ให้อำนาจมากขึ้น เป็นกฎหมายที่คุ้มครองเขาได้ระดับหนึ่ง ให้เขาสามารถทำงานได้ สามารถช่วยให้การทำงานก้าวหน้าขึ้น ในแง่การสืบสวนสอบสวนขยายผลไปสู่โครงข่ายของความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้
อันนี้เป็นด้านดี แต่ก็มีด้านที่ไม่ดี เราก็รู้ว่ามีผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจเกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยพลาด หรือโดยอะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดผลกระทบขึ้นมา อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ที่บริสุทธิ์ สร้างความโกรธแค้น ซึ่งในที่สุดแล้วมันต้องนำไปสู่การยกเลิก ผมมองว่า ทิศทางข้างหน้าจะนำไปสู่การใช้กฎหมายปกติ
แต่ถามว่าการใช้กฎหมายปกติ จะเป็นการลดประสิทธิภาพในการควบคุมการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหรือไม่ ก็ต้องไม่นำไปสู่จุดนั้น หมายความว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีความสามารถดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยมากขึ้นด้วย
-แล้วเมื่อไหร่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เรายกเลิกที่ 4 อำเภอของสงขลา และพื้นที่นำร่องที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ยังมีการพูดถึงการยกเลิกที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และที่อื่นๆ คงจะค่อยๆ ยกเลิกไป แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณของภาครัฐต่อเจ้าหน้าที่รัฐว่า ต้องไม่หลงอยู่กับอำนาจที่เด็ดขาด เพราะการใช้กฎหมายที่ให้อำนาจเด็ดขาด แม้ว่าจะมีการระมัดระวัง มีการกำชับว่า ต้องระมัดระวัง มันก็มีโอกาสพลาด มีโอกาสที่ยังเข้าใจผิดได้
-จะทำอย่างไรที่จะให้มีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมา มีการพูดถึงว่า นโยบายดีแต่การปฏิบัติยังมีปัญหา
ต้องทำหลายอย่าง ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาอาจยังทำได้ไม่เต็มที่มากนัก แต่ผมคิดว่า มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ตั้งแต่มีการปรับปรุงนโยบายมา ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เจ้าหน้าที่รัฐตระหนักรับรู้ว่า ยังมีปัญหานี้อยู่
มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน ความละเอียด รอบคอบ แน่นอน แต่จะปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำไปวันต่อวันแล้วค่อยๆ แก้ไป แต่จะปล่อยให้ผิดบ้างถูกบ้างคงไม่ได้
มีการปรับในเชิงของนโยบายบริหารจัดการ เช่น การร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการ ศอ.บต.ให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ตัวผู้อำนวยการ ศอ.บต.ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.มีอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบที่ชัดจนยิ่งขึ้นที่จะอำนวยการบริหารจัดการและการประสานงานกับฝ่ายต่างๆได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ก็สามารถที่จะโฟกัส (เฉพาะเจาะจง) หรือเน้นงานที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น
ในกระบวนการจัดทำนโยบาย มีการรับฟังในแต่ละภาคส่วนของการมีส่วนร่วม รวมทั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกระบวนการนำไปสู่การปฏิบัติก็ให้มีการรับฟัง โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเสนอแนะ ให้คำแนะนำต่อเลขาธิการ ศอ.บต. รวมทั้งติดตามการทำงานด้วย
นอกจากเลขาธิการ ศอ.บต.มีอำนาจในการปรับ โยกย้ายกำลังพลที่มีปัญหาให้ออกนอกพื้นที่ได้แล้ว ในพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ยังได้ยกคณะรัฐมนตรีมาไว้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งก็คือ กพต. หรือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กพต.) หรือที่เรียกว่า คณะรัฐมนตรีภาคใต้(ครม.ใต้) นั่นเอง
กพต. มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน นอกจากนั้นมีรองนายกรัฐมนรีตและรัฐมนตรีที่สำคัญๆ เกือบครบทุกกระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กลาโหม พาณิชย์ อุตสาหกรรม การต่างประเทศ เป็นต้น โดยมีเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นเลขานุการ กพต.
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ต้องส่งตรงไปที่ กพต.ซึ่งเปรียบเสมือนคณะรัฐมนตรีชายแดนใต้ชุดนี้ การตัดสินใจอะไรต่างๆ ก็จะฉับไวมากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา กพต.มีการประชุมสักครั้งหรือสองครั้ง เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีมาเมื่อปี 2553 แม้แต่นโยบายสมช.ในเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังไม่ได้เสนอ ซึ่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 บอกให้เสนอ กพต.ด้วย แต่ยังไม่ได้เสนอ เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการจัดทำนโยบาย คาดว่าอีกเดือนหรือสองเดือนคงจะเสนอได้
-ในการประชุมรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและภาควิชาการ มีการพูดถึงรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย สมช.มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร
ขณะนี้พื้นที่ 3 จังหวัดหรือ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มีการปกครองแบบพิเศษอยู่แล้ว คณะรัฐมนตรีให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้ ซึ่งมีที่ไหนบ้างที่มีรัฐมนตรีทั้งคณะลดรูปลงมาให้ความสนใจกับพื้นที่นี้ ซึ่งนั่นผมว่าพิเศษแล้ว
ในช่วงที่ผ่านมา นโยบายการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ไม่มีเขียนไว้ที่อื่น มีที่นี่ที่เดียว ลักษณะของการเข้มงวด กวดขันกับการส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติกับคนในพื้นที่ การให้คุณให้โทษต่อเจ้าหน้าที่ หรือรวมทั้งอำนาจของเลขาธิการ ศอ.บต.ที่จะเอาคนไม่ดีออกไป เอาคนดีเข้ามาทำงาน
เพราะฉะนั้นผมมองเห็นได้โดยไม่ต้องพูดถึงลักษณะการปกครองพิเศษ ในพื้นที่มีการบริหารงานแบบพิเศษอยู่แล้ว
-คนในพื้นที่พูดถึงในเรื่องการกระจายอำนาจ โดยให้อำนาจแก่คนในพื้นที่มากขึ้นในการบริหารจัดการพื้นที่ตรงนี้
ถ้าพูดในลักษณะเช่นนั้น ขณะนี้เราก็มีการกระจายอำนาจในรูปแบบที่เราทำอยู่แล้ว ทั้งรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ตั้งแต่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา จนกระทั่งมาถึงในรูปแบบทั่วไป คือ อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) อบจ.(องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล ก็มีหลายระดับ
การปกครองแบบนี้สามารถไปได้อยู่แล้ว แต่ต้องดูลักษณะของพื้นที่นี้ว่า จะเป็นอย่างไร อย่างเช่น จะทำให้เป็นแบบกรุงเทพมหานครได้ไหม ลักษณะมันก็ต่างกันไปเลย เพราะชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพหานคร ทำแบบพัทยาได้ไหม ที่ตรงนี้ก็ไม่เหมือนพัทยา
เพราะฉะนั้น มันอาจจะมีรูปแบบที่มีอยู่ อย่าง อบต. อบจ. เทศบาล อบจ. ที่อาจจะขยายใหญ่ขึ้น ที่อาจอยู่ในกฎหมายที่มีอยู่แล้ว
หรือถ้ามีความจำเป็น มีประโยชน์ มีความเหมาะสม ผ่านการคิด การกลั่นกรองแล้ว อาจจะมีรูปแบบพิเศษ ออกกฎหมายพิเศษขึ้นมาก็ได้อยู่ดี แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้กฎหมาย ภายใต้คนที่เป็นอยู่ ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่ต้องไปขัดข้อง อยู่ที่ว่ามันจำเป็นไหม ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร ประโยชน์ตกที่ภาคประชาชนไหม จะสามารถดูแลความสงบเรียบร้อย เอาความสงบร่มเย็นกลับมาสู่ประชาชนได้ไหม ประชาชนสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้หรือเปล่า อยู่ตรงนั้นมากกว่า
แต่จะไปพูดว่า รูปแบบมหานครปัตตานีถูกไหม หรืออะไรต่างๆ อันนี้ผมยังไม่อยากกระโดดไปถึงตรงนั้น เพราะยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่เราควรจะดูก่อนว่า เราต้องการอะไรบ้าง ควรจะมีอะไรบ้าง ถึงจะบอกว่า นี่เรียกว่าอะไร แต่ไม่ใช่บอกว่า ต้องเรียกอย่างนี้ ยังไม่รู้ว่า เรียกว่าอะไร
มีการนำเสนอแบบแปลกใหม่ออกมา เรื่องการมีอำนาจมากขึ้นของคนในพื้นที่ ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่นี้ แต่เป็นทุกๆ พื้นที่ในประเทศ เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนมากขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว
-สถานการณ์ทางการเมืองในส่วนกลางที่เป็นอยู่ตอนนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะในมุมมองของคนส่วนกลางมองว่า ยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ หรือจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือเปล่า และรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร
เรื่องภาคใต้มีการพัฒนามาเป็นลำดับของการแก้ไขปัญหา ในอดีตที่ผ่านมา มีการลองผิดลองถูกของภาคการเมืองอยู่หลายครั้ง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำอะไรวันนี้อย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เอาอีกอย่าง ต้องใช้เหตุใช้ผล
ผมคิดว่าที่เราทำงานมา ได้ใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต ทำงานโดยรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทำงานโดยลงไปทำประโยชน์อย่างแท้จริงในพื้นที่กับประเทศชาติ เราทำมาบนพื้นฐานนี้
ถามว่า การเมืองทำให้เปลี่ยนแปลงได้ไหม เปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล ด้วยการพินิจพิจารณา และถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปด้วยการพินิจพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล อย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้
แต่ผมเชื่อว่า ในระยะเวลาอันสั้น คงจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ถึงแม้ว่าสถานการณ์การเมืองจะยังไม่มีเสถียรภาพ แต่น่าจะอยู่ตรงที่มีการปรับกระบวนการทำงาน ปรับกระบวนการปฏิบัติตามนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ฝ่ายการเมืองเข้ามา ก็น่าจะมีภารกิจสำคัญที่ว่า พยายามที่จะสนับสนุน กำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบาย การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนที่ผ่านมา
แม้ว่า ที่ผ่านมา เมื่อการเมืองเปลี่ยน นโยบายหรือโครงการก็เปลี่ยนไปด้วย แต่ที่ผมเห็นสำหรับภาคใต้ คือ การเมืองไม่ได้มีมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่มากนัก การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็มีชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีนโยบายอะไรที่ต้องยกเลิกทันทีทันใด
หน้าที่ของรัฐบาลก็ทำให้มีความสงบสุข ทำให้เกิดความเจริญ มีการพัฒนาในพื้นที่ นโยบายอะไรที่ดีอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ก็คิดดีแล้ว ฝ่ายการเมืองก็คงจะรับ