Skip to main content

 

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

           นายประทีป มีคติธรรม คณะทำงานติดตามแผนพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ได้มีการพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่มีชาวบ้านคนใดรับทราบเรื่องการออกพระราชกฤษฎีเวนคืนที่ดินฉบับนี้มาก่อน
           “ผมพบพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ปรากฏในอินเตอร์เน็ตโดยบังเอิญ เบื้องต้นได้นำพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ไปถ่ายเอกสารแจกจ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นจะหารือกับเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นายประทีปกล่าว
            นายประทีป กล่าวว่า ผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวงคือ สูญเสียที่ดินทำกินเนื่องจากการก่อสร้างคลองกว่า 3,000 ไร่ มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 1,000 ราย หากมีการก่อสร้างคลองส่งน้ำความกว้าง 5–55 เมตร ระยะทางเกือบ 40 กิโลเมตร ต้องยกคันคูสูงขึ้นจากพื้นกลายเป็นเขื่อนขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังตามแนวคลองส่งน้ำรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ขณะที่โครงการฯลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ส่งน้ำไปใช้ประโยชน์ได้เพียงแค่ 4 เดือนต่อปีเท่านั้น และบางปีแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย
            นายประทีป กล่าวต่อไปว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เป็นโครงการที่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงไม่มีการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำจืดไปเลี้ยงระบบนิเวศชายฝั่งโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ซึ่งจะทำให้น้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อระบบประปาของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และปัญหาขาดน้ำจืดลงไปผลักดันน้ำเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประมงเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น ปลาในกระชัง ความเค็มที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนอ่าวบ้านดอน เป็นต้น
            “ก่อนหน้านี้กรมชลประทานส่งเจ้าหน้าที่ปักหลักหมุดเสาปูนเป็นแนวคลองส่งน้ำขนาดกว้าง 55 เมตร ในพื้นที่ จุดที่เป็นบ้านพื้นปูนก็ตอกตะปูและลงสีแดงขนาดเท่าหัวเสาปูนเป็นเครื่องหมาย เมื่อชาวบ้านเห็นก็ไล่ออกจากพื้นที่ พอพระราชกฤษฎีกาฯ ออกมาแบบนี้ ชาวบ้านมีโจทย์ใหญ่ว่า หลังจากนี้จะคัดค้านโครงการกันอย่างไร” นายประทีป กล่าว
             ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ที่วัดยางงาม ตำบลหนองไทร อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะได้เดินทางมารับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการและประชาชนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าโครงการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและชุมชน
             จากการรับฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆ ทางคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรมีความเห็นว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำ-ตาปี เป็นโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2510 สำรวจมาตั้งแต่ปี 2533 สมัยนั้นยังมีที่นาอยู่มาก ขณะที่ปัจจุบันพื้นที่ทำนาเปลี่ยนเป็นสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ลักษณะการใช้น้ำต่างกัน โครงการจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่สอดคล้องความต้องการใช้น้ำของภาคเกษตรกรในปัจจุบัน
ลักษณะโครงการไม่มีการศึกษารายละเอียด ผลกระทบชุมชน พืชเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้โครงการหลีกเลี่ยงการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดตัวเลขพื้นที่ดำเนินโครงการไว้เพียง 73,890 ไร่ จงใจหลีกเลี่ยงไม่ทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งที่ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ชลประทานที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า 80,000 ไร่ จากการขยายโครงการในระยะต่อไป ซึ่งเข้าข่ายจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
              ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างหัวงานและคลองส่งน้ำ ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เพราะกระทบต่อพืชเศรษฐกิจหลัก คือสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากในช่วงที่วางแผนโครงการราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 14 บาท แต่ปัจจุบันราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท การประกาศกฤษฎีการเวนคืนที่ดินฯ และการดำเนินโครงการดังกล่าว ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจ ทั้งที่ประชาชนมีสิทธิจัดการและกำหนดวิถีชีวิตของชุมชน ตามฐานทรัพยากรธรรมชาติ
              จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ แม้กรมชลประทานจะชี้แจงว่า มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกว่า 40 ครั้ง แต่ปรากฏว่าประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบไม่เคยได้รับเชิญเข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงแต่อย่างใด นอกจากนี้การเข้าไปปักหลักหมุดของกรมชลประทานในเขตบ้านเรือน สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมันของชาวบ้าน โดยไม่มีการแจ้งว่าทำเพื่อการใด ยังส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความแตกตื่น ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเป็นการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต
               สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เป็นโครงการที่ทางเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ซึ่งรวมตัวกัน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552 ออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการฯ ไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่, กรมชลประทาน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายดำริห์ บุญจริง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา เป็นต้น
 

 

 

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จังหวัดสุราษฎ์ธานี

1. ความเป็นมา
                1.1 ตั้งแต่ปี 2510 กรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ในลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ประกอบด้วย เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) และเขื่อนแก่งกรุง (เขื่อนคลองยัน) กรมชลประทานได้โอนงานก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา และเขื่อนแก่งกรุงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ ก่อสร้างเขื่อนรัชชประภาแล้วเสร็จในปี 2530
                 1.2 ในปี 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รับไปดำเนินการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบชลประทานที่ล่าสุด โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานที่จะได้จากการก่อสร้างเขื่อนแก่งกรุง และกรมชลประทานได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2537 ปรากฏว่าโครงการมีความเหมาะสมต่ำ เนื่องจากจำเป็นต้องอพยพราษฎรและต้องลงทุนค่าชดเชยทรัพย์สินสูง ทำให้ได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ประกอบกับเขื่อนแก่งกรุงมีกระแสต่อต้าน และได้ระงับการดำเนินงานเอาไว้ก่อน
                  1.3 กรมชลประทานจึงได้พิจารณาการใช้ประโยชน์จากน้ำที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนรัชชประภามาใช้ประโยชน์ จึงได้ทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสม โดยพิจารณาการพัฒนาชลประทานสูบน้ำจากแม่น้ำพุมดวง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 73,980 ไร่ มีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เป็นการบริหารจัดการน้ำหลังจากการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนรัชชประภา มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

2. ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการโครงการ
                  เขื่อนรัชชประภาได้ปล่อยน้ำจากท้ายเขื่อนเนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีปริมาณน้ำจากคลองสาขาไหลมารวมในแม่น้ำพุมดวงอีกประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำพุมดวงประมาณ 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ไหลลงสู่ทะเลโดยไม่มีการนำน้ำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

3. วัตถุประสงค์โครงการ
      1. เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่
      2. เพื่อการอุปโภค–บริโภค
      3. เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

4. รายละเอียดของโครงการ
      4.1 ที่ตั้งโครงการ ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี
      4.2 ลักษณะทางวิศวกรรมของโครงการ
             (1) สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวมทั้ง 33.16 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบด้วย
                   - เครื่องสูบน้ำขนาด 1.93 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง
                   - เครื่องสูบน้ำขนาด 2.12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง
             (2) ระบบส่งน้ำ ความยาวรวมประมาณ 139 กม.
             (3) ระบบระบายน้ำความยาวรวมประมาณ 83 กม.

5. ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (พ.ศ. 2552–2559)

6. งบประมาณ วงเงินโครงการทั้งสิ้น 3,330.00 ล้านบาท

 

  - งบบุคลากร                    

77.00

ล้านบาท

  - งบดำเนินงาน           

41.00

ล้านบาท

  - งบลงทุน                   

3,107.24

ล้านบาท

  - เผื่อเหลือเผื่อขาด          

104.76

ล้านบาท

มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละปี ดังนี้

 

ปีงบประมาณ พ.ศ.

จำนวนเงิน (ล้านบาท)

2552

262.81

2553

 296.69

2554

 525.99

2555

 637.77

2556

 732.57

2557

 346.32

2558

 251.99

2559

 175.86

รวม

 3,330.00

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

7. การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์
        ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 2552

   ที่อัตราคิดลดร้อยละ

8

10

12

 

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน (B/C)

1.70

1.50

1.19

 

มูลค่าผลประโยชน์ปัจจุบันสุทธิ (NPV)

1,842

1,262

440

ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์(EIRR)

13.60

13.60

13.60

%

8. ประโยชน์ของโครงการ
           1. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 73,980 ไร่ โดยสามารถส่งน้ำในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่
           2. มีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค
           3. เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
9. ผลกระทบจากการอนุมัติโครงการ
           เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฏร์ธานีแล้ว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการในการจ่ายทดแทนทรัพย์สินไว้ในแผนงานโครงการแล้ว

10. สถานภาพโครงการ
          - ด้านแบบก่อสร้าง แบบ และรายละเอียดด้านวิศวกรรมแล้วเสร็จ 100% (เสร็จปี 2544)
          - ด้านการจัดหาที่ดิน การสำรวจปักหลักเขตแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขอคำขอรังวัดจากเจ้าของที่ดิน (ประมาณ 2,000 ราย)
          - รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมปี 2535
          - การมีส่วนรวมของประชาชน กรมชลประทานได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ รวมทั้งระดับหมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 40 ครั้ง

ที่มา : กรมชลประทาน