Skip to main content

มูฮำหมัด ดือราแม โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ประชาไท

 

                       รายงานตัว - เจ้าหน้าที่ทหารรับการรายงานตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดสงขลา ที่เข้ารายงานตัวเพื่อเข้าอบรมแทนการถูกจำขังตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคง ที่หน่วยเฉพาะกิจสงขลา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

                    เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ที่หน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.)สงขลา ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ศูนย์รับรายงานตัวข้างต้น ประจำหน่วยเฉพาะกิจสงขลาได้รับการรายงานตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 4 ราย ที่สมัครใจเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แทนการถูกจำขัง ซึ่งทั้ง 4 ราย เป็นผู้ต้องหาชุดแรกที่เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 นับตั้งแต่มีการบังคับใช้ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา
                    โดยในช่วงเช้าวันเดียวกัน ผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย พร้อมญาติ ได้เดินทางมารายงานตัวที่ศูนย์รับรายงานตัวข้างต้น จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำเข้ากระบวนการ โดยเริ่มจากการลงทะเบียน จากนั้นซักประวัติการกระทำความผิด โดยมีตรวจสอบหมายจับของแต่ละคน ต่อด้วยการทำความเข้าใจกับผู้ต้องหาและญาติเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการการดำเนินการตามมาตรา 21

 

                       สอบสวนพิเศษ – บรรยากาศในการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนพิเศษ ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง ภายในหน่วยเฉพาะกิจสงขลา

                     ทั้ง 4 ราย มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นผู้ต้องหาในคดีลอบวางระเบิดตลาดนัดนิคมเทพา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2554 โดย 3 คนถูกจับกุมและได้ประกันตัวเพื่อปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนอีก 1 คน ถูกซัดทอด จึงติดขอรายงานตัวพร้อมกัน ทั้งนี้ ในพื้นที่ของหน่วยเฉพาะกินสงขลาได้มีการจัดแบ่งพื้นที่ไว้เป็นสัดส่วนสำหรับกระบวนการรายงานตัวและการสอบสวน
                     หลังรับการรายงานตัว เจ้าหน้าที่จึงได้พิจารณาคัดแยกผู้รายงานตัวทั้ง 4 คน ว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศเรื่องการกำหนดลักษณะฐานความผิดตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 จากนั้นนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนพิเศษทันที ซึ่งมีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีเป็นเลขานุการ สลับกับนำผู้ต้องหาแต่ละคนมาตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะและเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยใช้เวลาทั้งวัน ก่อนจะแยกย้ายกลับบ้านในเวลาประมาณ 16.00 น.
                     นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เปิดเผยว่า การพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนพิเศษ จะทำงานควบคู่กับคณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย ระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน แต่สามารถขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน
                     นายกิตติ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับผู้ที่คณะกรรมการสอบสวนพิเศษเห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ได้ ประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคง ก็จะส่งกลับภูมิลำเนา หรือ ส่งเข้าอบรมโครงการอื่น หรือถูกส่งตัวดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยคณะกรรมการสอบสวนพิเศษจะพิจารณาว่า ผู้ต้องหากำทำผิดโดยหลงผิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงหรือไม่
                     นายกิตติ เปิดเผยต่อไปว่า ขณะเดียวกันก็จะส่งสำนวนให้คณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย พิจารณาช่วยเหลือผู้ที่ถูกผู้ต้องหากระทำหรือช่วยเหลือตามความต้องการของชุมชน และเจรจาไกล่เกลี่ยว่าจะยอมให้ผู้ต้องหาเข้ารับการอบรมแทนการถูกดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งการช่วยเหลือนั้นต้องเป็นที่พอใจของผู้ถูกกระทำ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะประกอบด้วยผู้นำในหมู่บ้าน ผู้นำศาสนาด้วย เป็นต้น
                     นายกิตติ เปิดเผยต่อไปว่า จากนั้นจึงมีการสรุปสำนวนทั้งหมดว่า ผู้ต้องหารายนี้มีความผิดจริงและสมควรเข้ารับการอบรมแทนการฟ้องร้องดำเนินคดี โดยส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองผู้เข้ารับการอบรมแทนการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป จากนั้นจึงส่งให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พิจารณา หากเห็นด้วยก็จะส่งต่อไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้จำเลยเข้ารับการอบรมแทนการถูกดำเนินคดี โดยเข้าอบรมไม่เกิน 6 เดือนตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อครบ 6 เดือนแล้ว กฎหมายระบุว่า สิทธิในการฟ้องร้องเป็นอันระงับ หมายถึงไม่ต้องดำเนินคดีต่อไป
                      นายกิตติ เปิดเผยต่อไปว่า ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มีผู้ต้องหาที่เข้าข่ายที่สามารถดำเนินการตามมาตรา 21 มีอีก 25 คน แต่ยังไม่มีใครสมัครใจเข้ามา แม้ว่าที่ผ่านมาได้มีการติดต่อผ่านทางญาติและมีการส่งข่าวเรื่องการอบรมแทนการถูกฟ้องดำเนินคดีมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าเข้ามารายงานตัว โดยบางคนให้เหตุผลว่า ไม่รู้ว่าตัวเองมีหมายจับกี่คดี
                      นายกิตติ เปิดเผยด้วยว่า การที่ผู้ต้องหาจะเข้ามารายงานตัวครั้งนี้ ได้มีการติดต่อพูดคุยกับญาติมาหลายครั้งแล้ว รวมทั้งการเข้าไปพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน เพื่อให้เข้าใจนโยบายและการดำเนินการตามกระบวนการนี้ เพื่อให้คนที่จะมารายงานตัวมีความมั่นใจและเข้าใจจริงๆ และเพื่อให้สังคมรับรู้และยอมรับได้ว่า จะให้คนที่เคยทำผิดอย่างการฆ่าคน มาเข้ารับการอบรมแทนการถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะคนทั่วไปยอมรับ
                      “ดังนั้น เมื่อเข้ามารายงานตัวแล้ว จึงต้องมีกระบวนการกลั่นกรองที่ละเอียดหลายขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด”นายกิตติ กล่าว
                      พล.ต.ธฤทธิ์ สุนทร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาอีก 25 คน เป็นผู้ที่ถูกออกหมายจับมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมที่บ้านทุกวัน เพื่อบอกให้ออกมารายงานตัวเพื่อเข้าอบรมแทนการถูกฟ้องดำเนินคดี แต่ยังไม่มีใครออกมา คิดว่าน่าจะรอดูทั้ง 4 รายนี้ก่อนว่าการดำเนินการจะเป็นอย่างไร
                     “ผู้ที่มารายงานตัวตามมาตรา 21 นี้ ต้องสมัครใจและสำนึกผิดจริงๆ ไม่ใช่มาเพื่อฟอกตัว เช่น ไปก่อเหตุนอกพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลาด้วย แล้วมารายงานตัวเพื่อไม่ให้ถูกจับเข้าคุกอันนี้ไม่ได้ มาแล้วก็ต้องบอกให้หมดว่าตัวเองทำอะไรบ้าง และต้องเป็นประโยชน์กับความมั่นคงด้วย เช่น สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายกลุ่มก่อความไม่สงบ เป็นต้น”พล.ต.ธฤทธิ์ กล่าว
                     พล.ต.ธฤทธิ์ กล่าวว่า ส่วนในกรณีที่ผู้เข้ารับการอบรมแล้ว ไม่กล้ากลับบ้านเพราะกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยนั้น ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่คงจะไปดูแลให้อย่างเต็มที่จริงๆ คงไม่ได้ เพราะบางคน หากเป็นคดีที่ไม่มีผู้ถูกกระทำ เช่น เผาโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเป็นของรัฐ รัฐคงไม่โกรธ แต่ถ้ามีผู้ถูกกระทำด้วยอันนี้อันตราย เพราะฉะนั้นคณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย จึงต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลจนพอใจ และไม่ถือโกรธแล้ว
                      พล.ต.ธฤทธิ์ กล่าวว่า แต่หากผู้เข้ารับการอบรมยังไม่กล้าที่จะกลับไปอยู่ที่บ้าน ทางเจ้าหน้าที่จะมีเซฟเฮาส์ให้ ชื่อว่า บ้านควนดิน อยู่ตรงข้ามกับค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถ้ายังไม่กล้าอีกก็จะสถานที่รองรับไว้ ซึ่งทางศอ.บต.ได้จัดเตรียมไว้แล้ว ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ พร้อมจัดหาอาชีพให้ทำด้วย
                     ผู้ต้องหารายหนึ่งที่เข้ารายงานตัวครั้งนี้ด้วย เปิดเผยว่า ตนเองสมัครใจที่จะเข้ารับการอบรมแทนการถูกฟ้องดำเนินคดี เพราะไม่อยากหลบหนี โดยที่ผ่านมามีการติดต่อมาหลายครั้งผ่านคนในหมู่บ้าน เหตุที่ตนก่อเหตุเพราะได้เข้าขบวนการโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากได้เข้าไปศึกษาที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งที่นั่นมีการจัดของขบวนการก่อความไม่สงบ โดยตนไม่ทราบมาก่อน จึงทำให้ต้องเข้าไปอยู่ในขบวนการด้วย