แซมซู แยะแยง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี จังหวัดปัตตานี สมาคมปัญญาชนมุสลิมร่วมกับ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มปัญญาชนมุสลิมเรื่อง “ไฟใต้ดับด้วยการกระจายอำนาจ?” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ประกอบด้วย ปัญญาชนมุสลิมหลายอาชีพ อุสตาซ(ครูสอนศาสนาอิสลาม) นักธุรกิจ สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาสังคม
ในเวทีมีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ.... ให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความเห็น และมีการเปิดประเด็นเรื่อง“ไฟใต้ดับด้วยการกระจายอำนาจ? โดย นายอุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอัคคชา พรหมสูตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชค หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บรรยาย
ตัวแทนกลุ่มปัญญาชนจากจังหวัดปัตตานี เสนอให้แก้ไขชื่อ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร เป็น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการปัตตานีดารุสสลามหรือปัตตานีสันติธานี รวมทั้งให้มีเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ส่วนสงขลากับสตูลถ้าเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ให้เพิ่มภายหลัง
“เพราะปัญหาหนักจริงๆตอนนี้อยู่ที่ 3 จังหวัดนี้ และให้แก้ไขให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาปัตตานีมหานครมีอายุ 40 ปีขึ้นไป รวมถึงต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาซูรอ (สภาที่ปรึกษา) ที่มีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วนด้วย”
ส่วนตัวแทนกลุ่มปัญญาชนจากจังหวัดยะลา เสนอให้มีผู้ว่าการมหานครปัตตานีมาจากการเลือกตั้ง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาร่วมพิจารณาด้วย ส่วนรองผู้ว่าไม่ต้องระบุศาสนา
“ปัตตานีมหานครต้องประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ด้านงบประมาณให้คนในพื้นที่บริหารจัดการกันเอง ส่วนทรัพยากรนั้นให้มีการตกลงผลประโยชน์กับส่วนกลางให้ลงตัว”
นายอัคคชา กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายที่สุดในเรื่องการกระจายอำนาจคือการฝ่าด่านกระทรวงมหาดไทย ถ้าแนวคิดปัตตานีมหานครเป็นจริงได้ ก็จะเปรียบเสมือนโดมิโนที่จะติดต่อไปยังส่วนอื่นๆของประเทศไทย เพราะการให้อำนาจคนในท้องถิ่น สามารถปกครองด้วยกันเองได้ คือการกระจายอำนาจที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้คนในท้องถิ่นนั้น รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของบ้านไม่ใช่แค่เพียงผู้อาศัย
รศ.ดร.ฉันทนา กล่าวว่า รูปแบบการกระจายอำนายต้องเน้นในข้อตกลงร่วมกันระหว่างส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง ต้องอยู่ในจุดที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย คือท้องถิ่นเปรียบเสมือนการต้องการรักษาการปัจเจกบุคคลที่เป็นตัวของตัวเอง จะเกิดความมั่นใจในการอยู่ร่วมกันกับคนกลุ่มใหญ่ คือส่วนกลาง โดยรูปแบบต้องให้คนในท้องถิ่นกำหนดเองทั้งด้านการศึกษา ศาสนา เศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ต้องให้คนในท้องถิ่นพิจารณากันเอง แต่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับส่วนกลางด้วย