Skip to main content

แซมซู แยะแยง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ลุกมาน มะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท

 

                นายซูการ์โน มะทา ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดยะลา พรรคเพื่อไทย เป็นน้องชายของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีอีกฐานะเป็นอดีตแกนนำกลุ่มวะห์ดะห์ กลุ่มการเมืองมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกพันธนาการทางการเมือง ในฐานะหนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111
                ภายใต้สถานการณ์การเลือกตั้ง ที่กลุ่มวะดะห์แตกกระจัดกระจายออกไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น นายซูการ์โน มะทา ผู้เป็นตัวตายตัวแทนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังคงยืนหยัดอยู่กับพรรคเพื่อไทย พร้อมกับชูนโยบายกระจายอำนาจตั้ง “นครปัตตานี” แก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียด ที่ถอดออกมาจากแถบบันทึกเสียงคำต่อคำ

-พรรคเพื่อไทยมีนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

                ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เกิดขึ้นมา 6–7 ปี ดังนั้น เราจะมองปัญหาแค่ใน 7 ปีที่ผ่านมา แล้วไปตีโจทย์ว่า ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกดขี่ ได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมกัน ต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือต้องการเป็นรัฐปัตตานีดารุสลามแค่นั้น ไม่มีใครกล้าพูดความจริงว่า ประวัติศาสตร์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นมาอย่างไร
                ประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ที่นี่คือปัตตานีดารุสสลาม ต่อมาถูกแบ่งแยกการปกครองออกเป็น 7 หัวเมือง
                หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พยายามทำให้ประวัติศาสตร์ของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หายไป บังคับให้คนไทยทุกคนสวมหมวก ผู้ชายต้องสวมกางเกง ห้ามนุ่งโสร่ง กระทบกับวิถีชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคนในพื้นที่เป็นชาวมุสลิม
                ถึงเราจะเราเป็นคนส่วนใหญ่ของพื้นที่ แต่ก็เป็นคนส่วนน้อยของประเทศไทย จึงมีความพยายามให้เรา ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยกลมกลืนกับคนส่วนใหญ่ จนเกิดนโยบายกลืนชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา โดยไม่ได้มองว่ามุสลิมร้อยละ 80 คือคนส่วนใหญ่ของพื้นที่
                มาถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการบังคับให้คนที่นี่เปลี่ยนชื่อเป็นไทย จากนายดอเลาะเป็นนายสมศักดิ์ แต่เราไม่ยอม เมื่อบังคับไม่ได้ สุดท้ายจึงตราพระราชบัญญัติจัดตั้งนิคมพัฒนาตนเองขึ้นมา เพื่อเอาคนไทยพุทธมาตั้งชุมชนในพื้นที่นี้ เพื่อกลืนสังคมมุสลิมให้ไปขึ้นต่อสังคมใหญ่ เช่น นิคมพัฒนาตนเองธารโต จังหวัดยะลา และอื่นๆ อีกหลายแห่งในพื้นที่ ใครกล้าพูดความจริงตรงนี้บ้าง
                ถ้าคนที่นี่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ต้องดูสาเหตุก่อนว่า คุณต้องการกลืนชาติพันธุ์มลายู โดยเอาคนชาติพันธุ์อื่น ศาสนาอื่นจำนวนมากเข้ามาอยู่ ความรู้สึกเก็บกด น้อยอกน้อยใจ รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับความอยุติธรรมจึงเกิดขึ้น ตั้งแต่ยุคฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา จนถึงปัจจุบัน นั่นคือต้นเหตุของปัญหาความไม่สงบ
ถ้าเราหาต้นเหตุไม่เจอแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เมื่อมีคนตีโจทย์ง่ายๆ เราก็คล้อยตาม แต่มองภาพรวมไม่ออกว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทำไมจึงเกิดการต่อสู้ตรงนี้ ต้องหาข้อมูลมาวิเคราะห์ เพราะถ้าสมการถูก แต่ข้อมูลผิดพลาด คำตอบสุดท้ายก็ไม่ผิด นี่คือปัญหาที่สะสมเรื่อยมา จากหนึ่งกลายเป็นสองและเพิ่มเป็นทวีคูณ
ในยุคฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา มีการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างพี่น้องมุสลิมกับพี่น้องคนไทย พี่น้องมุสลิมที่นี่ ต้องไม่ใช่ชนชั้นสองของประเทศ จนกระทั่งฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา ก็หายตัวไป
                ถึงวันนี้ ปัญหามันบานปลายไปแล้ว คิดจะแก้ภายในปีสองปีเหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศไว้ว่า จะแก้ได้ภายใน 99 วัน คิดผิด ที่คิดผิดก็เพราะมองโจทย์ผิด มองแค่ปัญหาแบ่งแยกดินแดน คุณมองแค่ว่า รัฐบาลที่ผ่านมายุบ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และพตท. 43 (กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43) จึงต้องรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ก็แก้ผิด คุณเอาทหารมาเพิ่มก็ตายมากขึ้น งบประมาณเพิ่มก็ตายเพิ่มขึ้น

-นโยบายนครปัตตานี เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีที่มาอย่างไร

                 วันที่ 23 เมษายน 2554 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศชัดเจนว่า สำหรับการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ต้องขอโทษ ผมแก้ปัญหาด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เลยทำให้การแก้ปัญหาไม่บรรลุเป้า คำประกาศนี้ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ยูทูป สามารถเปิดดูได้
                 ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขอโทษพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่แก้ด้วยระบบราชการ และแก้แบบรวดเร็วไม่ได้ วิธีการแก้ปัญหาต้องมาจับเข่าคุยกัน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พูดว่า ทุกฝ่ายต้องมาจับเข่าคุยกันคุยกัน ทั้งพี่น้องมุสลิมพี่น้องไทยพุทธ มาคุยกันว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และคุยกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะมาเลเซีย
                 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเห็นด้วยว่า การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ต้องคืนอำนาจให้กับพี่น้องในพื้นที่ ส่งเสริมสนับสนุนเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนครปัตตานี ให้ประชาชนสามารถเลือกคนของเขามาเป็นผู้นำ มาแก้ปัญหา ไม่ใช้โครงสร้างอำนาจส่วนกลางมาแก้
                 นโยบายนครปัตตานีของเราคือ การมอบอำนาจให้กับประชาชน ให้ประชาชนเลือกผู้บริหารขึ้นมา นั่นคือโครงสร้างของนครปัตตานีในเบื้องต้น
                 จากคำพูดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตรงนี้ เราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ก็ต้องเอาตรงนี้ไปคิดแล้วว่า ถ้าจะทำให้นครปัตตานีเกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ ก็ต้องยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตราพระราชบัญญัตินครปัตตานีขึ้นมา เขียนอำนาจหน้าที่โครงสร้างของนครปัตตานีให้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนกลาง เพื่อแก้ปัญหา นำสันติสุขกลับคืนมา
                 วันนี้การร่างพระราชบัญญัตินครปัตตานี เดินไปได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายกฎหมายของพรรคกำลังยกร่างอยู่ แนวคิดนครปัตตานี คือให้ประชาชนเลือกผู้นำของเขาเองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอิสลามหรือพุทธ
                 ถ้าคิดว่าคนพุทธมีศักยภาพ เราก็ให้เป็นผู้นำได้ หรือถ้ามีมุสลิมที่มีความสามารถ ตั้งใจจะแก้ปัญหา เพื่อให้วิถีชีวิตปกติกลับมาเหมือนเดิม เราก็ให้มุสลิมเข้ามาบริหารและกำหนดนโยบาย มีวาระบริหารชัดเจน มีวิสัยทัศน์
                 นครปัตตานีจะมาทำหน้าที่แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนส่วนราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมด ให้อยู่ในโครงสร้างของนครปัตตานี
                 สมมุติเราเขียนนโยบายว่า พระราชบัญญัตินครปัตตานีจะใช้แก้ปัญหาภาคใต้ภายใน 8 ปี เราก็แก้ไป ถ้าเผื่อแก้ได้สำเร็จภายใน 8 ปี ก็มาทำประชาพิจารณ์ว่า จะเอาไหม ถ้าเรามาปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ โดยมีแค่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น เหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือประเทศต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานส่วนภูมิภาคอยู่ในพื้นที่
                  แม้การปกครองท้องถิ่นของเราตอนนี้ จะมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดอยู่ แต่ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดถูกส่งมาจากรัฐบาลกลางมาครอบอยู่อีกที ภายใต้โครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาค เข้ามาครอบและใช้อำนาจคุมท้องถิ่นไว้ ทำให้การปกครองท้องถิ่น ไม่สมบูรณ์แบบ
                  บันไดขั้นแรก เราต้องตราพระราชบัญญัตินครปัตตานีให้ได้ก่อน โดยตั้งเงื่อนว่า อาจทดลองใช้ภายใน 4 ปี 8 ปี หรือ 10 ปี ก็ลองมาถกเถียงกันหลังเลือกตั้งครั้งนี้ ถกแล้วเห็น สมติว่ามันควรจะเป็น 8 ปี ก็ทดลองดูว่า ใช้แล้วเหตุรุนแรงลดลง เศรษฐกิจดีขึ้น วิถีชีวิตกลับมาเหมือนเดิม ทุกคนได้อยู่ในสังคมที่หลากหลายทางศาสนา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีเหมือนเดิมหรือไม่
                  เมื่อนั้นเราก็กลับมาถามประชาชนอีกครั้งว่า จะเอาการปกครองที่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น 100 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) หรือไม่ จะเอาการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส เหมือนกรุงเทพมหานครหรือเมืองพัทยาหรือไม่
                 ถ้าทุกคนเห็นด้วยและอำนาจมาอยู่ที่เราแล้ว เราก็จะสามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้อำนาจตกอยู่กับท้องถิ่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์
                 ถามว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยไม่คิดทำเรื่องนครปัตตานีเฉพาะจังหวัดปัตตานี มันไม่ได้ เพราะปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องแก้ภาพรวมทั้ง 3 จังหวัด
                 มีคนเคยคิดว่า ควรตั้งเป็นมณฑล แต่บางคนบอกว่าใหญ่ไป เพราะ 3 จังหวัดมีปัญหาเดียวกันคือ ความไม่ยุติธรรมและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผมคิดว่า ถ้าแยกกันคิด การแก้ปัญหาก็ไม่เป็นรูปธรรม
นครปัตตานีมีขอบเขตอำนาจแค่ไหน เราจะมาคิดอีกที แต่คงจะไม่เหมือนกับศูนย์อำนวยการบริหารจังวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต สมัยพล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี บอกว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของสงขลา แต่พอพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็บอกว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 5 จังหวัด รวมสงขลาและสตูลเข้ามาด้วย
                 ระบบปัจจุบัน ประชาชนเสียประโยชน์หลายอย่าง ยังไม่พูดถึงงบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 18,000 ล้านบาท สิทธิประโยชน์ของข้าราชการ หรือการอนุมัติโครงการต่างๆ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) หรือที่เรียกว่า คณะกรรมการรัฐมนตรีชายแดนใต้ ที่มีตัวแทนในพื้นที่เพียง 5 คน จาก 35 คน แล้วจะสู้ได้อย่างไร
                 ดังนั้น ผู้ว่าราชการนครปัตตานี ต้องมาคิดร่วมกันว่า ประชาชนต้องการอะไร ร่วมกำหนดนโยบาย การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ งบประมาณก็ใช้งบเดิมที่รัฐบาลอุดหนุนให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เราเอามาพัฒนานครปัตตานี
                 โครงสร้างของนครปัตตานี จะมีฝ่ายบริหารและฝ่ายตรวจสอบ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภานครปัตตานี อาจจะอำเภอละคน มีประธานสภานครปัตตานี แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภานครปัตตานีก่อน แล้วจึงเสนอแผนดังกล่าวต่อรัฐบาลส่วนกลาง
                 สภานครปัตตานีต่างกับสภาที่ปรึกษาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ อย่างงบประมาณศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็แตะต้องไม่ได้ แม้แต่คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็แตะไม่ได้ อ้างว่าจะกระทบกับความมั่นคง ถามว่าความมั่นคงเกี่ยวอะไรกับการแจกวัว แจกแพะ แจกปลา พาวัยรุ่นไปอบรม 2 วันก็พาไปเที่ยว กลับมาแล้วได้อะไรไหมนอกจากคอรัปชั่น
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับหมู่บ้าน หรือพนม. เป็นอีกอย่างที่ผมไม่เห็นด้วย บอกว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้ครัวเรือน 120,000 บาทต่อปี เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ปีละ 300 ล้านบาท แจกเป็ด 10 ตัว อาหาร 1 กระสอบกับที่ใส่อาหารให้ชาวบ้าน ที่ใส่อาหารมูลค่า 5,000 บาท แต่พอไปถามที่ร้านค้า บอกว่าราคาแค่ 2,000 บาท หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่อยากรับ แต่ก็ต้องจำใจรับ เอาเงินไปสร้างถนนซ่อมสะพานที่ขาดๆ ดีกว่าปล่อยให้มีการทุจริตกันอย่างนี้

-เรื่องความมั่นคงพรรคเพื่อไทยมีนโยบายอย่างไร

                  ความมั่นคง เป็นหน้าที่ของส่วนกลาง แต่ต้องมาดูว่า ความมั่นคงอะไร ถ้าเป็นการแก้ปัญหาภายในประเทศ ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเป็นเรื่องชายแดนหรืออธิปไตยของชาติก็เป็นหน้าที่ของทหาร วันนี้กำลังพลกว่า 68,000 คนในพื้นที่ ทำอะไรได้ไหม ก็ไม่ได้ ไม่ใช่ยกเรื่องความมั่นคงทั้งหมดให้เป็นหน้าที่ของทหาร
                  ถามว่า วันนี้ทหารแก้ปัญหาอะไรได้ไหม งบประมาณ 140,000 ล้านบาทที่นำมาใช้แก้ปัญหา ประชาชนได้กี่ตังค์ เป็นการใช้งบประมาณเท่ากัน 20,000 ล้านบาท ต่อกำลังพล 10,000 นาย ก็ยังแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น ทุกอย่างต้องมาจับเข่าคุยกัน เหมือนอย่างที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรพูดไว้
                  เพราะฉะนั้นนครปัตตานี จะเกิดหรือไม่อยู่ที่ประชาชน ถ้ายังเลือกตั้งแบบเก่าๆ คือ เลือกตัวบุคคล ก็จะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคนี้ 2 คน พรรคโน้น 1 คน อำนาจต่อรองกับส่วนกลางไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ เราบอกว่า พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค โดยดูที่นโยบายก็จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมมากขึ้น

-การเลือกตั้งครั้งนี้ ตั้งเป้าไว้อย่างไร

                  มากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 คือ มากกว่า 2 คน ครั้งที่แล้วได้ผมกับนายนัจมุดดีน อูมา จากจังหวัดนราธิวาส เที่ยวนี้ลงสมัครพรรคมาตุภูมิ โดยนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ได้รับเลือกในระบบบัญชีรายชื่อ คราวนี้ไปลงสมัครระบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ

-เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว เส้นทางสู่นครปัตตานีเป็นอย่างไร

                  การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าได้ผมคนเดียว ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าพรรคได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ครบ 5 คน ตามโพลของพรรค ความเป็นไปได้ก็จะมีมากขึ้น
                  เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่างๆ ทั้งประเทศ เรื่องนครปัตตานีต้องเป็นเรื่องหลัก ต้องเอาสิ่งเราพูดมาทำ เพราะคำพูดคือ อามานะห์ (ความรับผิดชอบ) เป็นสัจจะ ถ้าได้ 5 คน ผมจะสู้ให้ได้ แต่ถ้าเข้าไปคนเดียวก็สู้ไม่ไหว
                  การตั้งนครปัตตานีอยู่ที่เงื่อนไขของเวลาของระบบรัฐสภาคือ เริ่มจากพรรคร่างกฎหมายเสนอรัฐบาล แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความถูกต้อง จากนั้นก็นำเข้าสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนการออกกฎหมายปกติ จนกระทั่งมีการประกาศใช้
                  ในช่วงมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา ช่วงนี้คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะยื้อกันไปมา แต่ถ้าเรามีเสียงข้างมาก ร่างกฎหมายก็ผ่านไปได้เร็ว
                  หัวใจของการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ การส่งเสริมกิจการฮัจย์ ต้องแก้ 2 เรื่องนี้ก่อนสำหรับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการปัญหายาเสพติดและความยากจน เป็นการแก้ปัญหาในองค์รวมของประเทศอยู่แล้ว
                   ตอนนี้ทีมงานเราช่วยกันยกร่างพระราชบัญญัตินครปัตตานีขึ้นมา ร่วมกับนักวิชาการ ใครสนใจก็มาช่วยกันยกร่างได้

-จุดเริ่มต้นของนครปัตตานีมาจากไหน

                    ต้องยอมรับว่า มาจากพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตประธานพรรคเพื่อไทย จากแนวคิดดอกไม้หลากสี หรือการโยนหินถามทางว่า ต้องการให้คนทุกคนมาจับเข่าคุยกัน แต่อย่าตีโจทย์นครปัตตานีที่ผมทำอยู่ว่า เหมือนกับของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ของผมไม่ใช่นูซันตารา ซึ่งไม่ทราบว่ารูปแบบเป็นอย่างไร ของผมคือองค์กรปกครองท้องถิ่นที่จะมาทำหน้าที่แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
                     ผมทำตรงนี้เพราะผมเห็นช่องทางของมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาส ผมก็ไม่กล้าพูด เพราะกลัวติดคุก
                     มาตรา 78 (3) ของรัฐธรรมนูญ บอกว่า กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
                     คนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาทำเพื่อคนชายขอบ คนชนเผ่า ไม่ใช่เพื่อคนมลายู แต่เราก็เห็นแสงสว่างจากช่องนี้ ยกเว้นถ้าจะมีการปฏิวัติแล้วยกเลิกรัฐธรรมนูญนี้อีก ก็ไม่รู้เกิดหรือเปล่า
                    เราก็ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ได้ประโยชน์ภายใต้ความเป็นรัฐเดียวของไทย เป็นรัฐเดียวที่กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น

 -เพราะฉะนั้นการลาออกของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ไม่ได้มีผลต่อการผลักดันเรื่องนครปัตตานีต่อไป

                   ไม่มีผล มันต้องขับเคลื่อนโดยประชาชน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นเพียงคนโยนหินถามทาง ถามคนในพื้นที่ว่าจะเอาไหมการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งก็มีผลสะเทือนออกมาพอสมควร มีการแสดงความเห็น มีการร่างกฎหมายขึ้นมาหลายร่าง เราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องร่างกฎหมายขึ้นมาด้วย โดยมีเป้าหมายใกล้เคียงกันคือ การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

 -ในเมื่อมีหลายร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเสนอเข้าสภาพร้อมกันแล้ว อาจจะทำให้รูปแบบที่พรรคเพื่อไทยคิดเปลี่ยนไปหรือไม่

                   ใครเป็นรัฐบาล ก็ต้องเอาร่างของคนนั้นเป็นต้นแบบ จะเอาของคนอื่นมาทั้งดุ้นไม่ได้ แต่ดึงบางส่วนมาได้ ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ ต้องยึดร่างของรัฐบาลเป็นต้นแบบ ร่างของคนอื่น ก็เอามาศึกษาได้ เอามาเสริมได้
                   ทุกคนมีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย เมื่อเข้าสู่สภา มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา ประธานคณะกรรมาธิการก็จะถามว่า จะเอาร่างของใครมาเป็นแม่แบบ ก็ต้องเป็นร่างของรัฐบาล อย่างสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ที่มีการเสนอกฎหมายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็เสนอ นายแพทย์มาฮาดี แวดาโอะ หรือหมอแวก็เสนอ แต่ตกหมด

-จะรู้ได้อย่างไรว่า ร่างของเราดีที่สุด ในเมื่อคนอื่นๆ ก็เสนอร่างกฎหมายมาด้วย เช่น ร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร ที่เสนอโดยอัคคชา พรหมสูตร ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ก็บอกว่าได้ถามประชาชนแล้วว่าจะเอาอย่างนี้

                    ในคณะกรรมาธิการต้องคุยกัน เพราะถ้าจะเอาร่างของใครมาพิจารณาก็ต้องเชิญคนนั้นมานำเสนอ ต้องหาข้อสรุปให้ได้ ถ้าอยากรู้ว่าร่างของสถาบันพระปกเกล้าดีอย่างไร ก็เชิญตัวแทนของสถาบันพระปกเกล้ามาพูดให้ฟังได้
                    ยกเว้นรัฐบาลมีมติว่าจะเอาร่างกฎหมายของสถาบันพระปกเกล้ามาเป็นต้นร่างก็ได้ ร่างอื่นก็ตกไป แต่สุดท้ายก็อยู่ที่การยกมือสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา
                    ดังนั้นการได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก จึงได้เปรียบในการผ่านกฎหมาย ถ้าได้ผมไปคนเดียว บอกให้เอาเรื่องนครปัตตานีเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล พวกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานที่เสนอนโยบายของเขาด้วย จะเอากับผมหรือเปล่าละ
                    วันนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสาน ภาคเหนือมาช่วยพูดเรื่องชายแดนใต้ มาพูดถึงเหตุการณ์กราดยิงที่มัสยิดไอร์ปาแย โดยเราก็เป็นคนให้ข้อมูล เพื่อให้เขาเข้ามาช่วย

-ถ้าเป็นนครปัตตานีแล้วจะให้ฝ่ายขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐตอนนี้ เข้ามาอยู่ส่วนไหนของนครปัตตานี

                     โอ้ว เรื่องนี้ละเอียดอ่อนจะบอกว่า ยุติการสู้รบแล้ว เฮ้ย จีนเปง (หัวหน้าขบวนการคอมมิวนิสต์มลายา) มึงมาปกครองเบตง (อำเภอเบตง จังหวัดะลา) เลย มีไหมอย่างนั้น ไม่มี ต้องดูว่าเขาต่อสู้เพื่ออะไร ต้องคุยก่อน ถ้าเขาบอกว่า ต่อสู้เพื่อนครปัตตานี ก็มาซิ มาสู่กระบวนการเลือกตั้ง ถ้าได้รับเลือกตั้งจากประชาชน เขาก็จะเป็นผู้นำบริหารนครปัตตานี ถ้าอยากมีอำนาจตรงนี้ ก็ต้องมาเข้าสู่ขบวนการประชาธิปไตย

-จะพูดคุยกับฝ่ายต่อสู้กับรัฐอย่างไร จะให้มีการเปิดเจรจากันหรือไม่

                      ต้องเจรจา ทำไมโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา จึงเจรจากับรัฐได้ เพราะในขบวนการมีหัวหน้าอยู่ ฝ่ายความมั่นคงของรัฐก็มีข้อมูล เราก็รู้ แต่พูดไม่ได้ เพราะคนละอุดมการณ์กัน คนละแนวทางกัน เขาเห็นความไม่ยุติธรรม จึงจับอาวุธขึ้นสู้ ตามแนวทางของเขา
                      ผมก็มีแนวทางของผม ผมก็มีหัวของผมคือ แบนอร์ (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นพี่ชาย) คือพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นต้องมาจับเข่าคุยกันว่า เฮ้ย พวกเรา จะทำอย่างไรที่จะกลับมาคุยกัน คุณต้องการอะไร ก็ว่ากันไปในวงเจรจา
                      ขนาดเรื่องปราสาทพระวิหาร ไทยกับเขมรยังคุยกันไม่รู้เรื่องเลย แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ภาษาวัฒนธรรม เป็นเรื่องใหญ่กว่า เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า การคุยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แน่ แต่ไม่คุยก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่คุยมันก็รบกัน ปัญหาไม่จบ แล้วต้องคุยกับทุกกลุ่ม

-ทำไมสมาชิกในกลุ่มวะห์ดะห์บางส่วนถึงไปอยู่กับพรรคมาตุภูมิ

                      ถามว่า ต้นของปัญหาทางการเมืองมาจากอะไร มาจาก 19 กันยาฯ (เหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549) ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลาย ถามว่าโดยใคร ใครที่ทำให้ประเทศไทยถอยหลัง
                       เหตุผลของการปฏิวัติ 19 กันยาฯ มี 4 ข้อคือ แทรกแซงองค์กรอิสระ ทุจริตคอร์รัปชั่น แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้มเหลว หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วตั้งกรรมการตรวจสอบ ผิดซักข้อไหม ผิดข้อเดียวโทษติดคุก 2 ปี คือเอาบัตรประชาชนให้เมียซื้อที่ดินที่หลุดจำนำแล้ว มันยุติธรรมหรือไม่
                       วะห์ดะห์ เกิดจากการรวมกลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนที่จะแยกกันลงพรรคต่างๆ เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลและให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ถ้าไม่มีวะห์ดะห์การคลุมฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิม) ก็คงจะไม่ได้ ธนาคารอิสลามอาจจะไม่เกิด เงินเดือนครู โรงเรียนตาดีกา อาจจะไม่มี
                       เมื่อรวมกลุ่มเป็นวะห์ดะห์แล้ว กลายเป็นกลุ่มการเมืองที่แข็งแกร่ง กลายเป็นหนามยอกอกของพรรคการเมืองใหญ่ในภาคใต้ จึงพยายามแทรกแซงโดยส่งคนเข้ามา ทำให้เกิดการแตกแยกกัน ปีนี้แตกแยกชัดเจน
                       แล้วคนที่คิดตั้งพรรคมาตุภูมิคือใคร คือผู้สมัครคนหนึ่งของนั้นในตอนนี้ เพราะฉะนั้น อย่ามาอ้างแบนอร์ แบนอร์ไม่เคยพูดเรื่องพรรคมาตุภูมิเลย วันที่เดินทางไปทำพิธีอุมเราะห์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย กับพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ แบนอร์รอที่จะพูดเรื่องตั้งพรรคการเมือง แต่ไม่มีใครพูด พอเดินทางกลับมา บอกว่ามีการตั้งพรรคมาตุภูมิแล้ว แบนอร์ไม่รู้เรื่อง
                       ต้นเหตุก็คือ หลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ มีคน 2 คนได้นัดนายนัจมุดดีน นายอารีเพ็ญ นายนิมุคตาร์ วาบา (ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี พรรคภูมิใจไทย) และพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่(ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์) คุยว่าเราต้องรวมกลุ่มเป็นพรรคการเมืองของมุสลิมขึ้นมาให้ได้ จึงมีการตั้งพรรคมาตุภูมิขึ้นมา
                       ผมเกิดจากพรรคไทยรักไทย คิดว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้ระบบการเมือง พรรคเล็กๆ ไม่มีทางจะแก้ได้ จึงไม่ได้ไปสังกัดพรรคมาตุภูมิด้วย เพราะฉะนั้น อย่าอ้างแบนอร์ว่า มีส่วนในการตั้งพรรคมาตุภูมิ
                       แบนอร์จะเกี่ยวข้องอย่างไร เหตุการณ์ 19 กันยาฯ ใครยึดอำนาจ แบนอร์ผิดอะไร ทำไมถึงต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการยุบพรรคไทยรักไทยด้วย แล้วแบนอร์จะไปร่วมอุดมการณ์ด้วยได้อย่างไร
วันนี้อย่าคิดว่าคน 3 จังหวัดโง่ แต่คนที่ไม่รู้ความจริง ก็จะเข้าใจว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล พรรคมาตุภูมิก็จะได้เป็นรัฐบาลด้วย ถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะรับได้หรือ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพรรคไทยรักไทย ยึดเงินเขาไป 75,000 ล้านบาท แถมยังถูกตัดสิทธิทางการเมืองอีก 5 ปี เขาจะรับได้หรือ
                       เรื่องใหญ่คือ คน 111 คน ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็นคนที่มีคุณภาพของประเทศ มีความสามารถในการปลดล็อคหนี้ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระว่างประเทศ) ได้ ภายใน 2 ปี ถ้าไม่ได้ปลดหนี้ เด็กที่เกิดใหม่ ต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะแล้ว 77,000 บาทต่อหัวต่อปี
                       วันนี้คนที่เกี่ยวข้องกับ 19 กันยาฯ บอกว่าขอโอกาสให้ผมด้วยเถอะ เพื่อจะมาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเหตุการณ์ 19 กันยาฯ ถามว่าใครเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลินใช่ไหม มีอำนาจใช่ไหม แล้วเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงปี 2550 เป็นยังไง แรงใช่ไหม ก็ยังแก้ไม่ได้
                        บอกว่าจะจับมือกับพรรคเพื่อไทย มาแก้ปัญหา เป็นไปไม่ได้ ผมคนหนึ่งไม่เอา บอกชัดเจนไปเลย โดยเฉพาะถ้าหัวหน้าพรรคชื่อ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน
                        วันนี้มีคนอยากให้ผมไปอยู่พรรคอื่นเยอะ แต่เรามองนโยบายแล้ว ใครล่ะจริงใจกว่า กล้าประกาศนโยบายนครปัตตานี คืนอำนาจให้ประชาชน ตัดสินใจเลือกผู้นำของตัวเองขึ้นมาแก้ปัญหา พรรคอื่นไม่มี มีแต่ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

-มีคนพูดว่า ถึงพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล แล้วจะส่งผลอย่างไรกับนโยบายนครปัตตานี

                        ก็ลองดูว่า ใครจะต้านพลังของประชาชนได้ พลังของประชาชนอยู่เหนือกว่าอาวุธ สามารถล้มล้างอาวุธได้ ตัวอย่างก็มีอยู่ในตะวันออกกลาง แล้วถ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้ 5 คนตามเป้า แล้วไม่ได้เป็นรัฐบาล ถ้าประชาชนลุกฮือขึ้นมาจะเป็นอย่างไร จะเหมือนการลุกขึ้นมาประท้วงรุนแรงอย่างในอดีตก็ได้

-นอกจากเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีตำแหน่งอะไรในพรรคเพื่อไทย

                         ผมเป็นรองประธานภาคใต้คนที่ 1 ประธานคือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองประธานคนที่ 2 คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผมรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ถามว่าทำไมสตูลต้องมาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย เขาบอกว่ามีมุสลิมอยู่ 80 เปอร์เซ็นต์ เขาอยากอยู่กับเรา
ส่วนสงขลามีทั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ หรือนายวีระดูแลอยู่ เราก็มีส่วนแสดงความเห็นในประเด็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การตัดสินใจเป็นหน้าที่ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับนายวีระ มุสิกพงศ์ และกรรมการบริหารพรรค