นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
นางสาวนัสรีซา มามะ พยาบาลเทคนิค โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือโครงการผลิตพยาบาล 3,000 คน ป้อนให้กับโรงพยาบาลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากไม่มีตำแหน่งงานพยาบาลว่าง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รองรับ ทำให้พยาบาลจากนอกโครงการนี้ต้องไปสมัครเป็นพยาบาลนอกพื้นที่
นางสาวนัสรีซา เปิดเผยต่อไปว่า ตนเพิ่งเรียนจบคณะพยาบาลศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ทางบ้านต้องการให้บรรจุเป็นพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ไม่มีตำแหน่งว่าง เพราะทางโรงพยาบาลฯ เพิ่งบรรจุพยาบาลจากโครงการผลิตพยาบาล 3,000 คน ลงแทนตำแหน่งที่ว่าง
นางสาวนัสรีซา เปิดเผยอีกว่า เพื่อนร่วมรุ่นที่จบพร้อมกัน 106 คน กระจัดกระจายไปทำงานพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ ที่จังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตนรู้สึกไม่ได้รับความไม่เป็นธรรม เพราะรัฐให้สิทธิกับพยาบาลจากโครงการนี้ 3,000 คน ได้รับการบรรจุก่อน
นางสาวนัสรีซา กล่าวว่า ตนต้องการให้เพิ่มอัตราตำแหน่งพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก ถ้ามีการเพิ่มอัตรา ตนจะกลับไปสมัครเป็นพยาบาลที่บ้าน ก่อนหน้านี้ ตนสมัครเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่ที่นั่นห้ามพยาบาลมุสลิมสวมฮิญาบตามหลักศาสนาอิสลาม จึงต้องเดินทางมาสมัครเป็นพยาบาลที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากที่นี่ไม่ห้ามสวมฮิญาบ
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า หากการบรรจุพยาบาลทั้ง 3000 อัตรา ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพ รัฐบาลอาจจะแก้ปัญหาด้วยการขยายอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยใช้งบประมาณแผ่นดินส่วนอื่นมาจัดจ้าง
นางแวคอตีเยาะ เปามะ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูสะมิแล (รพ.สต.) ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูสะมิแล ได้รับพยาบาลจากโครงการนี้ 3 คน ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองงาน 6 เดือน ยังไม่สามารถประเมินคุณภาพในการปฏิบัติงานของพยาบาลจากโครงการนี้ได้
นางแวคอตีเยาะ เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูสะมิแล มีเจ้าหน้าที่ให้บริการประมาณ 10 คน คือ ผู้อำนวยการ 1 คน รองผู้อำนวยการ 1 คน พยาบาล 4 คน นักวิชาการ 1 คน เจ้าพนักงานสาธารณสุข 3 คน และอื่นๆ อีก 2 คน ซึ่งไม่พอต่อการให้บริการประชาชนในตำบลรูสะมิแลที่มีประมาณ 17,000 คน จึงทำให้บริการประชนได้ไม่เต็มที่ เมื่อได้พยาบาลวิชาชีพจากโครงการดังกล่าวมาเพิ่ม จึงสามารถแบ่งเบาภาระต่างๆ ในโรงพยาบาลได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานธุรการหรืองานบริการ
นางแวคอตีเยาะ กล่าวว่า โครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการที่ดี แต่ให้สิทธิในการบรรจุมากเกินไป น่าจะค่อยๆ บรรจุปีละ 100–200 คน เพราะจะทำให้วิชาชีพสุขภาพอื่นๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย เห็นใจพยาบาลวิชาชีพที่ทำงานในโรงพยาบาลอยู่ก่อนแล้ว บางคนทำงาน 2–3 ปี เพื่อรอบรรจุ บางคนทำงานนานถึง 10 ปี ก็ยังไม่ได้บรรจุ แต่พยาบาลในโครงการนี้ได้รับการบรรจุเลย น่าจะให้สิทธิพยาบาลที่ทำงานอยู่แล้วได้บรรจุก่อน