ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ที่ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (ระยะที่ 2) ภายใต้กรอบ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกและโรงไฟฟ้าชุมชน” ร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มหาวิทยาลัยชีวิตเมืองนครศรีธรรมราช และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีส่วนราชการ ตัวแทนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน ผู้ประกอบการเอกชน และประชาชนเข้าร่วมประมาณ 150 คน
นายเรืองเดช ปั่นด้วง ผู้อำนวยการกลุ่มพลังงานลม สำนักวิจัยค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงศักยภาพการพัฒนาพลังงานต่อที่สัมมนาว่า จากแผนที่ความเร็วลมของประเทศไทยที่ระดับความสูง 90 เมตร จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานลม 494.60 ตารางกิโลเมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 31,967.44 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่อยู่บนยอดเขาในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ
นายเรืองเดช เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 1.500 เมกะวัตต์ ของกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมที่จะนำกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 นี้ โดยเมื่อปี 2551 โรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 โรง ของบริษัทมาสเตอร์ เพาเวอร์ จำกัด ขนาด 0.080 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมของกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ขนาด 0.080 เมกะวัตต์ ได้ขายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาก่อนแล้ว
“เอกชนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และสหกรณ์ สามารถลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม เพื่อเป็นทางเลือกในการพัฒนา และขยายพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ได้ ในทางกลับกันการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงาน เท่ากับเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการสร้างงานและลดความขัดแย้งในการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ด้วย” นายเรืองเดช กล่าว
ผศ.ดร.สุเมธ ไชยประพันธ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงแนวทางการใช้ชีวมวล เชื้อเพลิงอัดแท่ง และก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกต่อที่สัมมนาว่า จากการติดตามการใช้เตาเผาเชื้อเพลิงลูกผสมประหยัดพลังงาน ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง (สะบ้าย้อย 6) จำกัด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา คำนวณต้นทุนการผลิตที่ไม้ฟืนราคา 1 บาท ต่อกิโลกรัม พบว่าสามารถลดปริมาณการใช้ฟืนเฉลี่ย 03.4 กิโลกรัม ต่อกิโลกรัมยาง หรือคิดเป็น 22% ประหยัดฟืนได้ 136,000 บาท ต่อปี สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เฉลี่ย 0.25 บาท ต่อกิโลกรัมยาง
“ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีสหกรณ์กองทุนสวนยางประมาณ 91 แห่ง ถ้านำเตาเผาเชื้อเพลิงลูกผสมประหยัดพลังงานมาใช้ จะประหยัดเงินถึง 6,188,000 บาทต่อปี และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลงด้วย” นายสุเมธ กล่าว
ผศ.พยอม รัตนมณี นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงศักยภาพพลังน้ำของจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า จากแผนที่ DEM 1:4,000 ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผลการสำรวจภาคสนามพบว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีน้ำตกมากถึง 87 แห่ง สามารถนำไปพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 17,820 กิโลวัตต์ ใช้ได้ประมาณ 35,640 ครัวเรือน รองรับปริมาณประชากรได้ 142,560 คน คิดเป็น 10% ของประชากรจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งหมด 1,500,000 คน
ผศ.พยอม กล่าวว่า น้ำตกในจังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก เนื่องจากมีภูมิประเทศลาดชัน สามารถเลือกใช้กังหันที่มีประสิทธิภาพสูง มีท่อส่งน้ำสั้นทำให้เกิดการสูญเสียน้ำน้อย ส่งผลให้ต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นแนวกันชนให้กับป่าเป็นอย่างดี เพราะน้ำตกจะอยู่รายรอบเทือกเขา
นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ตอนนี้จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ออกมาคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะเกรงจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พลังงานทางเลือกจึงน่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง