ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 204 ศาลจังหวัดสงขลา นายวินัย หนูโท ออกนั่งบัลลังก์ผู้พิพากษา ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.1818/2546 เลขแดงที่ 1804/2547 ที่นายสักกริยา หมะหวังเอียด กับพวกรวม 25 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ กับพวกรวม 38 คน ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ จากเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 บริเวณสะพานจุติ - บุญส่ง อุทิศ ทางเข้าโรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ทนายความของพันตำรวจเอกสุรชัย สืบสุข จำเลยที่ 4 ถามนายสักกริยาว่า ทราบหรือไม่ว่า โครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซ ธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เป็นแผนสาธารณูปโภคขั้นด้านพลังงานขั้นพื้นฐานรองรับ 14 จังหวัดภาคใต้ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษปีนัง – สงขลา ที่เรียกกันว่า แลนด์บริดจ์ปีนัง – สงขลา นายสักกริยา ตอบว่า ไม่ทราบ
ทนายจำเลยถามต่อว่า เห็นหรือได้ยินพลตำรวจตรีสัณฐาน ชยนันท์ จำเลยที่ 3 และพันตำรวจเอกสุรชัย จำเลยที่ 4 สั่งการห้ามไม่ให้ชาวบ้านเดินทางยื่นหนังสือต่อเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อให้ทบทวนการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซ ธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ซึ่งมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หรือไม่ และเห็นหรือได้ยิน จำเลยทั้ง 2 ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการณ์ชุมนุม หรือทำร้ายชาวบ้านหรือไม่
นายสักกริยา ตอบว่า ไม่เคยเห็น และไม่เคยได้ยิน แต่ทราบจากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้ง 2 ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดการเดินทางของชาวบ้าน โดยการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ 4 แยกอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา อีกทั้งมีการเอารถผู้ต้องขัง จอดขวางไว้กลางถนน เพื่อสกัดรถยนต์ของชาวบ้านในวันดังกล่าว รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจเอกสันต์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1 ผ่านสื่อมวลชนว่า ได้รับรายงานว่ามีกลุ่มชาวบ้านฝ่าด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มุ่งสู่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ แต่ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้รายงานให้ทราบ ว่ามีกลุ่มชาวบ้านฝ่าด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นายสักกริยา เปิดเผยว่า คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์แล้ว 2 ปาก คือ นายบรรจง นะแส และนางสาวศุภวรรณ ชนะสงคราม โดยสืบพยานโจทก์ปากแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 การสืบพยานทั้ง 2 ปากใช้เวลาถึง 2 ปี
นายสักกริยา เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ตนได้มาเบิกความในฐานะพยานโจทก์แล้วเมื่อวันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2554 และ 15 – 16 มิถุนายน 2554 เป็นการหามูลเหตุของการคัดค้านโครงการ ซึ่งเป็นการสืบพยานที่วกวน แทบไม่เกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมเลย และตนจะมาสืบพยานอีก ในวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2554
สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนี้ ผ่านมาแล้วเกือบ 9 ปี แต่การต่อสู้คดียังไม่สิ้นสุด