Skip to main content

 ลุกมาน มะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
 มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท

                  “ชาติไทยพัฒนา” เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่วางเป้าหมายที่จะยึดที่นั่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในชายแดนใต้ใต้ของไทยให้ได้ ทั้งการรักษาที่นั่งเดิมเพียงหนึ่งเดียวในจังหวัดนราธิวาสและชิงพื้นที่ใหม่เข้ามาเพิ่ม
                   นายมูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตีลิสต์)ลำดับ 78 ของพรรคชาติไทยพัฒนา แม้ไม่ได้ลงสมัครแบบแบ่งเขต แต่ก็ถือเป็นกุนซือหลักด้านนโยบายชายแดนใต้ พรรคนี้มีจุดขายอะไรอ่านคำอธิบายจาก มูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา ดังนี้
                   ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ พรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งเป้าว่าจะได้ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2 ที่นั่ง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และอีก 1 ในจังหวัดสตูล
                    สำหรับนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้ในการหาเสียงครั้งนี้ ยังเป็นนโยบายเดิมที่พรรคเคยใช้หาเสียงมาก่อน คือการตั้งศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ครบวงจร หรือ วันสต็อบเซอร์วิส โดยให้เป็นศูนย์รวมของหน่วงงานราชการทุกกระทรวงมาอยู่ที่เดียวกัน รวมทั้งงบประมาณทั้งหมด ทั้งงบประมาณด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคง
                    เนื่องจากปัจจุบันมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) อยู่แล้ว จึงปรับศอ.บต.ให้เป็นตั้งศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ให้อำนาจเลขาธิการศอ.บต.และสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น เพราะการการแก้ไขกฎหมาย ง่ายกว่าการออกกฎหมายใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนาจากคิดนโยบายที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด
                     สิ่งแรกที่ต้องแก้คือ คำนิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก 5 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา ให้เหลือแต่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส 4 อำเภอของสงขลาและสตูล เนื่องจากมีวัฒนธรรม ศาสนา และอัตลักษณ์มลายูเหมือนกับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
                     จะให้งบประมาณทั้งด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องผ่าน ศอ.บต.เพียงหน่วยงานเดียว จะทำให้ง่ายในการตรวจสอบ เนื่องจาก ศอ.บต.มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสมาชิกที่คนในพื้นที่คัดเลือกมาตัวแทนและสภาที่ปรึกษานี้ สามารถถ่วงดุลการทำงานของหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ได้
                      ผมเป็น 1 ใน 6 กรรมการนโยบายพรรคชาติไทยพัฒนาที่เป็นมุสลิมจากจังหวัดนราธิวาส ดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 70 ผมเป็นคนร่างขึ้นมา โดยเฉพาะนโยบายด้านการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
                      ผมอยากให้ความสำคัญด้านการศึกษาโดยเฉพาะหลักสูตรอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนโยบายที่ต้องการยกระดับให้มีหน่วยงานดูแลการศึกษาด้านอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐให้เทียบเท่ากระทรวง
                      ส่วนในระดับโรงเรียนจะให้มีรองผู้อำนวยการโรงเรียนหรือสถานการศึกษาของรัฐด้านอิสลามศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้รับผิดชอบอิสลามศึกษาโดยตรงในโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่แค่เอาวิชาอิสลามศึกษาไปแปะไว้ในตารางเรียนเท่านั้น
                      นอกจากนี้ ผมต้องการกำหนดให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีวันหยุดราชการ คือ ศุกร์และเสาร์ เป็นต้น
                      ที่ผ่านมาพรรคชาติไทย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นพรรคชาติไทยพัฒนาเคยมีผลงานในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหลายเรื่อง จนกลายเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาของประเทศ เช่น ระบบการให้เงินอุดหนุนการศึกษาเป็นระบบเหมาจ่ายรายหัว
                      คนที่ทำเรื่องนี้ คือ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.2542 โดยได้เดินทางมาดูงานการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนั้นยังมีปัญหาในเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ จึงคิดระบบการอุดหนุนเป็นรายหัว จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องการดูแลการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
                      จะเห็นได้ว่า การที่มีคนไกลจากภาคกลางมาเป็นรัฐมนตรีซึ่งต้องดูแลรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย จะสามารถแก้ปัญหาได้ทันที ถ้าเขาเห็นมีปัญหาและต้องแก้ไข โดยเห็นว่าถ้าแก้ไขแล้วมีประโยชน์ เพราะเขาไม่มีอคติ ถ้าเป็นคนในพื้นที่ใกล้เคียงปัญหาแบบนี้คงไม่ได้แก้ไขแน่
                      ส่วนนโยบายด้านวัฒนธรรมและศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เพิ่มเงินเดือนโต๊ะอิหม่าม บิลาลและคอเต็บตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องทำงานหนักในพื้นที่ของตัวเอง ต้องรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตายของสัปปะบุรุษประจำมัสยิด เช่น การสมรส การย้ายร้างของชายหญิง การเกิด การตาย ซึ่งล้วนต้องมีพิธีการทางศาสนาอิสลาม หรือต้องให้คำวินิจฉัยในหลักการต่างๆและพิธีกรรมทางศาสนาอื่นๆ ในชุมชนมุสลิม เป็นต้น
                      อีกทั้งจะเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณให้แก่มัสยิด เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมทางศาสนาและซ่อมแซมมัสยิด เป็นต้น