อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
เวลา 18.30 น. วันที่ 30 มิถุนายน 2554 นายอาแซ หรือ อัสโตรา โต๊ะราแม ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.) เขต 4 จังหวัดนราธิวาส พรรคความหวังใหม่ และนายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์)พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปหาเสียงที่มัสยิด 300 ปี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยได้ร่วมละหมาดฮายัติพร้อมชาวบ้าน ในคืนวันศุกร์ ซึ่งถือเป็นคืนที่สำคัญที่สุดในรอบสัปดาห์ของชาวมุสลิม
หลังละหมาดนายอับดุลเร๊าะห์มาน เป็นผู้กล่าวปราศรัยหาเสียงก่อนเป็นภาษามลายูถิ่น หรือภาษายาวี โดยกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การกำหนดเป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นครปัตตานี ซึ่งเป็นนโยบายสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้
จากนั้นนายอัสโตรา ขึ้นกล่าวปราศรัยหาเสียงต่อ โดยกล่าวว่า นโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรความหวังใหม่คือ การปกครองพิเศษ ใช้ชื่อภาษามลายูว่า negeri patani raya โดยผนวกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนในสงขลาและสตูล เรียกเป็นเขตปกครองเดียวกัน
นายอัสโตรา กล่าวสโลแกนเป็นภาษามลายูว่า “tradisi baru yang kami akan cipta” หมายถึง วัฒนธรรมใหม่ที่พวกเรากำลังจะสร้างขึ้น คือวัฒนธรรมการหาเสียงในมัสยิดอย่างที่เคยมีในสมัยกลุ่มวะห์ดะห์รุ่งเรืองเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เนื่องจากมัสยิดเป็นสถานที่ขอพรเพื่อความเป็นมงคล
นายอัสโตรา กล่าวว่า การเลือกคืนวันศุกร์สุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งหลังละหมาดปกติต่อด้วยการละหมาดฮายัตเพื่อขอให้อัลลอฮฺประทานความสำเร็จและอ่านอัลกุรอาน เป็นความเชื่อของชาวมุสลิมว่าจะเป็นสิริมงคล
นายอัสโตรา กล่าวว่า การซื้อเสียง ตามหลักการอิสลามถือเป็นบาป ผู้ขายเสียง ผู้ซื้อและหัวคะแนน ต้องถูกไต่สวนจากพระเจ้า ดังนั้นตัวเองจึงต่อต้านสิ่งเหล่านี้ และหวังว่าประชาชนจะร่วมต่อต้านสิ่งนี้
นายมูหาหมัด หะยีมะ ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์พรรคความหวังใหม่ กล่าวว่า ทุกวันนี้การเมืองที่มีอิทธิพลมากกว่าศาสนา ทั้งที่ควรจะเป็นศาสนานำการเมือง สังคมทุกวันนี้จึงมีสิ่งไม่สิ่งดี มีความกดขี่ข่มเหงเกิดขึ้น จึงควรสร้างการเมืองที่ควบคุมโดยศาสนา เพื่อให้ความไม่เป็นธรรมหมดไป
ในส่วนผู้นำศาสนาประจำมัสยิด 300 ปี เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่เห็นนักการเมืองพรรคต่างๆ พูดถึงการปกครองในรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ การหาเสียงในมัสยิด เป็นการส่งสัญญาณว่าสิ่งที่พูดจะต้องรักษาและทำตาม
ภูมิใจไทยแก้ยุติธรรมยาเสพติดหวังไฟใต้ดับ
ขณะที่นายอรุณ เบ็ญจลักษณ์ ผู้สมัครส.ส.เขต 1จังหวัดปัตตานี พรรคภูมิใจไทย ลงพื้นที่หาเสียงในเขตตัวเมืองปัตตานี โดยนายอนุสรณ์กัลยาภิรักษ์ ที่ปรึกษานายอรุณ กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยมองว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มี3 ประเด็นหลักที่เป็นสาเหตุของการเกิดความไม่สบง ได้แก่ ความอยุติธรรมยาเสพติดและปัญหาเศรษฐกิจ
นายอนุสรณ์ เปิดเผยว่า พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายที่จะแก้ปัญหา3 ประเด็นนี้เป็นหลัก โดยจะไม่พูดถึงโมเดล(รูปแบบ)ทางการเมืองการปกครองอย่างที่พรรคการเมืองอื่นๆ เสนอเพราะมองว่าเป็นได้ยากมาก
นายอนุสรณ์ กล่าวว่าปัญหาเรื่องความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 คือ มิติของความรู้สึก และมิติด้านกระบวนการทางกฎหมาย การแก้ปัญหาในมิติของความรูสึกได้นั้นจะต้องใช้เวลานาน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยย่อมรับว่า การแก้ปัญหาในมิตินี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทางพรรคภูมิใจไทยจำเป็นที่จะต้องทำ
นายอนุสรณ์ กล่าวว่าส่วนการแก้ปัญหาด้านมิติทางกฎหมายนั้นจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเป็นมาตรฐานเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในส่วนปัญหายาเสพติดพรรคภูมิใจไทยมีนโยบายที่จะต้องแก้อย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่การปราบปรามเท่านั้น แต่พรรคมีนโยบายให้ผู้ที่เสพยายาเสพติดได้รับการเยียวยาและการบำบัดที่ถูกต้องด้วย
นายอนุสรณ์ กล่าวว่าส่วนปัญหาด้านเศรษฐกิจพรรคภูมิใจไทยมองว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากยังมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ ดังนั้นต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ก่อน จึงจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ก็จะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาทันทีโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่าส่วนเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลโดยภาพรวมพรรคภูมิใจไทยเห็นด้วย แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ให้ได้ก่อนเช่นกัน เพราะตราบใดที่ความขัดแย้งยังมีอยู่ในพื้นที่ก็จะไม่มีแหล่งทุนใดกล้าที่จะมาลงทุนในพื้นที่อย่างแน่นอน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในส่วนงบประมาณที่ลงมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากนั้น งบบางส่วนตกอยู่กับทหาร บางส่วนอยู่ที่ข้าราชการ จะทำอย่างไรที่จะให้งบประมาณเหล่านั้นลงไปถึงประชาชนระดับรากหญ้าจริงๆนั้น ดังนั้นจะต้องมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และมีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ