Skip to main content

แซมซู แยะแยง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

อันเฟรลส่งทีมสังเกตเลือกตั้งชายแดนใต้ เผยวันลงคะแนนล่วงหน้า พบมีแต่คนพกปืนเข้าคูหา ชี้ผิดหลักสากลร้ายแรง

 

 

 

 

                

เช็คมูฮัมมัด อัลตาฟูร เราะห์มาน ชาวบังกลาเทศ หนึ่งในทีมงานสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากองค์กรเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ อันเฟรล (ANFREL) ประจำพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า จากการสังเกตการณ์เลือกตั้ง ส.ส.ล่วงหน้า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา พบว่า มีข้อกังวล 2 ประการ ประการแรก คือ จำนวนสถานที่เลือกตั้งต่อจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ไม่สัมพันธ์กัน เนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิจำนวนมากจนต้องมีการต่อแถวยาวเหยียด เพราะต่างคนต่างก็รีบไปธุระอื่นต่อ

 

เช็คมูฮัมมัด เปิดเผยต่อไปว่า ประการที่สอง คือ ทุกหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มีคนพกพาอาวุธปืนเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับหลักการเลือกตั้งสากลอย่างร้ายแรง

“มันแปลกกว่าประเทศอื่นๆ เช่น การเลือกตั้งในอัฟกานิสถาน แม้มีเหตุการณ์รุนแรงกว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้มีคนแบกปืนเข้าคูหาเลือกตั้ง ทั้งที่ระบบการรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้งที่นี่เข้มงวดกว่าที่อัฟกานิสถานมาก” เช็คมูฮัมมัด กล่าว

เช็คมูฮัมมัด เปิดเผยด้วยว่า ส่วนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.) ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 อัลเฟรลได้ส่งทีมงานสังเกตการณ์ต่างหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว

เช็คมูฮัมมัด เปิดเผยต่อไปว่า การสังเกตการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ เน้น 2 ประการ ได้แก่ เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย โดยทีมสังเกตการณ์มาจากหลายประเทศ ซึ่งพวกเขาจะนำข้องสังเกตที่ได้จากการเลือกตั้งในประเทศไทยไปเผยแพร่ในประเทศของตัวเองต่อไป ซึ่งจะทำให้ทราบว่า รูปแบบของประชาธิปไตยในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร

เช็คมูฮัมมัด เปิดเผยด้วยว่า ข้อมูลและข้อสังเกตที่ได้จากการเลือกตั้งครั้งนี้ อันเฟรลจะทำรายงานส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งของประเทศไทย และส่งไปให้สื่อมวลชนทุกแขนงเพื่อทำการเผยแพร่ต่อไป โดยหลังเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการประชุมเพื่อประมวลภาพรวมการเลือกตั้งทั้งประเทศที่กรุงเทพมหานคร

เช็คมูฮัมมัด เปิดเผยเสริมว่า อัลเฟรลไม่ได้สังเกตการณ์เลือกตั้งเฉพาะประเทศที่มีปัญหาทางการเมืองเท่านั้น แต่จะส่งคงไปสังเกตการเลือกตั้งทุกประเทศในทวีปเอเชีย แม้ว่าแต่ละประเทศจะให้ความร่วมมือแตกต่างกัน เช่นการเลือกตั้งที่ประเทศมาเลเซียและอินเดีย แม้รัฐบาลไม่ค่อยให้ความร่วมมือมากนัก แต่อัลเฟรลก็จำเป็นที่จะต้องส่งคนไปสังเกตการเลือกตั้งทุกครั้ง