Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

            ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยสังคม ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยในโครงการสำรวจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในจังหวัดสตูล – สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่อง 22 ครั้ง รวมทั้งการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนต่อทิศทางและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในแนวสตูล-สงขลา และพื้นที่ต่อเนื่องด้วยแบบสอบถาม ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 - พฤษภาคม 2554 พบว่า ชาวบ้านต้องการการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยภาคการเกษตรและประมง เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในรูปของการท่องเที่ยว ดำรงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตร ที่มีการจัดโซนนิ่ง(การกำหนดพื้นที่)ที่ชัดเจน
            ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับแบบสำรวจดังกล่าว มี 2 ชุด ไม่น้อยกว่า 5,000 ฉบับ โดยสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่างกระจายไปทุกตำบล โดยนักวิจัยชุมชนของตำบลนั้นๆ เป็นคณะทำงาน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเว็บไซต์ www.plan-ss.net เพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการศึกษาเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้โครงการศึกษาวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้
            ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยด้วยว่า ส่วนข้อคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาที่ระบุในแบบสำรวจ อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟขนสินค้าอ่าวไทย-อันดามัน ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 อุโมงค์สตูล-เปอร์ลิศ แนววางท่อขนส่งน้ำมัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ของจังหวัดสตูลและสงขลา รู้สึกกังวลกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต วัฒธรรม ประเพณี ฯลฯ
            ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 สถาบันวิจัยสังคม จะจัดเวทีเสวนาครั้งใหญ่ เพื่อนำเสนอข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าว ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมร่วมตรวจสอบ นำเสนอ แสดงความคิดเห็น เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาจังหวัดสตูลและสงขลา โดยจะเชิญทุกภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสีย กลุ่มเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และนักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) เช่น นายบรรจง นะแส จากสถาบันรักษ์ทะเลไทย นายกิตติภพ สุทธิสว่าง เป็นต้น มาเข้าร่วม
            ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยด้วยว่า หลังจัดเวทีเสวนาใหญ่ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 แล้วจะสรุปเป็นรายงานทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในจังหวัดสตูล-สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่อง ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ทบทวนร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป
            ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยว่า สำหรับโครงการสำรวจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในจังหวัดสตูล – สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่อง เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทบทวนร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ต่อมาสภาพัฒน์ ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการ ด้วยงบประมาณ 3.98 ล้านบาท
            ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยต่อไปว่า เหตุที่การดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากเกิดเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ และอยู่ในช่วงของการเลือกตั้ง
            ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยว่า การจัดเวทีย่อย ได้เชิญสื่อมวลชนทั้งในสตูลและสงขลา เข้าร่วมด้วย ประกอบด้วย องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(อสมท.)จังหวัดสงขลา ประธานชมรมสื่อมวลชนจังหวัดสงขลา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล ประธานชมรมสื่อมวลชนจังหวัดสตูล เป็นต้นแต่มีการนำเสนอข่าวน้อยมาก ทั้งมีข่าวจากนักข่าวพลเมืองเสนอว่าตนรับเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้สนับสนุนท่าเรือน้ำลึกปากบารา