ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องสมิหลา 2 โรงแรม บี.พี. สมิหลาบีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สำนักงานจังหวัดสงขลาจัดการประชุมสัมมนาการเตรียมความพร้อมของจังหวัดเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดยมีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา ตัวแทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีด่านชายแดน หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด และส่วนกลาง ประมาณ 120 คนร่วม
นายเอนก มีมงคล ผู้อำนวยการส่วนเศรษฐกิจ สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า จะส่งผลกระทบกับพัฒนาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เพราะจะไปแย่งชิงโอกาสในการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าในฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย และจะทำให้ความเป็นได้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราน้อยลง
นายเอนก กล่าวว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงาน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ที่เป็นพลังงานสำคัญของอาเซียน
นายเอนก กล่าวอีกว่า ส่วนยุทธศาสตร์โลจิติกส์จะให้อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จะเป็นชุมทางศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า(ICD) ทางรถยนต์ และรถไฟ แล่นผ่านมอเตอร์เวย์(ทางด่วนพิเศษระหว่างเมือง) ผ่านด่านสะเดาไปยังท่าเรือน้ำลึกปีนัง ประเทศมาเลเซีย
“ผลสืบเนื่องจากการเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกทวายที่ชัดเจน ทำให้โครงการท่าเรือน้ำลึกนาเกลือ ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรังก็ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ตามโครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle:IMT-GT)” นายเอนก กล่าว
นายพรชัย ด่านวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ บรรยายเรื่อง การเตรียมความพร้อมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในระดับจังหวัด ภายใต้กรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดความร่วมมือภายใต้กฎบัตรอาเซียน ที่มีประชาคมด้านการเมือง ความมั่นคง ประชาคมด้านเศรษฐกิจ ประชาคมด้านวัฒนธรรม และประชาคมภาคประชาสังคม (NGOs)
“ การเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าสูประชาคมอาเซียนนั้น จะต้องมีการ ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รวมถึงการพัฒนาบุคลากร และแรงงานฝีมือ เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันในประชาคมอาเซียน ” นายพรชัย กล่าว
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บรรยายเรื่อง ทิศทางการพัฒนาการค้าลงทุนของไทยในประชาคมอาเซียน สรุปสาระสำคัญได้ว่า แนวโน้มการแข่งขันลงทุนในอนาคตจะรุนแรง ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาส และเป็นแรงกดดันในตัว ขึ้นอยู่กับการบริหารและจัดการ ภาครัฐควรสนับสนุนภาคเอกชนให้มากขึ้น สำหรับการลงทุนของไทยที่มีอนาคตในภูมิภาคอาเซียน คือ การท่องเที่ยว การบริการ สุขภาพ ฯลฯ
“ต่อไปในประชาคมอาเซียนจะต้องการแรงงานฝีมือ สาขาวิศวกรรม แพทย์ พยาบาล นักสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ สถาปัตยกรรม ซึ่งไทยจะต้องเน้นหลักสูตรการศึกษาด้านวิชาชีพเหล่านี้ หรือไม่ก็ส่งเสริมให้เรียนทางด้านอาชีวะเพิ่มมากขึ้น” นายสมเกียรติ กล่าว
นายชูชาติ เถาธรรมพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 5 กล่าวว่า ไทยยังพึ่งพิงต่างชาติสูงในการดึงให้มาลงทุนในประเทศ แม้ไทยจะมีการส่งออกสูงแต่ต้นทุนการผลิตสูงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องจักร เทคโนโลยี วัตถุดิบบางชนิดที่ต้องนำเข้า ทั้งยังต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศที่บริโภคพลังงาน 6 แสนบาเรลต่อวัน ถ้าเปิดเสรีจริงผู้ประกอบการของไทยจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ความสามารถในการแข่งขันต่ำ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก
“ภาครัฐควรนำไปพิจารณาในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมบริเวณชายแดนประเทศไทย-มาเลเซีย เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการต่อต้านของชาวบ้านที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งปัจจัยโครงสร้างโลจิสติกส์ และระบบรางที่ใช้ไม่ได้เต็มที่ ส่วนท่าเรือน้ำลึกก็สร้างไม่ได้สักที” นายชูชาติ กล่าว
นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โครงการมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา ได้บรรจุเข้าแผนพัฒนาจังหวัดสงขลาแล้ว โดยต่อไปจากนี้จะมีการติดป้ายโปสเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา ตามตัวเมืองหาดใหญ่ และสงขลา เพื่อป้องกันการเกิดกระแสต้านจากชาวบ้านเหมือนโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย
“ถ้าต้องการเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงานระหว่างอ่าวไทย-อันดามัน ต้องผลักดันสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เดินหน้าสร้างด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อเป็นประตูสู่อาเซียน ผมจะต้องดึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์มาให้ได้” นายสุรชัย กล่าว
นายชำนาญ นพคุณขจร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสงขลาต้องดูก่อนว่าสงขลามีอะไร ชาวบ้านประกอบอาชีพอะไร ประกอบธุรกิจอะไร ที่ผ่านมาคนข้างนอกที่เข้ามาทำธุรกิจเปิดห้างร้านขนาดใหญ่ในจังหวัดสงขลา จนผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่สามารถแข่งขันได้
“สงขลามียางพารา อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารามีน้อย สงขลา มีทะเล มีปลา แต่โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำก็มีน้อย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพอมีบ้าง แต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน” นายชำนาญ กล่าว
นายประณีต โชติกีรติ เวช ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า การเปิดเสรีภาคการเงินและหลักการเงินทุนเคลื่อนย้ายภายในกรอบอาเซียน แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ การเปิดเสรีตลาดทุน การบริการทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และการพัฒนาระบบชำระเงิน ซึ่งมีมาตรการเปิดเสรีเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในช่วงปี 2553-2554 ระยะเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันในช่วงปี 2555-2556 และระยะแข่งขันสุดเหวี่ยงในปี 2557 เป็นต้นไป
“เพื่อให้สามารถสร้างความมั่นคงให้กับการประกอบการด้านธุรกิจ แล้วยังทำหน้าที่เป็นทางการเงินโดยคอยให้ความรู้ ความเสี่ยง การวางแผนการลงทุน และคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินด้วย สำหรับแนวทางการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยเฉพาะผู้สูงอายุ” นายประณีต กล่าว