Skip to main content
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
 
 
สะบ้าย้อย
 
"เจ้าหญิงเพคะ รู้ไหมว่า ทรัพยากรในโลกนี้ ถ้าใช้อย่างฟุ่มเฟือยจะหมดไปอย่างไม่รู้ตัว"
 
"ทำไมเราล่ะ! แม่นม ในเมื่อเรามีกินมีใช้ อย่างไรก็ไม่มีวันหมด บนทรัพย์สินสมบัติของเรา" เจ้าหญิงองค์นั้นตอบอย่างห้วนๆ
 
นักศึกษาหญิงคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้รับบทเป็นแม่นม ถามเจ้าหญิงผู้เอาแต่ใจที่นั่งกอดอกอยู่บนแคร่ ประหนึ่งบัลลังก์ ที่ไม่ยีหระกับสิ่งที่ตนเองทำ
 
ครู่ต่อมาเจ้าชายองค์หนึ่งก็ปรากฏ "ทำอย่างนี้ไม่ถูกนะเจ้าหญิง มันเป็นการเห็นแก่ตัวเกินไป รู้ไหมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เจ้าหญิงใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือย ไม่นานจะนำความขาดแคลนมาสู่โลก"
 
"ฮา ฮา ฮา ฮา ฮา เจ้ามนุษย์โลกผู้โง่เขลาทั้งหลาย แต่ละคนมัวคิดอยู่อย่างนี้ไง ทุกคนจึงกลายเป็นทาส สาวกแห่งข้า" เสียงหัวเราะอันน่าสะพรึงกลัวตามด้วยคำพูดของแม่มดก็ดังลั่นขึ้นมา
 
"ไม่ ไม่ ไม่ ข้าไม่ยอมให้โลกตกอยู่ในเงื้อมมือของนางแม่มดเป็นอันขาด เราต้องร่วมใจกันพิทักษ์โลกด้วยการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างรู้คุณค่า ด้วยวิธีใด ใครรู้บ้าง?" เจ้าชายหันไปถามพวกเด็กนักเรียนที่ล้อมวงดูละคร
 
"เจ้าหญิงฟุ่มเฟือย กับเจ้าชายคุ้มค่า" คือชื่อละครเรื่องนี้
 
"เราต้องใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดครับ" เด็กชายคนหนึ่งตอบแบบเขินๆ จนเรียกหัวเราะจากเพื่อนๆลั่นหอประชุม
 
เป็นการแสดงละครใน"ค่ายนักวิจัยจิ๋ว" ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2554 ที่โรงเรียนสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
 
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยท้องถิ่น เรื่อง “ความเป็นไปได้ของการตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา” จัดโดยสหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง (สะบ้าย้อย 6 ) จำกัด ร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมหาวิทยาลัยชีวิตเมืองนครศรีธรรมราช 
 
ภายใต้โครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (ระยะที่ 2) ภายใต้กรอบ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือก และโรงไฟฟ้าชุมชน” ที่มีผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา เป็นหัวหน้าโครงการ
 
เดิมทีสหกรณ์กองทุนสวนยางแห่งนี้ ใช้ไม้ฟืนยางพาราเป็นเชื้อเพลิงผลิตยางรมควัน ซึ่งนับวันราคาไม้ฟืนยางพารามีแนวโน้มสูงขึ้น จนกระทบกับต้นทุน จึงเป็นที่มาของการร่วมวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับโครงการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า มาตั้งแต่ปี 2551โดยทดลองนำเชื้อเพลิงอัดแท่งมาใช้
 
ผลการทดลองในระดับห้องปฏิบัติและในห้องรมควันจริงของสหกรณ์ฯ พบว่า เชื้อเพลิงอัดแท่งให้ผลดีต่อการผลิต สหกรณ์ฯจึงคิดนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น มาผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งเอง คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก
 
ส่วน"ค่ายนักวิจัยจิ๋ว" จัดขึ้นเพื่อให้เด็กๆเรียนรู้กระบวนการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกในท้องถิ่น ศึกษาความเป็นไปได้ของแหล่งวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม
 
วัตถุดิบที่นำมาทดลองใช้ เช่น กะลามะพร้าว กิ่งไม้ เปลือกผลยางพารา เปลือกผลไม้ ฯลฯ มาเผาเป็นถ่านแล้วอัดเป็นแท่ง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลง เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายขนส่ง
 
ผศ.ดร.จิตติ บอกว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กังวลเรื่องไฟฟ้าไม่พอใช้ในอนาคต จนให้ตนศึกษาและรับงานมวลชนสัมพันธ์ แต่ตนปฏิเสธ เพราะไม่อยากถูกครอบงำ แต่รับเรื่องการศึกษาวิจัยร่วมกัน เพื่อแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาพลังงานในภาคใต้
 
สำหรับการศึกษาความเหมาะสมเพื่อการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2552 - 2554 ) ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 ตามนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
 
เป็นกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการจัดการพลังงานไฟฟ้า ภายใต้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสริมสร้างเครือข่ายเชื้อเพลิงอัดแท่ง และระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้
 
ที่ผ่านมา มีการสำรวจเบื้องต้น 12 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล เป็นต้นแบบการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เกี่ยวกับพลังงานทางเลือก เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน ซึ่งมาจากรากฐานอันเข้มแข็งของคนในชุมชน เพราะเกี่ยวข้องกับป่า คน น้ำ อาชีพ ที่จะต้องไปด้วยกัน โดยมุ่งหวังว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนน่าจะให้คำตอบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน หรือการพึ่งตนเองของชุมชน
 
"พี่จะกลับมาแสดงละครให้เราดูอีกไหม" เด็กคนหนึ่งถามนักแสดง ก่อนรถตู้ปรับอากาศขับออกไปจากหมู่บ้าน ทิ้งรากฐานทางพลังงานทางเลือกชุมชนทิ้งไว้ ให้ชาวบ้ายได้สานงานต่อไป