ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ศาลปกครองจังหวัดสงขลา นายสมยศ วัฒนภิรมณ์ ตุลาการศาลปกครอง ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 16/2551 ระหว่างนายสาลี มะประสิทธิ์ กับพวกรวม 3 คน ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า) กับพวกรวม 3 คน คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
โดยมีชาวบ้านอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประมาณ 80 คน ร่วมรับฟัง
นายสมยศ อ่านสรุปข้อเท็จจริงของคดีว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ว่าจ้างบริษัทให้ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นในร่องน้ำสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา การวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า จะมีตะกอนจากแนวชายฝั่งจะทำให้เกิดสันดอนทรายขวางปากร่องน้ำทำให้ตื้นเขิน ทำให้เรือประมงไม่สามารถเดินเรือได้สะดวก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องมีก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น
นายสมยศ สรุปข้อเท็จจริงอีกว่า ระหว่างปี 2539 – 2541 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมการขนส่งทางน้ำและพานิชย์นาวี) ได้สร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น บริเวณร่องน้ำสะกอม เป็นเขื่อนหิน 2 ตัว ตัวล่งท่งทิศตะวันออก ยาวประมาณ 620 เมตร ตัวบนด้านทิศตะวันตกมีความยาวจากชายฝั่งประมาณ 606 เมตร และก่อสร้างอีกตัวหนึ่งอยู่บริเวณชายหาดของเขื่อนด้านเหนือของเขื่อน จำนวน 4 ตัว คลอบคลุมแนวชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร
“ต่อมาภายหลังการการสร้างคันเขื่อนผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 (นายสาลี มะประสิทธิ์,นายเจะหมัด สังข์แก้ว และนายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี) ซึ่งเป็นผู้อาศัยและทำอาชีพประมงชายฝั่งบริเวณหาดดังกล่าว เห็นว่าการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งของอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และตามหลักวิชาการ เป็นเหตุให้ชายฝั่งบริเวณร่องน้ำสะกอมเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงต่อเนื่องตลอดแนวชายฝั่งและลึกไปเรื่อ อีกทั้งสัตว์น้ำรวมทั้งระบบนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อมเสียหาย ไม่สามารถทำประโยชน์บริเวณชายหาดสะกอมได้ดังเดิม” นายสมยศ สรุป
หลังจากนั้น นายสมยศ วัฒนภิรมณ์ ตุลาการศาลปกครอง นัดอ่านคำพิพากษาในเวลา 10 .00 น. ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2554
นายสมบูรณ์ พรพิเนศพงศ์ นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 คนให้แถลงยืนยันคำให้การ เปิดเผยว่า ตนเป็นนักวิชาการด้านวิศวกรชายฝั่ง ตนรู้ว่าการการสิ่งก่อสร้างใดก็ตามที่รุกล้ำลงไปในทะเล ไม่ว่า เขื่อนกันทรายและคลื่น ไปจนถึงท่าเรือน้ำลึก จะทำกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า คดีนี้มีความสำคัญเป็นอันมาก และจะเป็นคดีประวัติศาสตร์ในการสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับการสร้างคันเขื่อนในทะเล หากศาลปกครองพิพากษาออกมาว่ายกฟ้อง มีแนวโน้มว่าต่อไปหาดทรายจะถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงและหายไปจากประเทศไทย หากศาลปกครองพิพากษาให้ชาวบ้านชนะ จะทำให้เกิดการตื่นตัวของชาวบ้านในการอนุรักษ์ชายฝั่งอย่างจริงจัง
“ สำหรับการเสนอความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีว่ายกฟ้องในวันนี้เป็นแค่ไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะ เรียกว่าคำแถลงการณ์ซึ่งไม่ผูกพันกับองค์คณะในการจัดทำคำพิพากษา คำพิพากษาขององค์คณะจะมีคำวินิจฉัยเป็นไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับตุลาการในองค์คณะ” นายสมบูรณ์ กล่าว