นูรยา เก็บบุญเกิด, ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ (DSP) รวมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และมูลนิธิซาซากาว่า ประเทศญี่ปุ่น จัดโครงการบันทึกภาพชายแดนใต้ 2554 : ความจริงที่ถูกมองผ่าน พร้อมเปิดตัววารสารภาพ WeWatch ฉบับแรกภายใต้ชื่อ ‘In Between ; Restive South’ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่ร้านกาแฟคอฟฟี่เมคเกอร์เยื้องห้างโคลีเซียม อ.เมือง จ.ยะลา มีช่างภาพทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น เข้าร่วมกว่า 70 คน
หลังการเปิดตัววารสารดังกล่าว มีกิจกรรมให้ช่างภาพผู้เข้าร่วมเดินลงพื้นที่ถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ ภายในตัวเมืองยะลา ส่วนใหญ่เดินถ่ายภาพบริเวณถนนยะลาสายกลาง สถานีรถไฟยะลา
ระหว่างการลงพื้นที่ภาพมืออาชีพได้แนะนำเทคนิคในการถ่ายภาพให้ช่างภาพมือสมัครเล่น และผู้สนใจทั่วไป
นายปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ หรือ บอย ผู้ประสานงานเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ กล่าวระหว่างแถลงเปิดตัววารสารภาพ WeWatch ว่า เครือข่ายภาพชายแดนใต้ เป็นการร่วมกลุ่มของนักถ่ายภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นช่างภาพสื่อมวลชน ช่างภาพสื่อทางเลือก ช่างภาพอิสระ ช่างภาพอาสาสมัคร รวมถึงช่างภาพสมัครเล่น
นายปิยศักดิ์ กล่าวว่า เครือข่ายภาพชายแดนใต้ เชื่อว่า “ภาพถ่าย” จะสามารถสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา และจะเป็น เครื่องมือที่ทรงพลัง ในการกระตุ้นหรือชักชวนสังคมให้เกิดการสนทนาถึงแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงความต้องการของทุกฝ่ายโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้
นายปิยศักดิ์ เปิดเผยว่า เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ จึงร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังชายแดนใต้และมูลนิธิซาซากาว่า ประเทศญี่ปุ่น จึงได้เตรียมจัดงานมหกรรมภาพถ่ายชายแดนใต้ขึ้น ในช่วงปลายปี 2554 นี้ โดยกิจกรรมเริ่มต้นจากการตระเวนบันทึกภาพวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554
นายปิยศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า การตระเวนบันทึกภาพดังกล่าว เพื่อรวบรวมผลงานภาพถ่ายมาจัดแสดงนิทรรศการ และคัดสรรภาพมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่เป็นหนังสือภาพต่อสาธารณะในวงกว้างต่อไป
นายปิยศักดิ์ กล่าวว่า กว่า 7-8 ปีที่ความรุนแรงถาโถมทั่วจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวได้ว่าไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ แม้กลายเป็นความชาชินของผู้คนที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยง และบรรยากาศการระแวดระวังภัยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่งคง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นยอมส่งผลต่อวิถีชีวิตและความรู้สึก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ร่องรอยของความสูญเสียทั่งต่อชีวิตและทรัพย์สินยังคงปรากฏให้เห็น ความหวาดกลัวระแวงยังคงซ่อนเร้นอยู่ในแววตา
นายปิยศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่สังคมนอกพื้นที่ส่วนใหญ่ ยังคงรับรู้ความเป็นไปของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านภาพความรุนแรง หรือไม่ภาพเชิงวัฒนธรรมที่ถูกขับเน้นขึ้น เพื่อจะลดทอนบรรยากาศความไม่ปกติ ส่งผลให้ภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่ดำรงอยู่ตามความเป็นจริงในมิติต่างๆ เช่น เชิงสังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตหรืออื่นๆ มักถูกมองผ่าน
นางสาวตติกานต์ เดชชพงศ บรรณาธิการวารสารภาพ WeWatch เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ที่จัดทำวารสารฉบับนี้ เพื่อต้องการถ่วงดุลการนำเสนอภาพของสื่อกระแสหลัก ที่มักเป็นภาพที่แสดงถึงเหตุการณ์ไม่สงบหรือความรุนแรงรายวัน มากกว่าแง่มุมอื่นๆ วารสารฉบับนี้ จึงเป็นพื้นที่นำเสนอภาพในมุมอื่นๆ ที่ยังไม่เคยนำเสนอ
นางสาวตติกานต์ เปิดเผยอีกว่า ภาพและเนื้อหาโดยรวมของวารสารภาพ WeWatch มีหลายแง่มุม เช่น การช่วยเหลือหรือการจัดการกันเองภายในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นแง่มุมที่คนภายนอกอาจจะไม่ค่อยเห็น
นางสาวตติกานต์ เปิดเผยอีกว่า กลุ่มเป้าหมายผู้อ่านวารสารภาพ WeWatch คือ ทั้งคนในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อในส่วนกลาง นักวิชาการ หรือชาวต่างชาติ หรือหน่วยราชการอื่นๆ ที่ยังไม่ได้สามารถเข้าถึงประเด็นดังกล่าวได้
นางสาวตติกานต์ เปิดเผยต่อไปว่า วารสารภาพ WeWatch จัดพิมพ์ 1,000 เล่ม ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ดูแลและจัดการเผยแพร่ให้ประชาชนที่สนใจ โดยพิมพ์ 2 ภาษาในเล่มเดียวกัน คือ ภาษาอังกฤษกับภาษาไทย เพื่อต้องการสื่อการกับคนในวงกว้าง มากกว่าแค่ในประเทศ ต่อไปอาจมี 3 ภาษา แต่ไม่ได้ระบุว่าฉบับต่อไปจะจัดพิมพ์อีกเมื่อไหร่ แต่อาจจะออกตามกิจกรรม
นายฟูอัด แวสะแม ช่างภาพอิสระจากกลุ่มซี้ด จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การใช้ภาพสันติภาพแทนความรุนแรงและความขัดแย้งในสื่อกระแสหลักนั้น ทำได้ยากมาก เนื่องจากสื่อกระแสหลัก มักจะกำหนดลักษณะภาพที่ควรจะเป็นภาพข่าว หรือภาพอะไรก็ตามที่อยู่ในกระแสความสนใจของคน
นายฟูอัด กล่าวต่อไปว่า ภาพวิถีชีวิตต่างๆ ก็เป็นภาพสันติภาพได้เช่นกัน เพราะภาพเหล่านั้น แสดงให้เห็นอัตลักษณ์และความเป็นอยู่ของพื้นที่ที่มีความเรียบง่ายและเป็นภาพที่เชิงสร้างสรรค์อีกด้วย
นายฟูอัด เปิดเผยว่า ลักษณะภาพถ่ายของกลุ่มซี้ด เน้นนำเสนอภาพแสดงให้เห็นความสวยงามให้มากที่สุด การนำเสนอข่าว ควรเป็นรูปแบบรายงานพิเศษเชิงข่าวที่เป็นในเชิงสร้างสรรค์ออกไปให้มากๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลกันระหว่างการนำเสนอภาพที่รุนแรงของสื่อกระแสหลักและการนำเสนอภาพแห่งสันติภาพของสื่อทางเลือก
นายฟูอัด เปิดเผยอีกว่า การถ่ายภาพที่สวยงามตามนิยามของกลุ่มซี้ด คือ การถ่ายโดยเน้นการวางองค์ประกอบของภาพ การจัดแสงของภาพ เช่น การถ่ายภาพอาคาร ภาพคน หรือภาพพระอาทิตย์ตกดิน ในขณะที่กลุ่มอื่นจะเน้นถ่ายภาพข่าว หรือภาพกิจกรรม ซึ่งเมื่อกลุ่มเหล่านี้รวมตัวกันก็จะเกิดภาพที่สร้างสรรค์สังคมขึ้น
นายฟูอัด กล่าวอีกว่า แม้ในทางจิตวิทยา ภาพถ่ายสันติภาพจะช่วยเยียวยาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง หากใช้สื่อสังคมออนไลน์(social network)หรือสื่อทางเลือกอื่นๆ นำเสนอภาพดีๆเหล่านี้ ก็อาจจะช่วยให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้มาก และสักวันหนึ่ง ภาพแห่งสันติภาพเหล่านี้ อาจจะไปแทนที่ภาพความขัดแย้งและความรุนแรงในสื่อกระแสหลักได้
นายสุรพันธ์ บุญถนอม ช่างภาพข่าว จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กล่าวในวารสารภาพ WeWatch ‘In Between ; Restive South’ ว่า ช่างภาพต้องมีความคิดเป็นของตัวเองในถ่ายภาพ อย่าให้ใครชี้นำ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือแหล่งข่าว
“สมมติว่า เราไม่ได้เป็นช่างภาพในพื้นที่ เมื่อไปหาเจ้าหน้าที่ เขาก็จะพาเราไป ที่เกิดเหตุหรือสถานที่บางแห่ง แล้วบอกให้เราถ่ายภาพตามที่เขาบอก ซึ่งเราไม่รู้ว่าเบื้องหลังเป็นอย่างไร ตรงนี้จะทำให้เราไม่ปลอดภัย เราจะสูญเสียความเป็นกลางไป เพราะการนำเสนอภาพบางภาพ มันก็ฟ้องว่า คนถ่ายภาพนี้คิดอย่างไร คนดูภาพรู้ว่าเราคิดอย่างไร ต้องการสะท้อนอะไรให้เขารู้” นายสุรพันธ์ กล่าว
นายสุรพันธ์ กล่าวอีกว่า ต้องทำบทบาทช่างภาพให้ชัดขึ้น เพราะตอนนี้สื่อมวลชนภาคใต้ถูกมองว่า ไม่ได้ช่วยสถานการณ์ให้ดีขึ้น ชาวบ้านอยากเห็นว่า สื่อจะช่วยชาวบ้านได้อย่างไร
“พวกเราต้องสร้างให้มีสีสันออกมาจากหมู่บ้าน ให้เห็นรอยยิ้มของคนที่มีความเครียดในพื้นที่ เอามันออกมาให้ได้ วัตถุประสงค์หลัก คือ ให้ได้ประโยชน์กับเขา สร้างความประทับใจให้เขา สร้างรอยยิ้มให้เขา” นายสุรพันธ์ กล่าว