จริงใจ จริงจิตร โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
นักวิจัยจิ๋ว – นักวิจัยจิ๋วจาก 10 โรงเรียน ในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เข้าค่ายอบรมผลิตถ่านอัดแท่ง ก่อนขยายผลไปผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะและน้ำเสีย
นางสาวกนกวรรณ เกิดผลานันท์ นักวิจัยโครงการการจัดการความรู้ด้านหลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (ระยะที่สอง) ภายใต้กรอบการศึกษาเพื่อการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกและโรงไฟฟ้าชุมชน เปิดเผยว่า จากการจัดโครงการค่ายนักวิจัยจิ๋ว อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 25–26 พฤษภาคม 2554 ปรากฏว่า โรงเรียนคอลอมุดอ หนึ่งในจำนวน 10 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการค่ายนักวิจัยจิ๋วฯ มีโครงการจะขยายผลจากการอบรม ด้วยการนำเศษขยะและน้ำเสียไปทำก๊าซชีวภาพ เพราะโรงเรียนมีเศษขยะและน้ำเสียเยอะเพียงพอที่จะนำมาทำก๊าซชีวภาพได้
นางสาวกนกวรรณ เปิดเผยต่อไปว่า ทางโครงการการจัดการความรู้ด้านหลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (ระยะที่สอง) จึงให้การสนับสนุนโรงเรียนคอลอมุดอ โดยมอบหมายให้ ผศ.ดร.สุเมธ ไชยประสิทธิ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ไปอบรมการทำก๊าซชีวภาพจากขยะและน้ำเสีย ให้กับทางโรงเรียน ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2554
นายมานพ ประทุมทอง นักวิจัยโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (ระยะที่สอง) ภายใต้กรอบการศึกษาเพื่อการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกและโรงไฟฟ้าชุมชน เปิดเผยว่า สำหรับโรงเรียนบ้านคอลอมุดอ ได้ร่วมกับชุมชนทำโครงการธนาคารขยะ รวมทั้งทดลองเผาถ่านจากกะลามะพร้าว และการผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร โดยประสานความร่วมมือกับทางโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ฯ อย่างใกล้ชิด
“ขณะนี้นักวิจัยจากโครงการค่ายนักวิจัยจิ๋วฯ ได้ลงเก็บข้อมูลหาชนิดและปริมาณของวัสดุในท้องถิ่น ที่สามารถนำมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่งได้ จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่ากะลามะพร้าวเป็นวัสดุอย่างหนึ่งที่มีมาก แค่ร้านขายกะทิสดสองร้านในตลาดอำเภอสะบ้าย้อยก็ให้กะลามะพร้าวมากถึงเดือนละ 6 ตัน ถือเป็นปริมาณที่มากพอสำหรับการผลิตถ่านอัดแท่ง หากนักวิจัยจิ๋วได้เก็บข้อมูลทั่วทั้งอำเภอเชื่อมั่นว่า จะได้ข้อมูลชนิดและปริมาณวัสดุอื่นๆ เป็นตัวเลขที่ชัดเจนยิ่งขึ้น” นายมานพ กล่าว
โครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (ระยะที่สอง) ภายใต้กรอบการศึกษาเพื่อการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกและโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกและจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2551 สำหรับพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย มีการพัฒนาแบบและสร้างเตารมยางลูกผสมประหยัดพลังงานเป็นโครงการนำร่อง ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง ช่วยประหยัดไม้ฟืนนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิตของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง โดยมีชุมชนบ่อทอง ตำบลสะบ้าย้อย เป็นเจ้าของ เตาชนิดนี้ออกแบบให้ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นได้ หากไม้ฟืนราคาสูงหรือขาดแคลน โดยมีค่ายนักวิจัยจิ๋ว อำเภอสะบ้าย้อย ช่วยให้ครูและนักเรียนดำเนินงานวิจัยร่วมกับชุมชนหาคำตอบเรื่องวัสดุในท้องถิ่นสำหรับการผลิตถ่านอัดแท่งในอนาคต
สำหรับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการค่ายนักวิจัยจิ๋ว อำเภอสะบ้าย้อยมีทั้งสิ้น 10 โรง ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านสุโสะ โรงเรียนบ้านโคกตก โรงเรียนสะบ้าย้อย โรงเรียนบ้านควนไม้ไผ่ โรงเรียนบ้านบาโหย โรงเรียนอุทยานอุทิศ โรงเรียนบ้านคอลอมุดอ โรงเรียนบ้านคูหา โรงเรียนบ้านห้วยบอน และโรงเรียนบ้านบ่อทอง