18 July 2011
ไซม่อน รัฟนีน
ผู้ชุมนุมกลุ่ม Bersih 2.0 เดินขบวนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Simon Roughneen)
กัวลาลัมเปอร์ – การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้ทำให้เดิมพันการเลือกตั้งที่จะมาถึงของมาเลเซียต้องเปลี่ยนไป ในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียยังคงขู่ว่าจะดำเนินการปราบปรามต่อผู้ชุมนุมฝ่ายค้าน
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ได้แถลงอย่างท้าทายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปการเลือกตั้งด้วยเงื่อนไขของตนเอง โดยกล่าวว่า “เราต้องการให้มาเลเซียและอัมโนเป็นที่เคารพจากประเทศอื่นๆ ในโลก ฉะนั้น จงกลับไปเถอะ เราต้องสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และด้วยพระเจ้าอวยพร เราจะประสบความสำเร็จในทำเช่นนั้น”
ท่ามกลางการคาดคะเนถึงการปฏิรูปและการประท้วงของฝ่ายค้านจะมีมาอีก รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ฮิแชม ฮุสเซน กล่าวว่า ตำรวจจะทำการสืบสวนบัญชีทางการเงินของผู้ประท้วง และรัฐบาลยังกล่าวหาผู้ชุมนุมด้วยว่ามีการลักลอบนำอาวุธที่ผิดกฎหมายมาใช้ในการชุมนุม
ในวันเสาร์ที่ผ่านมา จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียนในหลายจุดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ปรากฏว่ามีความวุ่นวาย หรือความพยายามก่อความไม่สงบในกัวลาลัมเปอร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ในวันศุกร์ กัวลาลัมเปอร์ได้กลายเป็นเมืองร้างเนื่องจากมีการปิดถนนโดยตำรวจหลายแห่ง
ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำเข้าไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม โดยในบางครั้งก็ไม่มีการเตือนล่วงหน้า ผู้ชุมนุมได้พยายามจะเดินขบวนจากหลายจุดเพื่อไปยังสนามกีฬาเมอร์เดกา ซึ่งเป็นสถานที่สัญลักษณ์ของการประกาศอิสรภาพของมาเลเซียในปี พ.ศ. 2500
จากการชุมนุมดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน และผู้ชุมนุมอีก 1,667 คนถูกจับในระหว่างการสลายการชุมนุม ในจำนวนนี้ รวมถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภา อันวาร์ อิบราฮิม และแกนนำในการชุมนุม นางอัมพิกา สะรีนาวาซัน แกนนำกลุ่มเบอเซะ 2.0 (Bersih 2.0) ซึ่งเป็นแนวร่วมของเอ็นจีโอ 62 องค์กรที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้ง โดยมองว่าการเลือกตั้งในปัจจุบันมีการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรครัฐบาลหรือแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan National – BN ) มากเกินไป ทั้งนี้ แนวร่วมแห่งชาติ ได้เป็นรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การประกาศอิสรภาพประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2500
ผู้เข้าร่วมการชุมนุมซึ่งเป็นเยาวชนสองคน กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังจากที่พวกเขาวิ่งหนีจากแก๊สน้ำตาท่ามกลางความร้อนและสายฝนว่า พวกเขากำลังประท้วงต่อต้านระบบการเลือกตั้งที่มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่รัฐบาล ราชิด อายุ 19 ปี กล่าวถึงรัฐบาลว่า “พวกเขากำลังโกงเราอยู่” ในขณะที่อัซราอิ อายุ 19 ปีเสริมว่า หากไม่มีการปฏิรูปการเลือกตั้ง เขาจะไม่ไปออกเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป “ระบบมันคอรัปชั่น เลือกไปก็ไม่มีประโยชน์” เขากล่าว
การชุมนุมดังกล่าวไหลทะลักเข้าสู่ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ตลอดบ่ายวันเสาร์ ควบคู่กันกับการสลายการชุมนุมของตำรวจด้วยการใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำ โดยมีความพยายามรวมตัวกันใหม่ของกลุ่มผู้ชุมนุมในหลายๆ จุดบริเวณใจกลางเมือง
นายศิวะระศา ราสิอาห์ (Sivarasa Rasiah) สมาชิกสภาฝ่ายค้านและสมาชิกอาวุโสพรรค People’s Justice Party (PJP) ของอันวาร์ อิบราฮิม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อิระวดีว่า ปฏิกิริยาของรัฐบาลต่อการชุมนุม เป็นการแสดงให้เห็นถึงโฉมหน้าอำนาจนิยมที่น่าเกลียดของความเป็นรัฐตำรวจของมาเลเซีย ซึ่งไม่ได้เตรียมตัวมาให้รับมืออย่างอดกลั้น ต่อการชุมนุมที่สันติที่เกิดขึ้นเลย
นักวิชาการมองว่า การสลายการชุมนุมในครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุ และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวนานาชาติของมาเลเซียได้ โดยในปี 2010 พบว่า ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 18 ล้านคนซึ่งมากกว่าประเทศไทยซึ่งมีสถิตินักท่องเที่ยวอยู่ที่ 16 ล้านคน
“มันเกิดอะไรขึ้นที่นี่เนี่ย” นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียที่ปฏิเสธจะให้ชื่อ ถามในขณะที่จ้องมองอย่างงุนงงไปยังผู้ชุมนุม ที่กำลังวิ่งหนีแก๊สน้ำตาบริเวณทางด่วนใกล้กับมัสยิดเนการา
กล่าวกันว่า รัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติหรือ BN ค่อนข้างหวาดหวั่นถึงการประท้วงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและฝ่ายค้าน ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นสาเหตุของปฏิกิริยาที่ตระหนกเกินเหตุต่อการชุมนุมในวันเสาร์ที่ผ่านมา ชุง ปุย ยี (Choong Pui Yee) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนันยางแห่งสิงคโปร์กล่าวว่า ขบวนการเบอเซะ มีต้นกำเนิดมาจากฝ่ายค้าน และค่อนข้างมีผลต่อการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา เราต้องไม่ลืมตำนานและความสัมพันธ์ของการชุมนุมของกลุ่มเบอเซะในปี 2007 ที่ทำให้เกิด “สึนามิทางการเมือง” ซึ่งหมายถึงการที่แนวร่วมแห่งชาติไม่ได้เสียงข้างมากจำนวน 2 ใน 3 ของรัฐสภาเป็นครั้งแรก
ในขณะเดียวกัน ที่ย่านบูกิต บินตัง ตำรวจได้ขัดขวางกลุ่มชุมนุมต่อต้านเบอเซะ นำโดยปีกเยาวชนของพรรคอัมโน (UMNO) พรรคใหญ่ของแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก และประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติ ทั้งนี้ ตำรวจได้พยายามขัดขวางการชุมนุมของกลุ่มเปอร์กาซา (Perkasa) ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยม โดยแกนนำกลุ่มดังกล่าว รวมถึงแกนนำของกลุ่มเบอเซะ 2.0 ถูกตำรวจสั่งห้ามไม่ให้เข้ามาชุมนุมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ก่อนหน้านี้ด้วย
เกรก โลเปซ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยายามสั่งห้ามการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนอัมโน และกลุ่มเปอร์กาซา เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้าง “ความเป็นกลาง” นอกจากนี้เกรก โลเปซ ยังระบุด้วยว่า มีความขัดแย้งภายในระหว่างสมาชิกในแนวร่วมแห่งชาติเนื่องจากนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก พยายามต่อสู้กับความมหาธีร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีและแกนนำของแนวร่วมแห่งชาติผู้ยังคงบารมี ซึ่งพยายามเซาะบ่อนอำนาจของนายราซักในฐานะนายกรัฐมนตรี
ประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศที่ประสบความอ่อนไหวทางด้านเชื้อชาติและศาสนามาตั้งแต่ปี 1969 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์จลาจลทางเชื้อชาติ โดยม็อบผู้ชุมนุมเชื้อชาติมาเลย์ ทำการสังหารชาวจีนกว่า 3,000 คน เนื่องจากมองว่าชาวจีนเหล่านี้ ถือครองอำนาจในการทำธุรกิจในบางภาคส่วนมากเกินไป
ทั้งนี้แนวร่วมแห่งชาติที่เป็นรัฐบาล และฝ่ายค้านนำโดยอันวาร์ อิบราฮิม ต่างประกอบไปด้วยสมาชิกจากทั้งสามชาติพันธุ์หลักของมาเลเซีย คือ มาเลย์ จีน และอินเดีย อย่างไรก็ตาม เดิมพันทางการเมืองดังกล่าวก็เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อพรรคอิสลาม PAS ภายใต้ร่มฝ่ายค้านของอันวาร์ อิบราฮิม เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งถูกมองว่าเป็นการตอบโต้ขบวนการชาตินิยมของพรรคอัมโน รวมถึงแนวร่วมที่ขวาจัดมากกว่า เช่น เปอร์กาซา
เช่นเดียวกัน การเรียกร้องให้ปฏิรูปเลือกตั้งเมื่อวันที่เสาร์ที่ผ่านมา เป็นการเรียกร้องจากคนทั้งสามเชื้อชาติที่มารวมกันบนท้องถนน ในขณะที่รัฐบาลอ้างว่าผู้ชุมนุมเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปี 2013 แต่มีการคาดเดาว่าการเลือกตั้งอาจมีขึ้นเร็วกว่านั้น
ความคิดเห็นของผู้อาศัยในกัวลาลัมเปอร์ก็แตกต่างหลากหลายกันไป เกนลี เจ้าของร้านอาหารอินเดีย-มาเลย์ ให้สัมภาษณ์ในย่านปูชง ชานเมืองกัวลาลัมเปอร์ ก่อนที่จะเกิดการชุมนุมว่า รัฐบาลควรจะปล่อยให้ผู้ประท้วงได้ทำการชุมนุมไป และดูเหมือนกับว่า รัฐบาลกำลังกลัวอะไรบางอย่าง
คนขับรถแท็กซี่ เดวิด เทียว ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน กล่าวหลังจากที่การชุมนุมในวันเสาร์สิ้นสุดลงว่า เขาไม่พอใจกับผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย เนื่องจากการปิดถนนเส้นต่างๆ ส่วนใหญ่ของเมือง ทำให้เขาไม่สามารถหารายได้มากนัก ซึ่งปกติแล้วจะมีผู้โดยสารค่อนข้างมากในวันเสาร์ เขาบ่นว่า “มันทำให้ธุรกิจแย่น่ะ” แต่ยอมรับว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน และเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของเบอเซะ แต่ไม่ชอบวิธีที่ทางกลุ่มดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม เกรก โลเปซ กล่าวว่า ในประเทศที่ถูกมองว่ามีวัฒนธรรมทางการเมืองที่จืดชืดเช่นนี้ การพิสูจน์ว่าการชุมนุมในครั้งนี้จะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ยังคงประเมินได้ยากในระยะสั้น โซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ เช่น ทวิตเตอร์ เต็มไปด้วยความคิดเห็นและโพสต์ต่างๆ จากการชุมนุม รวมถึงโปสเตอร์ต่างๆ ที่ไม่แยแสกระแสการเรียกร้องของเบอเซะ 2.0 ในช่วงก่อนวันเสาร์ แต่หลังจากนั้นมาก็เปลี่ยนไปเริ่มสนับสนุน อย่างน้อยก็ในเชิงโวหาร
ชุง ปุย ยี นักวิชาการกล่าวว่า เบอเซะได้กลายเป็นความคิดที่ฝังรากลงไปในหัวจิตหัวใจของชาวมาเลเซียหลายต่อหลายคนไปแล้ว
อูย กี เบง นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษาชี้ว่า การชุมนุมและการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น อาจทำให้ชาวมาเลเซียที่ไม่เคยยินดียินร้ายต่อการเมือง หันมาสนใจในความเป็นไปในเหตุการณ์บ้านเมืองเพิ่มมากขึ้น
เขากล่าวกับอิระวดีว่า “ปฏิกิริยาที่รุนแรงของรัฐบาล และการที่สื่อออกข่าวเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง จะทำให้ผู้คนมากมายรู้สึกไม่พอใจ และจะส่งผลให้ประชาชนคนอื่นๆ หันมาคิดเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยอย่างจริงจังมากขึ้น”
ที่มา: http://prachatai.com/journal/2011/07/36050
แปลจาก Simon Roughneen, More Protests to Come in Malaysia?, 11/07/54