อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมวัฒนาปาร์ค จังหวัดตรัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็นในโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ครั้งที่ 1 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน
เวทีที่จังหวัดตรัง ผู้นำเสนอในเวทีในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายสุทัศน์ วรรณเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านดารท่องเที่ยว รศ.ดร.สุพรชัย อุทัยนฤมล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ รท.ดร.สุพรชัย ศิริโวหาร ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม
รศ.ดร.สุพรชัย กล่าวต่อที่ประชุมว่า ในปี 2558 จะมีการเปิดประชาคมอาเซียน ทำให้รั้วของสิบประเทศสมาชิกอาเซียนทลายลง ทั้งสิบประเทศเปรียบจะกลายเป็นบ้านที่อยู่ในรั้วเดียวกัน ถ้าประเทศไทยไม่มีความพร้อม จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาแรงงานของภาคใต้ ซึ่งครอบคลุมจังหวัดตรังด้วยพบว่า มีอัตราการว่างงานถึงร้อยละ 42 แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือ มีแนวโน้มว่าในแง่การผลิตไทยจะเสียเปรียบประเทศอื่น ขณะที่เด็กอายุ 3–17 ปี ไม่ได้รับการศึกษาในภาคบังคับถึง 850,000 คน ตนจึงขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ นำกลับได้คิดต่อว่า จะทำอย่างไรให้ประชากรกลุ่มนี้ มีงานรองรับจะได้ไม่เป็นปัญหาสังคมต่อไป
รศ.ดร.สุพรชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับถนนเพชรเกษม จากจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง ไปจนถึงจังหวัดสตูล จะมีการปรับปรุงให้เป็นถนนสี่เลน เพื่อให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะมีความเร่งด่วนมากกว่าการเปิดถนนใหม่ และเส้นทางรถไฟรางคู่ สำหรับจังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง ประสบปัญหาการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่สามารถปรับภูมิทัศน์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ ถึงแม้มีงบประมาณแต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ถ้าจะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ต้องแก้กฏหมายให้เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ด้วย
“สำหรับจุดแข็งของจังหวัดตรังคือ มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศน์ได้ ประกอบกับโลกอยู่ในภาวะวิกฤติทางด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ ทำให้เอื้อกับการจัดการการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ในส่วนของฝั่งอันดามัน มีแผนการพัฒนาพื่อรองรับแผนแม่บทโครงการความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย หรือ IMT–GT โดยจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก และเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจสู่นานาชาติ” รศ.ดร.สุพรชัย กล่าว
รศ.ดร.สุพรชัย กล่าวด้วยว่า ในส่วนของภาพรวมการพัฒนาฝั่งอันดามัน จะเน้นการพัฒนาขีดความสามารถ และการสร้างนวัตกรรมจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน การพัฒนาทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ สินค้าและบริการให้เชื่อมโยงและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันกับนานาชาติอย่างยั่งยืน การพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ เพื่อรักษาฐานนักท่องเที่ยวเดิม และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพบนฐานทรัพยากรท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของพื้นที่ และการพัฒนากลไกการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาคุณภาพบุคลากรการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
ทั้งนี้ ในเอกสารประกอบการประชุมระบุว่า พื้นที่แถบอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดตรัง และจังหวัดระนอง เป็นพื้นที่ที่สร้างรายได้ให้ประเทศสูงสุดจากการท่องเที่ยว โดยปี 2550 สร้างรายได้เป็นอันดับหนึ่งคือ 127.0 พันล้านบาท จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน
ในเอกสารีกยังระบุอว่า จะมีการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 หรือถนนเพชรเกษมเป็นถนน 4 เลน เชื่อมจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต ตรัง จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสตูล พร้อมกับจะสร้างถนนสายใหม่เชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างจังหวัด และระหว่างต่างประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางรถไฟเส้นจากชุมทางทุ่งสง–ตรัง–กันตัง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้า และการขนส่งมวลชน ระหว่างเส้นทางรถไฟสายหลัก จากชุมทางรถไฟทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปยังฝั่งอันดามันที่สถานีกันตัง จังหวัดตรัง