เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ชาวบ้านตำบลนาทับ ตำบลคลองเปียะ และตำบลใกล้เคียงในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 400 คน รวมตัวกันประท้วงปิดโรงไฟฟ้าจะนะ บริเวณป้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งเทศไทย เรียกร้องให้ทางโรงไฟฟ้าจะนะ ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เรียกร้องสิทธิ์ของชาวบ้านในการใช้น้ำในคลองนาทับ ที่เน่าเสียเพื่อประกอบอาชีพ ทั้งส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้านตำบลคลองเปียะเป็นอย่างมาก
นายโชติบริพัฒน์ ไชยแก้ว ประธานศูนย์ยุติธรรมชุมชนนาทับ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา โรงงานไฟฟ้าจะนะละเลยมาตรการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามที่เคยสัญญากันไว้ว่า จะปรับปรุงปริมาณน้ำดิบกับน้ำหล่อเย็นให้มีความสมดุล ไม่ส่งผลต่อสัตว์น้ำ แต่พอนำน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็น มีน้ำบางส่วนระเหยกลายเป็นไอ ทำให้ปริมาณความเค็มของน้ำในคลองนาทับเพิ่มมากขึ้น ไม่เหมาะกับการวางไข่และฟักตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ ทางโรงไฟฟ้าไม่ยอมติดตั้งตาข่ายที่มีความละเอียดสูง เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำวัยอ่อนในน้ำที่ดูดนำเข้าไปใช้หล่อเย็นในโรงไฟฟ้า
นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยอีกว่า ผลจากการที่โรงไฟฟ้าจะนะไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้น้ำในคลองนาทับเน่าเสีย สัตว์น้ำจำพวกกุ้ง ซึ่งต้องวางไข่บริเวณที่มีน้ำกร่อยคือคลองนาทับ เพราะมีแพลงส์ตอนอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน ขณะนี้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านประสบปัญหาอย่างมาก หากินไม่พอเลี้ยงครอบครัว ปริมาณสัตว์น้ำลดลง อีกทั้งกระทบกับผู้ประกอบกิจการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาในกระชังก็ได้ผลผลิตไม่คุ้มทุน ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าจะนะแก้ปัญหาด้วยการปลูกป่า ปล่อยสัตว์น้ำสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ไม่ได้ผล เพราะปลาที่ปล่อยขนาด 7–8 นิ้ว ถูกปลาใหญ่กินหมด
“เราเรียกร้องให้โรงไฟฟ้าจะนะปฏิบัติตามข้อตกลงที่ว่า จะมีมาตรการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าควรสนใจชุมชน เมื่อก่อนปลากะพงจากคลองนาทับมีมูลค่า 120 ล้านบาทต่อปี เดี๋ยวนี้พ่อค้า แม่ขายต้องไปซื้อจากเกาะยอ เมื่อปี 2550 โรงไฟฟ้าเพิ่งเดินเครื่องปีแรก พอฝืนเลี้ยงปลาในกระชังได้บ้าง ระยะหลังเลี้ยงไม่ได้แล้ว ได้แต่เก็บกระชังเก่าๆ เศษเหล็กนำไปขาย” นายโชติบริพัฒน์ กล่าว
นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า หากโรงไฟฟ้าจะนะไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยสัญญากันไว้ พี่น้องในตำบลนาทับ ตำบลคลองเปะ และตำบลใกล้เคียงในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จะคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ แห่งที่ 2 หากโรงไฟฟ้าจะนะไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ก็จะมีการปิดโรงไฟฟ้าครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ตามมา จนกว่าจะทำตามสัญญา
นายโชติบริพัฒน์ กล่าวว่า การลุกขึ้นมาของคนนาทับ และคลองเปียะครั้งนี้ เพราะต้องการสะท้อนความเดือดร้อนจริงๆ โดยแสวงหาข้อมูลจากนักวิชาการ ทำความเข้าใจในหมู่บ้านต่างๆ ให้ชัดเจน ต้องอธิบายชาวบ้านให้เข้าใจเหตุผลที่ลุกขึ้นประท้วง เกิดจากผลกระทบอะไร นี่เป็นปฐมบทการต่อสู้ของชาวตำบลนาทับ ในการรับมือกับแผนพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง รถไฟรางคู่ และแนวท่อน้ำมันจากจังหวัดสงขลา ไปยังบ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่จะเกิดขึ้นที่ตำบลนาทับด้วย” นายโชติบริพัฒน์ กล่าว