Skip to main content

อัสรา รัฐการัณย์ เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ผู้เข้าร่วมการอบรมการเขียนข่าวเบื้องต้นและการรายงานข่าวสุขภาพ อินเตอร์นิวส์

            นายแพทย์ยอร์น จิระนคร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา ความถี่ในการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายแห่งลดน้อยลง เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ส่งผลให้โรคคอตีบ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนกลับมาระบาดอีกครั้ง โดยปี 2553 จังหวัดปัตตานีมีผู้ป่วยโรคคอตีบ 48 ราย เสียชีวิต 9 ราย สูงที่สุดในประเทศไทย

            นายแพทย์ยอร์น กล่าวว่า ความน่ากลัวคือ หากเด็กเล็กติดเชื้อโรคคอตีบจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง จึงจำเป็นต้องเร่งให้วัคซีนในเด็กเล็กมากขึ้น ส่งผลให้ปี 2554 ระหว่างเดือนมกราคม–เมษายน ยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคคอตีบลดลง โดยมีผู้ป่วย 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กอายุ 5 ปี 2 เดือน

            นายแพทย์ยอร์น เปิดเผยว่า ตามหลักแล้วจะต้องให้วัคซีนเด็กให้ได้ 90–95% ของจำนวนเด็กทั้งหมด จึงจะสามารถควบคุมโรคได้ แต่จังหวัดปัตตานีมีเด็กได้รับวัคซีนเพียง 60% เท่านั้น เนื่องจากการทำงานสาธารณสุขเชิงรุก เช่น การลงพื้นที่ตรวจสุขภาพภายในหมู่บ้าน ในรอบ 5–6 ปีที่ผ่านมาลดน้อยลง อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

            นายแพทย์ยอร์น เปิดเผยต่อไปว่า ปัญหาใหญ่คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งต้องร่วมกันสำรวจข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง จึงส่งผลต่อการควบคุมโรค เช่น ข้อมูลของสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย ระบุมีเด็ก 20 คน แต่ข้อเท็จจริงอาจจะมีเด็ก 10–30 คนก็ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิดทุกราย

            “ถ้าจำนวนเด็กน้อยกว่าตัวเลขของสำนักทะเบียนราษฎร์ การให้วัคซีนจะครอบคลุมเด็กทุกคน แต่หากจำนวนเด็กมีมากกว่า เด็กจะได้รับรับวัคซีนไม่ครบทุกคน เพราะการเตรียมวัคซีนจะเตรียมตามจำนวนเด็กที่มีอยู่ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องสำรวจข้อมูลเด็กซ้ำ ต้องใช้เวลาในการปรับฐานข้อมูลให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ” นายแพทย์ยอร์น กล่าว

             น.ส.วันรอปีอะห์ แวมายิ อสม. หมู่ที่ 1 ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า เด็กที่เสียชีวิตจากโรคคอตีบรายล่าสุด อยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลปูยุด ก่อนเสียชีวิตเด็กมีไอติดต่อกันหลายวัน เมื่อนำส่งไปรักษาตัวโรงพยาบาลพบว่า เป็นโรคคอตีบ นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 2 คืน จึงเสียชีวิต ปกติครอบครัวของเด็กคนนี้ เมื่อป่วยจะไปรักษากับหมอบ้าน จากการสอบประวัติคนทั้งครอบครัว พบว่า มีลูกทั้งหมด 4 คน ทุกคนไม่เคยได้รับวัคซีน

              สำหรับโรคคอตีบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ จากเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อนี้มักอยู่ในผู้ใหญ่และเป็นพาหะแต่ไม่แสดงอาการ เมื่อไอ จาม จะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่เด็กที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เพราะไม่ได้รับวัคซีน ทำให้เด็กหายใจลำบาก เจ็บคอ เบื่ออาหาร ไอ เมื่อตรวจดูในคอ พบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณต่อมทอนซิลและลิ้นไก่ และอาจจะติดเชื้อลงไปถึงปอด ทำให้เสียชีวิตได้

               รายงานการเฝ้าระวัง สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุสถานการณ์การระบาดของโรคคอตีบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างปี 2551–2554 ว่า ปี 2551 จังหวัดปัตตานีมีผู้ป่วย 1 คน ยะลามีผู้ป่วย 5 คน เสียชีวิต 4 คน ปี 2552 ปัตตานีมีผู้ป่วย 2 คน เสียชีวิต 2 คน ยะลามีผู้ป่วย 10 คน ปี 2553 ปัตตานีมีผู้ป่วย 46 คน เสียชีวิต 9 คน ยะลามีผู้ป่วย 22 คน เสียชีวิต 4 คน นราธิวาสมีผู้ป่วย 1 คน เสียชีวิต 1 คน ปี 2554 (ระหว่างมกราคม - เมษายน) ปัตตานีมีผู้ป่วย 3 คน เสียชีวิต 1 คน ยะลา มีผู้ป่วย 1 คน นราธิวาสมีผู้ป่วย 8 คน เสียชีวิต 3 คน รวมผู้เสียชีวิต 24 คน ทั้ง 3 จังหวัดมีแนวโน้มผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี

....................

สถิติโรคคอตีบระบาดในชายแดนใต้
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

 

 

จังหวัด

 

ปี 2554

 

ปี 2553

 

ปี 2552

 

ปี 2551

 

ปี 2550

 

ปี 2549

 

ปี 2548

 

ปี 2547

 

ป่วย

 

ตาย

 

ป่วย

 

ตาย

 

ป่วย

 

ตาย

 

ป่วย

 

ตาย

 

ป่วย

 

ตาย

 

ป่วย

 

ตาย

 

ป่วย

 

ตาย

 

ป่วย

 

ตาย

 

ปัตตานี

 

3

 

1

 

46

 

9

 

2

 

2

 

1

 

0

 

0

 

0

 

1

 

1

 

0

 

0

 

1

 

1

 

ยะลา

 

1

 

0

 

22

 

4

 

10

 

0

 

5

 

4

 

0

 

0

 

0

 

0

 

0

 

0

 

1

 

1

 

นราธิวาส

 

8

 

3

 

1

 

1

 

0

 

0

 

0

 

0

 

0

 

0

 

0

 

0

 

0

 

0

 

1

 

0