Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ)

                  เวทีความรู้ครั้งที่ 1 เรื่องกระบวนการสันติภาพเริ่มต้นอย่างไร มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกันจัดกับกลุ่มบูหงารายา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมอิบนุ คอลดูน วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นับเป็นอีกเวทีวิชาการที่ดึงความสนใจจากผู้คนที่ใฝ่หาสันติภาพในจังหวัดชายอดนภาคใต้ ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย

                  หนึ่งในหลากหลายความสนใจนั้น อยู่ที่ความโดดเด่นของผู้บรรยาย นั่นคือ Dr.Norbert Ropers ผู้อำนวยการมูลนิธิ Berghof Peace Support นักวิชาการชาวเยอรมัน อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ผ่านประสบการณ์งานวิจัยเรื่องกระบวนสันติภาพในประเทศแถบเอเชียนานกว่า 10 ปี ที่มาบรรยายเรื่อง “กระบวนการสันติภาพเริ่มต้นอย่างไร? ทฤษฎีและประสบการณ์”

                   ต่อไปนี้คือ คำบรรยายของนักวิชาการชาวเยอรมัน นาม “Dr.Norbert Ropers” ผู้เชี่ยวชาญ Peace Process ระดับโลก

………………………………………………………………..

                   ผมมีประสบการณ์การสอนในมหาวิทยาลัย ในวิชาการเมืองระหว่างประเทศและวิชาสันติภาพและความขัดแย้งศึกษา (PEACE and CONFLICT STUDY) ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อมอยู่กับมูลนิธิเอกชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในเยอรมันนี ชื่อ BEGHOF foundation โดยเริ่มจากการทำวิจัยและทำกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อศึกษาการสร้างสันติภาพและการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง

                    ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ทำงานหลักของผมคือเอเชีย 8 ปี ในประเทศศรีลังกา 2 ปีในประเทศไทย และปีหน้าผมจะใช้เวลาประมาณ 50% ไปกับการทำงานในจังหวัดปัตตานี ในฐานะนักวิจัยของสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อสนับสนุนงานของอาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้

                    มูลนิธิ BEGHOF ในภาษาอังกฤษหมายถึงสวนในภูเขา มูลนิธิฯ แห่งนี้เกิดขึ้นในบริบททางการเมืองระหว่างยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพทั้งหมดว่า จะเริ่มต้นอย่างไร จะคงสภาพให้ยั่งยืนได้อย่างไร และจะทำให้มันประสบความสำเร็จได้อย่างไร

                   เราต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับคำว่า ความขัดแย้งก่อน ความหมายของความขัดแย้ง และความจำเพาะของความขัดแย้งเป็นอย่างไร แล้วค่อยเรียนรู้กระบวนการของมัน

                   หลายคนคิดว่า ความขัดแย้งเหมือนกับความรุนแรง แต่ความจริงแล้วไม่เหมือนกัน ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ และจะเปลี่ยนผ่านไป

                   ขณะที่ความขัดแย้งเป็นความขัดกันของความต้องการ แรงบันดาลใจ ความคิดเห็น แต่อาจจะไม่นำมาสู่ความรุนแรงก็ได้ ที่สำคัญความขัดแย้งจำเป็นมาก ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคม

                   บางคนมองว่า ความขัดแย้งเกิดจากคนสองฝ่ายต้องการสิ่งเดียวกัน ทั้งที่ความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้ในหมู่พวกเดียวกัน ถ้ามองปัญหาแตกต่างกัน และอาจนำไปสู่การตอบโต้ด้วยความรุนแรงก็ได้

                   ผมจะยกตัวอย่างให้ฟัง ในประเทศศรีลังกาช่วงสงครามระหว่างขบวนการพยัคฆ์ทมิฬอีแลมกับรัฐบาลศรีลังกาครั้งล่าสุด รัฐบาลพูดว่า เราไม่มีความขัดแย้ง เรามีแต่ปัญหาการก่อการร้าย แต่ชุมชนทมิฬกลับบอกว่า เรามีความขัดแย้ง เพียงแต่กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงอยู่ในขบวนการพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

                   งานวิจัยยังระบุอีกว่า ความขัดแย้งอาจจะเป็นเรื่องความแตกต่างของเป้าประสงค์ ระหว่างผลประโยชน์ และความต้องการของกลุ่มคน เช่น กรณีเจ้าของทาสและทาส ซึ่งมีความต้องการที่แตกต่างกัน แต่ในยุคทาสคนทั้งสองกลุ่มก็ไม่ได้มองว่า พวกเขาขัดแย้งกัน

                   ถ้าไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความรุนแรง การสมานฉันท์มักจะถูกนำไปใช้ประกอบการอธิบายสภาพแห่งสันติภาพ คำถามของผมคือ สภาพเหล่านั้น เป็นสภาพแห่งสันติภาพจริงหรือไม่

                   ในบางกรณีมีผู้พยายามกดความรุนแรงไว้ไม่ให้ยกระดับขึ้น โดยใช้ผู้รักษาความปลอดภัยจำนวนมาก เช่น ดินแดนแคชเมียร์ รัฐบาลอินเดียส่งทหารเข้าควบคุมพื้นที่ 500,000 นาย เพื่อกดดันฝ่ายตรงข้าม จนไม่สามารถใช้ความรุนแรงในระดับสูงได้ นั่นใช่สันติภาพหรือไม่

                   สันติภาพมี 2 ความหมาย คือ สันติภาพในแง่ลบ (Negative peace) และสันติภาพในแง่บวก (Positive peace)

                   ถ้าสันติภาพหมายถึงสภาพที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงปรากฏทางกายภาพ นั่นเป็นความหมายแบบ Negative peace แต่ถ้าสันติภาพในแง่บวก เป็นความหมายที่ครอบคลุมความเป็นธรรม ยุติธรรม ประชาธิปไตย สังคม เศรษฐกิจที่ดี

                   สาเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อ มี 5 ลักษณะคือ ความเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนร่วมในวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ และความเป็นเจ้าของในบางอย่างด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อย ที่ต้องการยืนยันในสิทธิปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ รวมถึงความต้องการให้มีการอนุรักษ์อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ และความรู้ของเผ่าพันธุ์ตัวเอง

                  ยกตัวอย่างกรณีศรีลังกา เมื่อก่อนเรียกว่ารัฐซีลอน เมื่อได้รับเอกราช ในปีค.ศ. 1948 กลายเป็นประเทศศรีลังกา ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนสิงหลนับถือศาสนาพุทธ ต้องการยกกลุ่มชนของตนเป็นพลเมืองหลัก และยกศาสนาพุทธขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวทมิฬ ชนกลุ่มน้อยที่รับเรื่องนี้ไม่ได้

                   ความขัดแย้งดังกล่าวยืดเยื้อยาวนาน เมื่อมีชาวทมิฬที่อยู่ในรัฐทมิฬนาดู ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของคนทมิฬ อยู่ห่างจากศรีลังกาไม่มากนัก มาช่วยสนับสนุนการต่อสู้ของชาวทมิฬในศรีลังกา

                   ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ขัดแย้งยืดเยื้อ ถึงกับส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นกลายเป็นวงจร มีตัวอย่างที่นำมาจากงานวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพคือ ความขัดแย้งทางยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างชาวเซิร์บและชาวโครแอทกับกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมบอสเนีย ความขัดแย้งในอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ความขัดแย้งที่เกาะมินดาเนา ในประเทศฟิลิปปินส์ และความขัดแย้งประเทศจอร์เจีย ซึ่งมีลักษณะความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ

                   มักมีคำถามว่า เมื่อไรจะถึงเวลาแก้ไขความขัดแย้งเหล่านั้น คำตอบคือ อาจจะเป็นสันติภาพแง่ลบก่อน แล้วสันติภาพแง่บวกจะตามมาทีหลัง

                   เรื่องนี้มี 3 ทฤษฎี ทฤษฎีที่หนึ่ง เป็นแนวคิดที่เป็นจริงคือ คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายถึงจุดสะบักสะบอม สู้ต่อไปก็ไม่เห็นทางชนะ หมายถึงทั้งสองฝ่ายเข้าสู่ภาวะ Dead lock มองไม่เห็นทางชนะในหนทางนี้แล้ว เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสงคราม 30 ปีของซูดานเหนือกับซูดานใต้ สุดท้ายซูดานใต้ก็ประกาศเอกราชเป็นประเทศซูดานใต้ได้

                   อีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า คู่ขัดแย้งได้รับความเสียหายจากสงคราม และได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศ อย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เข้าไปกดดันเซอร์เบีย ทำให้ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานถูกหาทางออก

                  ทฤษฎีที่สอง เมื่อหน้าต่างแห่งโอกาสมาถึง (Window of opportunity) ซึ่งอาจมาพร้อมกับรัฐบาลใหม่ที่มุ่งมั่นจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือฝ่ายขบวนการต่อสู้เปลี่ยนใจ หรือเกิดจากอิทธิพลภายนอกที่ต้องการหยุดความขัดแย้ง และหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

                  ตัวอย่างกรณีนี้คือ อาเจะห์ของประเทศอินโดนีเซีย ที่ถูกคลื่นสึนามิซัด ทำให้กลุ่มต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซียในอาเจะห์คือ ขบวนการ GAM กับทหารของรัฐบาลอินโดนีเซียบนเกาะสุมาตราหยุดการต่อสู้ บวกอิทธิพลจากข้างนอกเข้าไปกดดันให้เกิดการเจรจา

                  ในศรีลังกาก็เช่นเดียวกับอาเจะห์คือ มีคนกลางเข้ามาช่วยเหลือให้เกิดการเจรจา แต่การเจรจาก็ไม่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่า กรณีแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป

                  ทฤษฎีที่สาม เป็นความมุ่งมั่นทางการเมืองของภาคประชาสังคม ที่รวมกลุ่มต่างๆ ในสังคมขึ้นมารณรงค์หาแนวทางการแก้ปัญหาให้สำเร็จ

                  เราพูดถึงอะไรที่สามารถเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ความเคลื่อนไหวของกระบวนการสันติภาพ เริ่มต้นในระดับสูง แต่ค่อยๆ ลดลงตามปัจจัยที่เกิดขึ้น และแนวทางการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นต้องเกิดในหลายระดับ

                  ระดับที่ 1 (tract I) คือกลุ่มผู้นำจากทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายขบวนการ ระดับที่ 2 (tract II) คือกลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และที่สำคัญที่สุดคือคนรากหญ้า

                  สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงเวลาของจุดเปลี่ยน เพื่อก้าวเข้าสู่ขั้นตอนก่อน–ก่อนการเจรจา (pre–pre negotiation) หรือยัง

                   การเจรจาคือการนั่งโต๊ะมาคุยกัน เพื่อหาทางออกของฝ่ายที่มีความขัดแย้ง ยกตัวอย่างในปี 2005 หัวหน้าฝ่ายรัฐของอินโดนีเซีย และ GAM ของอาเจะห์ มานั่งโต๊ะเจรจาโดยมีกลุ่มองค์กรทำงานด้านเจรจามานั่งโต๊ะคุยด้วย

                    ส่วนขั้นตอนก่อนเจรจา คือการเตรียมการประชุมเตรียมการเพื่อการเจรจา ซึ่งมันจะเป็นการประชุมลับ คุยเบื้องต้นถึงหัวข้อและเป้าหมายคร่าวๆ ในโต๊ะเจรจาว่า จะมีอะไรบ้าง

                    สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีกลิ่นไอของ pre–pre negotiation หรือก่อน–ก่อนการเจรจา

                    ถ้าผ่านขั้นตอนตรงนั้นแล้ว จะถึงขั้นตอนการตกลงทางการเมือง ยกตัวอย่างที่อาเจะห์ เกิดขั้นตอนการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ หรือในบอสเนีย ก็เกิดจากการจัดตั้งกลุ่มชุมชนที่มีความสัมพันธ์ของ 3 ชาติพันธุ์ หรือซูดานที่มีการแบ่งเป็นประเทศซูดานเหนือและซูดานใต้ นั่นเป็นผลของการตกลงทางการเมืองหลังจากเกิดกระบวนการสันติภาพ

                    หลังจากตกลงทางการเมือง หลายคนวางใจว่าจะเกิดสันติภาพ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่ที่ต่างกัน แค่อาจจะไม่มีภาพความรุนแรงปรากฏให้เห็น ปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่คือ การตีความข้อตกลงที่เข้าใจไม่ตรงกัน เช่น ในการตกลงเจรจาระหว่างรัฐบาลเนปาลกับกลุ่มเหมาอิสม์ ซึ่งการดำเนินการสันติภาพภายใต้ความเข้าใจต่างกันระหว่างสองฝ่าย ผลคือกลุ่มเหมาอิสม์ไม่ยอมบูรณาการกองกำลังติดอาวุธของตัวเอง เข้ากับกองกำลังทหารของเนปาล ทำให้เกิดการต่อต้านข้อตกลง ด้วยการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง (Disagreement to agreement)

                   ทางออกของปัญหาแรกเสร็จสิ้นแล้ว อาจจะนำมาสู่ความขัดแย้งใหม่ เช่น ในซูดานเหนือและใต้ ตอนนี้มีปัญหาใหม่ที่ชายแดน เนื่องจากในข้อตกลงไม่ได้ระบุชัดเจนว่า จะเอาอย่างไรกับเส้นชายแดน

                   ปัญหาคือ แหล่งทรัพยากรน้ำมันที่อยู่ตรงรอยต่อบริเวณชายแดน ที่ยังไม่มีการระบุชัดเจนในตอนแรก เพราะเพิ่งค้นพบหลังการลงนามในข้อตกลงไปแล้ว อาจจะเป็นสาเหตุการปะทุความรุนแรงระหว่างกันอีกรอบ ข้อสรุปจากการศึกษาความขัดแย้งจาก 20 กรณี โดยกลุ่มที่ศึกษาจากกรณีไอร์แลนด์เหนือ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ พบว่าต้องทำ 9 ข้อให้ได้ก่อน

        1. ต้องรวบรวมกลุ่มที่ทรงพลังที่จะสร้างความรุนแรงให้ได้ก่อน เป็นประเด็นที่เรียนรู้จากกรณีความขัดแย้งในไอร์แลนด์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งพบว่าเพราะกลุ่มที่แฝงอยู่ในกลุ่มก่อการร้ายไม่ถูกรวมอยู่ในการเจรจาตั้งแต่แรก

        2. ระหว่างทางการเจรจา ต้องยอมรับว่า จะยังเกิดความรุนแรงอยู่

        3. กระบวนการสันติภาพ ต้องเป็นต้นแบบของการให้และการรับตลอดเวลา เราต้องยอมรับว่า แต่ละฝ่ายต้องมีส่วนที่ได้และส่วนที่เสีย

        4. ผู้ชนะต้องขายความคิดเรื่องสันติภาพให้ประชาชนทุกกลุ่มยอมรับให้ได้ กระบวนการสันติภาพไม่สามารถดำเนินการโดยผู้นำแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำให้ประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสงครามเชื่อมั่นว่า จะไม่มีผลกระทบซ้ำซ้อนจากการวางอาวุธ หรือข้อตกลงนั้น จะไม่มีการเย้ยหยันฝ่ายตรงข้าม

        5. การมองเผื่อไปถึงวันข้างหน้า ถึงความขัดแย้งที่อาจจะปะทุขึ้นอีกในอนาคต

        6. การพัฒนาต้องเกิดพร้อมกับกระบวนการสันติภาพ เช่น รัฐบาลประเทศศรีลังกาละเลยการพัฒนาในพื้นที่ของชาวทมิฬ และยังมีการกีดกันชาวทมิฬในเรื่องต่างๆ ทำให้กระบวนการสันติภาพล้มเหลว

        7. สันติภาพกับความยุติธรรมต้องมาพร้อมกัน เพราะถ้ายังมีการละเมิดอีกฝ่าย จะทำให้กระบวนการสันติภาพล้มเหลว และขาดความน่าเชื่อถือ

        8. สนธิสัญญาหยุดยิง ต้องมีข้อตกลงระยะยาวที่จะไม่กลับมาใช้ความรุนแรงอีก เพื่อให้เกิดสันติภาพในระยะยาว จะต้องพูดเรื่องการเมืองประกอบด้วย

        9. การแก้ไขปัญหาควรจะอยู่ในวิถีที่เหมาะสมกับชุมชน หรือเฉพาะพื้นที่นั้นๆ แทนที่จะนำแบบอย่างจากพื้นที่อื่นๆ มาปรับใช้ ในการหาหนทางสู่สันติภาพ

 

ประเทศเยอรมันนีสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์ ก้าวสู่การเป็นสังคมเยอรมันทุกวันนี้ได้อย่างไร?

              จากประสบการณ์ความรุนแรงที่สะสมอยู่ในประเทศเยอรมันนี และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นทำให้ความรุนแรงยืดเยื้อกว่า 150 สิบปี

               ประวัติศาสตร์สงครามที่โด่งดังของเยอรมันนี อยู่ระหว่างปี ค.ศ.1870–1871 ประเทศฝรั่งเศสแพ้สงครามให้กับเยอรมันนี ถูกเยอรมันนีเรียกค่าชดเชยสงครามและถูกตราหน้าว่าเป็นผู้แพ้สงคราม ช่วง ค.ศ.1870–1871 เรายังไม่เรียกตัวเองว่าเยอรมัน

               เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1914–1918 กลายเป็นโอกาสให้ฝรั่งเศสเอาคืน และตราหน้าให้เยอรมันรู้สึกว่าเป็นผู้แพ้บ้าง เยอรมันนีต้องจ่ายชดใช้ค่าสงครามให้ฝรั่งเศสมากกว่าตอนที่ฝรั่งเศสจ่ายให้เยอรมันนี

                หลังจากค.ศ.1920 เยอรมันนีส่อแววว่าจะอ่อนแอในการพยุงประชาธิปไตย และเข้าสู่ความรุนแรงในแบบรัฐบาลนาซีเยอรมัน นาซีเยอรมันเกิดความเคียดแค้นและนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว แต่ด้วยความโชคดีที่ผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ทำเฉกเช่นเดียวกับผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ไม่เกิดการล้างแค้นกันและกันอีก

                 โชคร้ายคือ เกิดวงจรความรุนแรง เมื่ออิสราเอลรวมตัวกันเป็นรัฐและปกป้องตัวเอง โดยอ้างว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอีก แต่ตัวเองกลับไปละเมิดอธิปไตยของชนเผ่าอื่น

                 ในฐานะที่เป็นนักสันติภาพ เราต้องหยุดวงจรของความรุนแรง แม้ต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น ความรุนแรงจะดำเนินต่อไป

                 มันจะดีกว่าถ้าเยอรมันนีแพ้สงครามร้อยเปอร์เซนต์ แต่ในช่วงในสงครามโลกครั้งที่ 1 พวกชาตินิยมบอกว่า เยอรมันนียังไม่แพ้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นชัดว่าเยอรมันนีแพ้สงคราม ทำให้ถูกโซเวียตแบ่งออกเป็นประเทศเล็กๆ และคนในประเทศใหม่เหล่านั้น ต้องดิ้นรนสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตัวเอง ทำให้ตัดวงจรความรุนแรงในช่วงนั้นออกไป

                 อีกประเทศคือ ญี่ปุ่น ที่ตัดวงจรความรุนแรงหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการเบนความสนใจสู่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง

                 เดิมหลายประเทศมองว่าญี่ปุ่นและเยอรมันนี เป็นประเทศลัทธิคลั่งชาตินิยม แต่หลังจากแพ้สงครามและมีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ภาพเหล่านั้นหายไปเกือบหมดแล้ว แต่เสียดายที่หลายประเทศยังคงเกิดความขัดแย้ง ไม่สามารถพัฒนาไปให้ถึงจุดนั้นได้

3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในขั้นไหน ระหว่างก่อนการเจรจา หรือก่อน–ก่อนการเจรจา การส่งสัญญาณจากภาครัฐกับขบวนการ ฝ่ายไหนจะสามารถนำไปสู่การเจรจาได้จริง?

                  ขออภัย ผมยังไม่ได้เป็นผู้ชำนาญประเด็นความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ ตอนนี้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มกล้าที่จะพูดเรื่องการกระจายอำนาจมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 3 – 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

                  ถ้าดูจากสิ่งที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ ถึงสัญญาณการเจรจา ระหว่างสองฝ่ายดูเหมือนพร้อมที่จะเจรจากัน แต่นั่นยังไม่สามารถตัดสินได้ว่า เป็นสัญญาณที่บอกว่า สถานการณ์ดีขึ้นแล้วหรือยัง

                  ส่วนฝ่ายตรงข้ามรัฐ บางส่วนที่อาจจะยังลังเลว่า จะถูกหลอกอีกหรือไม่ อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า รัฐบาลยังไม่พร้อมรับข้อเสนอ เพื่อการต่อรองจากฝ่ายตรงข้าม

                   ความแตกต่างกรณีจะเสนอ หรือลังเลในส่วนนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างอาจจะกำลังหาทางออกที่ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด สิ่งที่ต้องคิดคือ การเจรจาจะต้องเตรียมใจว่า ย่อมมีทั้งได้และเสีย

มีทางลัดสู่สันติภาพหรือไม่?

                   นักการเมืองและนักกิจกรรมมากมายในพื้นที่ความขัดแย้งรอบโลก กำลังมองหาทางลัดสู่สันติภาพ ซึ่งต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมืองที่สูงมาก จะต้องมีผู้นำที่มีความเฉลียวฉลาด มีพรสวรรค์บางอย่าง ถึงจะสามารถนำประเทศสู่สันติภาพ

                   ทางลัดสู่สันติภาพ จะต้องเตรียมผู้นำที่หลากหลาย และเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกัน ปัญหาคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะขาดความเชื่อมั่น ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หรือ “ZERO TRUSTED

                   การลดความตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายกับการสร้างสันติภาพด้วยทฤษฎี GRIT (Gradual Reduction in Tention) คือ การกระทำของทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างความมั่นใจระหว่างกัน ไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมด้วยกัน อาจจะต่างฝ่ายต่างทำ เพื่อลดความตึงเครียดของอีกฝ่าย หลักการนี้เกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็นระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งต้องเชื่อมั่นในฝ่ายตรงข้าม

                    ตัวอย่างสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะเริ่มจากรัฐบาลเปิดใจรับการใช้ภาษามลายู ที่เป็นข้อเสนอของฝ่ายตรงข้าม รัฐบาลสามารถแสดงความจริงใจในการร่วมแก้ไขปัญหา และลดความตึงเครียดระหว่างกัน ขณะเดียวกันอีกฝ่ายอาจจะร่วมแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลดการก่อเหตุ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่มีการบังคับเพื่อให้อีกฝ่ายเลิกเชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อ

                    กระบวนการนี้ ถูกใช้ในประเทศไอร์แลนด์เหนือ โดยระดับนำของทั้งสองฝ่ายต้องสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันว่า ถ้าอีกฝ่ายลดความตึงเครียดแล้ว อีกฝ่ายจะไม่เพิ่มความตึงเครียดให้กับฝ่ายตรงกันข้าม เพราะนั่นหมายถึงการไม่ยอมรับข้อเสนอเพื่อให้เกิดสันติภาพ

ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งในโลก มีแนวโน้มอย่างไร?

                     ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1991–2011 จำนวนความขัดแย้งลดลง จำนวนเหยื่อจากความขัดแย้งลดลง ศตวรรษที่แล้วประเทศต่างๆ เน้นการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ศตรรษนี้เน้นการสานสัมพันธ์ภายในประเทศ

                      ยกตัวอย่างปัญหาความขัดแย้งในประเทศกัมพูชา ที่มีองค์กรต่างประเทศเข้ามาจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาภายใน ในอนาคตกำลังจะหมดยุคการเข้ามามีส่วนในการจัดการปัญหาในพื้นที่ความขัดแย้งของนานาประเทศในลักษณะนี้ โดยเฉพาะในประเทศเอเชีย จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาของเอเชียเอง

                      ทั้งนี้ ปัญหาหนึ่งที่ทำให้แนวโน้มเป็นอย่างนั้น เพราะองค์กรต่างประเทศเหล่านั้น ทำงานสองมาตรฐาน ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในลิเบียและซีเรีย

                       แนวโน้มการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศแถบเอเชีย จะมุ่งเน้นประสบการณ์การสร้างความเข้มแข็งให้บกัประชาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างพลังอำนาจการต่อรอง เพื่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน

                       ตัวอย่างการจัดการปัญหาความขัดแย้งในปาปัวตะวันตก จากการทำงานอย่างเข้มแข็งของภาคประชาสังคมปาปัวตะวันตก ทำให้เกิดวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยภูมิปัญญาของคนในพื้นที่

จะสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันได้อย่างไร?

                      การสร้างความเชื่อมั่นต่อกัน ต้องทำในหลายระดับ ไม่ใช่จุดเดียว เพราะสังคมมีหลากหลายส่วนมาอยู่ร่วมกัน การแก้ปัญหาเพื่อสร้างสันติภาพ จึงต้องถักทอเป็นตาข่าย