อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
เวที “แผนพัฒนาภาคใต้” ที่ระนองหวิดล่ม ชาวบ้านยันไม่พร้อมคุย อ้างช่วงเวลาไม่เหมาะสม ควรรอดูท่าทีรัฐบาลใหม่ ระบุแผนพัฒนาที่ผ่านมา ทำร้ายชาวบ้าน ทำลายทรัพยากร ใครลุกขึ้นมาพิทักษ์ความถูกต้อง ถูกจับกุมมาตลอด
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ที่จังหวัดระนอง บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาฯ โครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว โดยมีหอการค้า ภาคเอกชน เอ็นจีโอ ส่วนราชการ และประชาชน เข้าร่วมประชุม
นางมณเฑียร ธรรมวัติ จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ เป็นตัวแทนภาคประชาชนคนแรกที่แสดงความเห็นต่อที่ประชุม โดยนางมณเฑียรกล่าวว่า การประชุมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ จัดในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม การประชุมควรยุติได้แล้ว เพราะที่ประชุมครั้งนี้ ไม่มีความชอบธรรมที่จะมาเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ ควรจะรอดูท่าทีของรัฐบาลใหม่ก่อน ประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ยังไม่ครอบคลุม ผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่งได้รับเอกสารก่อนเข้ามาประชุม แน่ใจได้อย่างไรว่า ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจเนื้อหาของแผนพัฒนา ที่กำลังพูดคุยกันอยู่ในขณะนี้ ลักษณะการจัดประชุมส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์
นางมณเฑียร กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ ภาคประชาชนจะนัดประชุมพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาลชุดใหม่ในเร็วๆ นี้ เพื่อแจ้งให้รัฐบาลทราบว่า ประชาชนภาคใต้ต้องการและไม่ต้องการอะไร โดยจะเสนอก่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ ถึงแม้แผนพัฒนาภาคใต้ จะไม่กระทบต่อชาวจังหวัดระนองโดยตรง แต่ผลกระทบกับคนภาคใต้ในจังหวัดอื่นๆ ย่อมส่งผลถึงคนจังหวัดระนองแน่นอน เพราะจังหวัดระนองเป็นส่วนหนึ่งของภาคใต้
“แผนพัฒนาที่เคยมี ล้วนแล้วแต่ทำลายพื้นที่ ทำลายทรัพยากรของชาวระนอง พี่น้องที่ต่อสู้พิทักษ์ในสิ่งถูกต้อง ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกจับกุมตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะเห็นอย่างไร ในส่วนของดิฉันจะไม่ยอมรับแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐ” นางมณเฑียร กล่าว
ร.ท.ดร.สุพรชัย ศิริโวหาร ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนเป็นนักวิชาการไม่ได้เป็นคนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องการมารับฟังประชาชนเจ้าของพื้นที่
นางมณเฑียร แย้งว่า ที่ผ่านมามีการประชุมระดมความคิดเห็นในลักษณะนี้ แล้วนำมาใช้สร้างความชอบธรรมว่า ได้สอบถามชาวบ้านแล้ว ถ้าส่งผลกระทบต่อประชาชนที่นี่ ใครจะรับผิดชอบ
ร.ท.ดร.สุพรชัย ตอบว่า ถ้ามีการอ้างอิงว่าเวทีครั้งนี้ ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนา ตนจะออกรับหน้าแทนประชาชนที่นี่ ตนจะดำเนินการถึงชั้นศาลเอง เพราะจะอาศัยเสียงวันนี้เป็นความเห็นชอบไม่ได้ จากประสบการณ์ที่สัมผัสชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมของตัวเอง ก็รู้สึกอึดอัดแทน แต่ต้องต่อสู้ต่อไปเพราะนักการเมืองที่มาสร้างปัญหา ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
นางมณเพียร ถามร.ท.ดร.สุพรชัยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเองยังไม่มีการกำหนดทิศทางประเทศว่า จะเดินไปในทางไหน แผนพัฒนาภาคใต้จะอยู่ในกระบวนการไหนของทิศทางประเทศไทย ถ้าแผนนี้เสนอไปแล้ว รัฐบาลไม่รับจะเป็นอย่างไร ไม่เสียเปล่าหรือ
ร.ท.ดร.สุพรชัย ตอบว่า ถ้าภาคประชาชนเห็นตรงกันว่าไม่พร้อม ก็สามารถบันทึกลงในรายงานการสัมนาได้ว่า ยังไม่พร้อมที่จะคุยเรื่องนี้ นี่คือความเห็นจากประชาชนที่นี่ ตนรู้สึกดีใจ ที่คนที่นี่คุยอย่างเปิดอก เป็นความชอบธรรมที่ประชาชนจะแสดงความเห็นให้คณะผู้จัดได้รับรู้
จากนั้น เริ่มมีผู้ทยอยเดินออกจากที่ประชุม ขณะที่มีผู้เข้าร่วมประชุมรายหนึ่ง กล่าวต่อที่ประชุมว่า คณะผู้จัดควรส่งข้อมูลล่วงหน้า เพื่อผู้เข้าร่วมได้มีเวลาทำความเข้าใจ เพราะบางเรื่องเป็นนามธรรมไม่ชัดเจนอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ บางเรื่องพอจะวิเคราะห์ได้ ทางราชการชอบทำแบบนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ตนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพิ่มประเด็นการปรับโครงสร้างรชการ การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะประเด็นเหล่านี้ ล้วนเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาทั้งสิ้น
ผู้เข้าร่วมประชุมคนดังกล่าว กล่าวต่อไปว่า ชนเผ่าต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีมากหลายร้อยเผ่า ประเทศไทยถือเป็นบ้านใหญ่ในอาเซียน เตรียมความรู้เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ภาษาที่ต้องใช้ในการเจรจา สนทนากับคนในอาเซียน เตรียมพร้อมรับมือหรือยัง การเชิญผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็น ในการกำหนดนโยบาย ต้องเสาะหาให้เหมาะสม จะได้สะท้อนปัญหาได้ถูกต้อง ถึงจะเป็นการประชุมวางแผนที่มีประสิทธิผล
“ในเอกสารประกอบการประชุม วิเคราะห์เรื่องประมงชายฝั่งผิดอย่างสิ้นเชิง การจะคุยเรื่องประมง ต้องเอาชาวประมงชายฝั่ง ตั้งแต่จังหวัดระนองไปถึงจังหวัดสตูลมาร่วมพูดคุยด้วย และต้องวิเคราะห์ไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ เพื่อเตรียมการรับมือต่างชาติได้ทัน ประเทศไทยเพิ่งมองแค่อาเซียน ขณะที่ยุโรปกำลังมองโลกเป็นหนึ่งเดียว จึงต้องเปิดกว้างเรียนรู้ข้อมูลให้รอบด้าน” ผู้เข้าร่วมประชุมคนเดียวกัน กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า การพูดคุยเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ช่วงนี้ ยังไม่เหมาะสม ควรเปิดรับฟังความเห็นให้หลากหลายภาคส่วนกว่านี้ ขณะที่ผู้จัดประชุมย้ำว่า เป็นเพียงการรับฟังข้อมูล เพื่อไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ของนักวิชาการ โดยจะบันทึกทุกความคิดเห็น รวมทั้งเรื่องที่ชาวจังหวัดระนอง ไม่พร้อมที่จะคุยเรื่องแผนพัฒนาในช่วงนี้