Skip to main content

ทวีศักดิ์ ปิ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ที่สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการที่ 12 สงขลา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทางสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ จังหวัดสงขลา สภาเด็กและเยาวชนภาคใต้ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวชมรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้วิสัยทัศน์ เยาวชนเข้มแข็ง สุขภาพเข้มแข็ง เพื่อนำสันติสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สภาเด็ก

 

ชมรมเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหาราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งชมรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายเครือข่ายสร้างสันติสุขในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

 

 

นายชัยวัฒน์ เชิดบำรุง ประธานสภาเด็กและเยาวชนสงขลา ในฐานะประธานชมรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงว่า ชมรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 จากการรวมตัวของสภาเด็กและเยาวชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังจากแกนนำเยาวชนทั้ง 5 จังหวัด เข้าร่วมโครงการเยาวชนร่วมใจสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้ ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

นายชัยวัฒน์ แถลงต่อไปว่า สำหรับภารกิจของชมรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย เป็นศูนย์ประสานงานเยาวชนในพื้นที่, พัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพ} ส่งเสริมการรวมตัวของกลุ่มเยาวชนในชุมชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ ภายใต้วัตถุประสงค์ต้องการให้ผู้ที่ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนมีกิจกรรมร่วมกัน โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการจัดกิจกรรม ผ่านแกนนำเด็กและเยาวชนและผู้ใหญ่ที่ทำงานด้านเด็กในแต่ละจังหวัด โดยให้แต่ละพื้นที่คิดแผนกิจกรรมของแต่ละจังหวัด

 

นายชัยวัฒน์ แถลงอีกว่า ในส่วนของโครงการที่ทำมาแล้ว 5 ปี ก่อนที่จะมีการจัดตั้งชมรมฯ ประกอบด้วย โครงการสร้างความเข็มแข็งของชุมชน, โครงการออมวันละ 2  บาท ซึ่งดำเนินการใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว 35 ตำบล 8 หมู่บ้าน, การจัดกิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี และสร้างเครือข่ายที่เข็มแข็ง โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนงบประมาณผ่านสภาเด็กและเยาวชนของแต่ละจังหวัดจำนวน 150,000 บาทต่อจังหวัด ในส่วนของอำเภอจำนวน 10,000 บาทต่ออำเภอ ส่วนโครงการเยาวชนร่วมใจได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มอีกจังหวัดละ 100,000 บาท

 

นายชัววัฒน์ แถลงด้วยว่า สำหรับแผนกิจกรรมต่อไปของชมรมฯ คือ สร้างเครือข่ายให้มากที่สุด รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งสภาพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับตำบลให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลไปแล้ว 90 กว่าตำบล ในทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกันนี้ นายกองค์การนักศึกษาของทุกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ยังเข้ามาเป็นอนุกรรมการฯ สร้างเครือข่ายในมหาวิทยาลัย ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันด้วย

 

“ทางชมรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะจัดกิจกรรมด้านการพัฒนาและส่งเสริมแกนนำเยาวชนในพื้นที่ได้ทำงานจิตอาสาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นายชัยวุฒิ กล่าว

 

นางจินตนา จิโนวัฒน์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีแผนงานพัฒนาสตรีเด็กและเยาวชน เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน และสตรี โดยให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น สตรีกับเยาวชนเป็นแม่กับลูก แม่จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ลูกทำสิ่งดีๆ โดยสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นที่ปรึกษาให้ ตนเชื่อว่าชมรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน 5 จังหวัดชายแดนใต้ และสภาเด็กและเยาวชนของทุกจังหวัดเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่จำเป็นต้องส่งเสริม

 

นางจินตนา กล่าวอีกว่า ส่วนในพื้นที่พิเศษนี้ เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เป้าหมายหลักเราจะลงไปในพื้นที่พร้อมกับเยาวชนของเรา เพื่อสอบถามผลกระทบที่ได้รับ มีอะไรบ้าง และทางพื้นที่ต้องการให้ช่วยอะไร เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ทางสภาที่ปรึกษาฯ จะช่วยผ่านชมรมและสภาเด็กและเยาวชน สำหรับตนมองว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาหลัก ที่ต้องแก้ไขและส่งเสริมเป็นลำดับแรก

 

นางจินตนา  กล่าวอีกว่า เรื่องการใช้ภาษาไทยของเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนในพื้นที่นี้ใช้ภาษามลายู การใช้ภาษาไทยจึงเป็นเรื่องไม่ถนัดของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ตนคิดว่าจะต้องเร่งเพิ่มครูสอนภาษาไทย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียน และสามารถใช้ 2 ภาษาได้อย่างเชี่ยวชาญ