29 July 2011
ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ที่อิบนู คอนดูน วิทยาลัยอิสลามศึกษา (ตึกเก่า) คณะกรรมการการเมืองภาคพลเมืองภาคใต้จังหวัดปัตตานี สถาบันพัฒนาการเมือง ได้จัดเวทีระดมความเห็นจากประชาชนจังหวัดปัตตานี จัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดปัตตานี เสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ในเดือนตุลาคม 2554
ภาพโรงงานเหล็กในเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น
(ภาพจากhttp://www.bangkok-today.com/node/1206)
นายสะมะแอ เจะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนไม่ต้องการให้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหรรมอาหารฮาลาลมากจนเกินไป เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะผลกระทบกับชายฝั่งทะเล ประเด็นที่ตนเป็นห่วงคือ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จะเป็นโครงการปะหน้า หลังจากนั้นจะมีโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการตามมา โดยเฉพาะโรงเหล็กต้นน้ำที่มีแผนจะมาสร้างโรงงานที่ชายฝั่งทะเลอำเภอปะนาเราะ จังหวัดปัตตานี ถ้าหากเกิดโรงเหล็กขึ้นมาจริงๆ จะสร้างความเสียหายอย่างหนักกับชาวประมงพื้นบ้านทุกฝ่ายควรสนับสนุนเฉพาะโครงการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
นางย๊ะ อาลี ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี กล่าวต่อที่ประชุมว่า ต้องการให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีศูนย์สื่อมวลชนที่ในพื้นที่ เพื่อนำเสนอข่าวที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ ให้คนภายนอกได้รับรู้ข่าวสารในพื้นที่อย่างถูกต้อง นอกจากนั้นตนยังต้องการให้รัฐบาล จัดอบรมนักจัดรายการวิทยุชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ความสำคัญกับภาษามลายูกลางและภาษาไทย
นายอิสมาอีล เบญจสมิทธิ์ ประธานศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อประชุมว่า ตนต้องการให้มีศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นสถาบันการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสถานที่หลายแห่งที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ผมอยากให้รัฐบาลสนับสนุนอาคาร สถานที่ และสาธารณูปโภคต่างๆ แก่สถาบันปอเนาะ ส่วนเงินเดือนของครูผู้สอนยังไม่มีความจำเป็น เพราะครูสอนศาสนาไม่ได้สอนเพราะต้องการเงินเดือน นอกจากนี้ ผมยังต้องการให้สื่อทุกประเภท ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ ใช้ภาษามลายูกลางในการสื่อสาร เพราะภาษามลายูกลางเป็นภาษามาตรฐานของโลกมลายู และยังต้องการให้มีหนังสือพิมพ์ฉบับภาษามลายู เขียนด้วยอักษรยาวี เพื่อรองรับบัณฑิตที่จบด้านภาษามลายูได้มีงานทำ” นายอิสมาอีล กล่าว
นายแวอูมา แวดอเลาะ กำนันตำบลตันหยงลูโละ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ต้องการให้สนับสนุนการเลี้ยงหอยแครงในอ่าวปัตตานี เพราะหอยแครงปัตตานีมีชื่อเสียง สำหรับการจัดสรรพื้นที่เลี้ยงหอยแครง ให้ชุมชนเป็นผู้จัดการให้เกิดความยุติธรรม