Skip to main content
อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
 
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ที่หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมวิชาการนานาชาติวิทยาศาสตร์ฮาลาล อุตสาหกรรมและธุรกิจ (WHASIB 2011) และงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ฮาลาลสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (IMT–GT HAPEX 2011) เป็นวันที่สอง
 
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีการอภิปรายเรื่องการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสมชาย กุลศิริรัตนา จากชมรมคุ้มครองผู้บริโภค
 
ดร.วินัย อภิปรายว่า การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นเรื่องยาก เพราะความเข้าใจและความตระหนักถึงหลักความปลอดภัยในสายตาของรัฐกับสายตาของชาวมุสลิมแตกต่างกัน มีเจ้าหน้าที่คณะกรรมการอาหารและยาพูดกับตน ขณะไปร้องเรียนเรื่องอาหารที่ได้รับฮาลาลแล้วมีหมูปนเปื้อนว่า ไม่เห็นมุสลิมกินหมูแล้วตาย เพราะฉะนั้นมุสลิมจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคกันเอง
 
ดร.วินัย อภิปรายต่อไปว่า เมื่อมองจากสายตาของรัฐ ปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารฮาลาล ยังไม่เห็นทางว่าจะแก้ไขได้ นักวิทยาศาสตร์ฮาลาลคนหนึ่งร้องไห้ เมื่อทราบว่ามุสลิมกินห้อยจ๊อปูที่ทำจากหมู นักวิทยาศาตร์คนนั้นเป็นชาวปัตตานี ทนเห็นมุสลิมกินสิ่งที่ละเมิดความเชื่ออย่างนี้ไม่ได้ เมื่อปี 2540 เกิดปัญหาไส้กรอกมุสลิมโฟรเซ่นฟู้ดส์ สร้างความสับสนกับอาหารมุสลิมในตลาด เพราะมีคนพบว่าผู้ขายไม่ใช่มุสลิม และมีการปนเปื้อนเนื้อหมู
 
“ผมเจ็บใจกับเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่สามารถเรียกร้องให้ภาครัฐจัดการให้ได้ ผมเลยตัดสินใจเผยแพร่ข้อมูลออกสู่สาธารณะเอง ผลคือกระแสการต้านอาหารเหล่านี้มีมากขึ้น และเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตรวจสอบสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง เช่น การตรวจสอบการปนเปื้อนเอ็นไซม์หมูในผลิตภัณฑ์ที่ได้ตราฮาลาลแล้วของไส้กรอกยี่ห้อหนึ่ง ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสารปนเปื้อนที่มีขนาดเล็ก ” ดร.วินัย กล่าว
 
ดร.วินัย เปิดเผยความสำเร็จในการตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนในมันฝรั่งยี่ห้อหนึ่งว่า หลังจากมีการร้องเรียน ตัวอย่างของมันฝรั่งยี่ห้อนี้ ได้ถูกส่งไปตรวจสอบในหลายประเทศ ด้วยเครื่องมือพิเศษ และต้องให้ประชาชนร่วมกันกดดันให้มีการตรวจสอบด้วย จะให้ชมรมหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดูแลอยู่ฝ่ายเดียวจะดูแลไม่ทัน
 
ดร.วินัย กล่าวถึงกรณีวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นในประเทศอินโดนีเซียว่า เมื่อหลายปีที่แล้ว ก็เคยตรวจสอบพบว่า มาจากเอ็นไซม์หมู กรณีนี้เป็นที่ฮือฮาในวงการวิทยาศาสตร์มุสลิมมาก ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียมีศักยภาพสูง เมื่อปี 2544 สามารถหาคนรับผิดชอบการปนเปื้อนวัตถุดิบฮารอมในผงชูรสยี่ห้ออะยิโนโมโตะได้ จากนั้นได้นำข้อมูลที่ตรวจสอบพบออกเผยแพร่ และประท้วงให้รัฐเอาผิดกับเจ้าของกิจการ ส่งผลให้ผงชูรสยี่ห้อดังกล่าวขายไม่ได้ กระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น ต้องออกมาขอโทษ ปรับเปลี่ยนกระบวนผลิตใหม่ และขอตรารับรองว่าได้ผ่านการตรวจอีกรอบ ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าคนอินโดนีเซีย จะกลับมาเชื่อใจและซื้อสินค้าดังกล่าวอีกครั้ง
 
“เพราะฉะนั้นการจะจัดการเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ละเมิดให้ได้ ต้องร่างพระราชบัญญัติอาหารฮาลาลออกมาบังคับใช้ เพราะการเฝ้าระวังอาหารฮาลาลต้องมีหน่วยงานชัดเจน ตนไม่หวังให้ภาครัฐทำ เพราะมุมมองต่างกัน ต้องอาศัยคนที่เข้าใจเรื่องนี้ และคนที่จะสามารถกำหนดเรื่องนี้ได้ถูกต้องมาดำเนินการ” ดร.วินัย กล่าว
 
นายสมชาย กุลศิริรัตนา ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารฮาลาล อภิปรายว่า มีการก่อตั้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารฮาลาลมา เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการความปลอดภัยในการบริโภคมีอาหารฮาลาลกับเยาวชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปี 2551 เพราะต้องการให้ประชาชนมีความรู้และเลือกซื้ออาหารฮาลาลอย่างเข้าใจ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศไทยเสียเปรียบผู้ประกอบการ ในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารฮาลาล ความไม่รู้ทำให้ชาวบ้านไม่ทราบว่า กำลังกินอาหารที่ไม่ฮาลาล หรือกินสิ่งที่ฮารอมโดยไม่รู้ตัว
 
นายสมชาย อภิปรายต่อไปว่า การจัดการกับปัญหาการบริโภคอาหารที่ถูกต้องต่อหลักศาสนา ควรเริ่มจากการให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะเป็นวิธีส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากกว่าไปกดดันให้บริษัทรับผิดชอบ “เครื่องหมายฮาลาล มีคุณค่าต่อสังคม” ควรมีการตรวจสอบความถูกต้องจากหลากหลายหน่วยงาน และทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของสังคมไทย
 
“ทางชมรมฯ กำลังจัดตั้งสมาคมฯ ขึ้นมาตรวจสอบดูแลเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาการขยับเรื่องนี้เป็นไปได้น้อยมาก และไม่มีเงินสนับสนุน สมัยก่อนการเรียกร้องเพื่อจดทะเบียนอะไรก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก” นายสมชาย กล่าว