Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่  1 สิงหาคม 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลแขวงสงขลา นายนวพล บุญสิทธิ์ ออกนั่งบัลลังก์พิพากษาคดีหมายเลขดำที่ พ.588/2553 ระหว่างนางเรณู แสงสุวรรณ กับพวกรวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ความผิดฐานละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการประกอบกิจการเหมืองหินเขาคูหา ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา มีชาวบ้านในเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหาประมาณ 20 คน ร่วมรับฟัง แต่ไร้วี่แววตัวแทนจำเลย และทนายฝ่ายจำเลย

 

 

ชนะคดี ชาวบ้านเขาคูหา 15 คน และคณะทนายความถ่ายรูปร่วมกันด้วยความชื่นมื่นหลังศาลแขวงสงขลาพิพากษาคดีให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายบ้านแตกร้าว

ภาพจาก http://www.facebook.com/profile.php?id=100000981362158

 

นายนวพล อ่านคำพิพากษาว่า บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด พิสูจน์ไม่ได้ว่าการประกอบกิจการระเบิดหินเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท อีกทั้งจำเลยเองได้เคยเยียวยาค่าเสียหายบางส่วนให้กับชาวบ้านอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคำฟ้องของโจทก์ถือว่ารับฟังได้ และไม่ขาดอายุความแต่อย่างใด

 

“ศาลแขวงสงขลาพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายผลกระทบจากการทำเหมืองหิน ในประเด็นที่ทำให้บ้านแตกร้าวตามที่โจทก์ทั้ง 4 เรียกร้องให้แก่ นางเรณู แสงสุวรรณ โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 101,755 บาท นางวรรณี พรหมคง โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 64,625 บาท นางเอื้ออารีย์ มีบุญ โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 249,642 บาท และนางราตรี มณีรัตน์ โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 90,048 บาท”

 

“นอกจากนี้ต้องชดเชยค่าเสียหายผลกระทบทำให้เกิดฝุ่นละออง ย้อนหลังเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 1 ปีให้แก่โจทก์ทั้ง 4 คน เป็นเงินโดยประมาณ 506,070 บาท”

 

นายนวพล อ่านคำพิพากษาต่อไปว่า แต่ค่าเสียหายจากผลกระทบที่ทำให้เสียงดัง และค่าเสียหายจากการก่อให้เกิดความหวาดวิตก กลัวหินตกหล่นใส่บ้านนั้น ศาลมองเป็นแค่เรื่องความหวาดวิตกที่กฎหมายของประเทศไทยยังไม่ได้บัญญัติไว้ถึงค่าเสียหายทางจิตใจ ศาลจึงไม่พิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวน

 

นางสาวส.รัตมณี พลกล้า ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ชาวบ้านพอใจกับคำพิพากษาในระดับหนึ่ง ซึ่งศาลรับฟังว่า บริษัทที่ประกอบกิจการระเบิดหิน สร้างผลกระทบต่อชุมชนจริง

 

“ชาวบ้านกำลังคุยกันว่า จะยื่นอุทธรณ์ ในประเด็นค่าเสียหายที่ศาลไม่กำหนดให้จำเลยเยียวยาหรือไม่ เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานขึ้นมา ในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ละเมิดสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร” นางสาวส.รัตมณี กล่าว

 

นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา เปิดเผยว่า หลังจากนี้ต้องดูท่าทีของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ขณะที่ชาวบ้านจะปรึกษาหารือว่าจะยื่นอุทธรณ์เรียกร้องเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เพื่อต้องการสร้างบรรทัดฐานเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิในการรักษาและปกป้องทรัพยากร

 

นายเอกชัย เปิดเผยด้วยว่า ส่วนคดีที่บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้านในเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา 64,740,485 บาท ศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานโจทก์นักแรกในวันที่ 29 สิงหาคม 2554

 

ส่วนคดีที่ว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ และนางประดวง  จันทสุวรรณ ยื่นฟ้องบริษัท พีรพล มายนิ่ง จำกัด และบริษัท แคลเซี่ยมไทยอินเตอร์จำกัด ศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานโจทก์ปากแรกประมาณเดือนมีนาคม 2555