Skip to main content

 อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

              ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ

              การหาเสียง เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา บรรดานักการเมืองต่างยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายเอาใจคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปในทิศทางเดียวกันคือ “การกระจายอำนาจ”

               คำถามก็คือ ประชาชนพร้อมที่จะรับ “การกระจายอำนาจ” หรือยัง ภาพการกระจายอำนาจของนักการเมืองกับประชาชนในพื้นที่ เป็นภาพเดียวกันหรือไม่

               สองนักวิชาการที่เสนอรูปแบบการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนหน้านี้คือ ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ จากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

               ทบวงการบริหารสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นข้อเสนอแรกๆ ที่มีการนำมาพูดถึง เพื่อใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ข้อเสนอดังกล่าวเกิดจากผลงานการวิจัยที่ผ่านการสอบถามความต้องการของคนในพื้นที่ จนได้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

              จากการลงพื้นที่สอบถามคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ร่วมสามพันคน ผลการสอบถามปรากฏว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ค่อยพูดเรื่องรูปแบบการปกครองตัวเอง แต่ไปพูดถึงการปรับปรุงแก้ไขกลไกเดิมของรัฐไทยมากกว่า

               นั่นคือคำตอบที่บ่งบอกว่า คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ไม่ได้คิดแบ่งแยกดินแดนอย่างที่รัฐไทยเข้าใจ

              ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา หนึ่งในทีมวิจัย ชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังไม่กล้าพูดถึงการปกครองของรัฐไทย

              ขณะที่การขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจยังไม่มากพอ ประชาชนจึงยังไม่ค่อยเข้ามามีส่วนร่วม ในการกำหนดรูปแบบการกระจายอำนาจมากนัก

              ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ จึงมองว่า วันนี้ภาพที่รัฐบาล ภาคประชาชน และนักวิชาการ มองเรื่องการกระจายอำนาจ ยังไม่ตรงกัน ที่ผ่านมาการพูดถึงการกระจายอำนาจมาจากนักวิชาการเสียส่วนใหญ่ กระแสการพูดถึงการกระจายอำนาจโดยนักการเมืองนั้น ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นเพียงการต่อยอดจากงานวิจัย

              ปมปัญหาของความรุนแรงส่วนหนึ่ง ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ มองว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่ยอมกระจายอำนาจ ทั้งที่ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 อยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลเร่งกระจายอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด เสียงเรียกร้องของประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้น และรัฐบาลจะไม่ต้องเผชิญหน้าถึงขั้นแตกหักกัขบวบนการแบ่งแยกดินแดน ที่ออกมาเรียกร้องเอกราช เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ต้องการเพียงการดูแลที่ดีจากรัฐบาลเท่านั้น

               “การเสนอเรื่องการกระจายอำนาจในช่วงแรก เป็นไปบนฐานการวิจัย แต่หลังจากนำเสนอโมเดลแรกคือ ทบวงบริหารสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เริ่มมีการนำโมเดลนี้ไปขยาย จากนั้นก็ตามมาด้วยโมเดลที่สอง สาม สี่ ตอนนี้มีการเสนอโมเดลการกระจายอำนาจของสามจังหวัดชายแดนใต้ เกือบ10 โมเดล” เป็นข้อมูลจากมุมของดร.สุกรี หลังปูโต๊ะ

                ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี เชื่อมั่นว่า มาถึงวันนี้แล้ว พรรคการเมืองไม่สามารถจะดองเรื่องนี้ไว้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะจะมีกลุ่มคนคอยทวงถามเรื่องนี้ตลอดเวลา เรื่องนี้จะไม่หายไปจากสังคม

                ส่วนผลจะออกมาอย่างไร ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี มองว่า คงต้องดูที่รัฐบาลว่า มีความพร้อมที่จะกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากน้อยแค่ไหน”

...............................................................

14ปีกระแสกระจายอำนาจชายแดนใต้

                การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 เนื่องจากในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ จากนั้นมีการออกพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน นโยบายการกระจายอำนาจในประเทศไทยดำเนินมาเป็นระยะเวลา 14 ปีแล้ว

ความหมายคำย่อ
พ.ร.บ. = พระราชบัญญัติ
จชต. = จังหวัดชายแดนภาคใต้