ยารีนา กาสอ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้บรรจุขวดที่มีลักษณะเหมือนขวดไวน์หลากหลายรูปแบบ วางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม โดยมีการเรียกติดปากว่าไวน์ฮาลาล ซึ่งเป็นที่นิยมดื่มในหมู่วันรุ่นมุสลิม ขณะที่ผู้นำศาสนาอิสลามแสดงความเป็นห่วงว่า อาจส่งผลให้เยาวชนมุสลิมเข้าใจผิดว่า ไวน์ซึ่งเป็นเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์สามารถดื่มได้ เพราะมีลักษณะขวดคล้ายกัน
นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการฮาลาล ประจำสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่ทำบรรจุภัณฑ์น้ำผลไม้คล้ายขวดไวน์วางจำหน่าย โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอม ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นเข้าใจผิดคิดว่า ไวน์หรือเครื่องดื่มมึนเมาอื่นๆ ชาวมุสลิมสามารถดื่มได้โดยไม่ขัดหลักการศาสนาอิสลาม เพราะมีรูปแบบขวดเครื่องดื่มคล้ายคลึงกัน
นายอับดุลมานะเผยต่อด้วยว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการฮาลาล ประจำสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ทำได้มีเพียงการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล(การอนุมัติในหลักศาสนาอิสลาม)ที่ผลิตในจังหวัด หากมีรายงานว่ามีการใช้เครื่องหมายฮาลาลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมีสารที่ผิดหลักการอิสลามปนเปื้อน ฝ่ายกิจการฮาลาลจะเข้าไปตรวจสอบทันที และจะประชาสัมพันธ์ทางสถานีวิทยุหรือส่งเอกสารเร่งด่วนไปยังผู้นำศาสนาทั่วจังหวัดแจ้งให้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ฮาลาล พร้อมทั้งแจ้งไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย แต่สินค้าบางชนิดก็ควบคุมตรวจสอบไม่ได้ เพราะเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
“การนำเข้าเครื่องดื่มน้ำผลไม้จากต่างประเทศ เป็นเรื่องธุรกิจมากกว่า โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักศาสนาอิสลาม ว่าเป็นเครื่องดื่มที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามหรือไม่ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะสังคมมุสลิม การทำรูปแบบขวดที่เหมือนขวดไวน์ ทำให้ฉุกคิดไม่ได้ว่า เครื่องดื่มชนิดนั้นมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วย” นายอับดุลมานะ กล่าว
“การจะทราบว่าเครื่องดื่มชนิดใดที่ชาวมุสลิมสามารถบริโภคได้โดยไม่ผิดหลักศาสนาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบว่า เครื่องดื่มชนิดนั้นๆ ผ่านกระบวนการหมักที่ก่อให้เกิดเป็นเชื้อจุลินทรีย์เหมือนแอลกอฮอล์หรือไม่ ซึ่งต้องใช้หลักเหตุผลประกอบว่า ถูกต้องตามหลักอิสลามและคนอิสลามสามารถดื่มได้หรือไม่” นายอับดุลมานะ กล่าว
นายอับดุลมานะ กล่าวว่า การทำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มผลไม้ขวดคล้ายไวน์นั้น เป็นชุบุฮาต หรือสิ่งคลุมเครือ เคลือบแคลง สงสัย คล้ายๆ เป็นปัญหาที่ไม่รู้ว่าฮาลาลหรือฮะรอม(ตรงข้ามกับฮาลาล หมายถึงไม่อนุมัติในทางหลักศาสนาอิสลาม) จึงจำเป็นต้องรอการฟัตวา หรือ การวินิจฉัยของนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามก่อนว่า สินค้าชนิดนั้นไม่มีสารปนเปื้อนที่ผิดหลักอิสลามและสามารถบริโภคได้ และวินิจฉัยด้วยว่า การทำบรรจุภัณฑ์คล้ายบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มมึนเมานั้น ผิดหลักศาสนาด้วยหรือไม่
เจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ตนซื้อน้ำผลไม้ที่มีรูปแบบขวดลักษณะเหมือนขวดไวน์แถวด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย จังหวัดสงขลา โดยเลือกซื้อน้ำผลไม้คละแบบ หลากรสชาติและสีสันแต่ละครั้งในปริมาณมาก เพื่อนำมาทำน้ำผลไม้ปั่นขาย ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ชอบดื่มน้ำผลไม้ที่มีความแปลกใหม่
เจ้าของร้านค้าคนเดิม เปิดเผยว่า ตนไม่ทราบว่าในจังหวัดปัตตานีมีน้ำผลไม้ประเภทนี้ขายที่ใดบ้าง เนื่องจากตนไม่ได้ขายเป็นขวด แต่นำมาทำน้ำผลไม้ปั่น และไม่ได้ทำเป็นธุรกิจขายตรง
“น้ำผลไม้ประเภทนี้ คิดว่ามุสลิมดื่มได้ เพราะมีตราสัญลักษณ์ฮาลาลปรากฎข้างขวด ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ไม่น่าจะผิดหลักศาสนาอิสลาม เพียงแต่มีลักษณะขวดคล้ายลักษณะขวดไวน์เท่านั้น” เจ้าของร้านค้าคนเดิม กล่าว