Skip to main content

 

ยารีนา กาสอ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

ในห้วงหลายปีมานี้ ดูเหมือนทั่วทั้งโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่กำลังเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ ที่นับวันจะหนักหน่วงและไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ

 

จึงไม่แปลกที่ขณะนี้ ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กำลังประสบอุทกภัย จากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ

 

ก่อนหน้านี้ ปลายปี 2553 ต่อต้นปี 2554 หลายพื้นที่ในขอบเขตทั่วประเทศ ต่างเจอภัยพิบัติกันมาแล้วถ้วนหน้า

 

6 ชุมชนในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กว่าสิบหมู่บ้านรอบอ่าวปัตตานี และอีกสามภูมินิเวศน์ของจังหวัดพัทลุง จึงกลายมาเป็นพื้นที่นำร่องของสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ หรือในชื่อย่อ “วพส.” ให้การสนับสนุนนักวิชาการ กระตุ้นกลุ่มคนและชุมชน เตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ผ่านกิจกรรมฟื้นฟูในแต่ละชุมชน

 

สำหรับจังหวัดปัตตานีดำเนินการมาแล้ว 6 เดือน ใช้ชื่อโครงการสั้นๆ ว่า “PB watch” หรือโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี

 

โครงการนี้ครอบคลุมอำเภอหนองจิก อำเภอสายบุรี อำเภอยะหริ่ง และอำเภอเมืองปัตตานี

 

สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ โอนเงินเข้าบัญชีให้ชาวบ้าน 15 ชุมชน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 10,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการชุมชน และส่วนที่ 2 จำนวน 15,000 เป็นค่าใช้จ่ายซ่อมเรือประมงของชุมชนที่เสียหายจากภัยพิบัติ

 

“การทำงานในส่วนของปัตตานีมีเครือข่ายชุมชน หรือชาวบ้านอยู่ข้างหน้า นักวิชาการ คณะกรรมการภาคประชาสังคมอยู่ข้างหลัง ช่วยผลักดันและสนับสนุนกลไกการทำงานของคณะกรรมการชุมชนกว่า 10 ชุมชน ทั้งสองฝ่ายจะประชุมร่วมกัน ตัดสินใจจากความเห็นร่วมกันของที่ประชุม เพราะปัญหาชุมชนต้องแก้ด้วยคนในชุมชน นักวิชาการแค่อยู่เบื้องหลัง คอยผลักดันให้โครงการฯ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย”

 

เป็นคำอธิบายถึงบทบาทของนักวิชาการในโครงการฯ นี้จาก “รศ.อิ่มจิต เลิศพงศ์สมบัติ” ประธานโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี หรือ PB Watch ซึ่งมีอีกฐานะเป็นคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร

 

“นายมะรอนิง สาและ” กรรมการกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี และประธานกลุ่มประมงหัวทราย หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เล่าว่า เมื่อเห็นสภาพหมู่บ้านถูกภัยพิบัติถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ สิ่งแรกที่นึกถึงคือ “สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้” ที่ให้งบประมาณมาจัดหาอาหารและของใช้ที่จำเป็น มีกลุ่มนักศึกษาเข้ามาช่วยจัดเตรียมอาหารและฟื้นฟูชุมชน ร่วมกับฝ่ายทหาร

 

ช่วงเกิดภัยพิบัติ ทั้งเรือประมงพื้นบ้านและอวนจับปลาได้รับความเสียหาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลงมาตรวจเยี่ยม ได้ให้งบประมาณซ่อมเรือมาประมาณ 500,000 บาท ซ่อมเรือได้เพียง 20 ลำ แต่มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม จนซ่อมเรือได้ถึง 50 ลำ

 

ชาวบ้านคิดว่า หากรอให้รัฐช่วยเหลือฝ่ายเดียว คงไม่สามารถฟื้นฟูชุมชนได้เร็วอย่างที่ต้องการ จึงร่วมกันจัดกิจกรรมฟื้นฟูชุมชนขึ้นมา

 

“ตอนนี้มีเงินจากสหภาพยุโรป หรืออียูเข้ามาสมทบ เรานำมาบูรณาการกับงบประมาณที่ได้จากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ รอให้รัฐช่วยอย่างเดียวไม่ได้”

 

เป็นคำบอกเล่าของ “นายมะรอนิง สาและ”

 

เมื่อซ่อมเรือเสร็จ ชาวบ้านก็ตัดสินใจทำธนาคารปู โดยบูรณาการความรู้ทางวิชาการจาก “PB watch” กับความรู้ที่ชาวบ้านมีอยู่มาใช้ร่วมกัน เนื่องเพราะเห็นว่า ทั้งปูและกุ้งในอ่าวปัตตานีค่อยๆ น้อยลง แต่น้ำในอ่าวปัตตานีมีความเค็มน้อย ทำให้โครงการธนาคารปูไม่บรรลุผลสำเร็จ

 

ชาวบ้านในชุมชนปรึกษาแนวทางแก้ปัญหาปูตายว่า ต้องศึกษาการเพาะเลี้ยงปูจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงโดยตรง จึงต้องการให้นักวิชาการเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการนำปูมาอนุบาลในบ่อแล้วปล่อยลงทะเล

 

แผนการระยะต่อไปของชุมชนดาโต๊ะคือ จัดอบรมเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติชุมชน และโครงการการเลี้ยงปลาดุกทะเลประมาณ 300 บ่อ นำเศษอาหารจากการทำข้าวเกรียบมาเป็นอาหารปลา

 

ขณะที่บ้านปาตาบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ “นายลุตฟี เจ๊ะเย็งแกนนำหมู่บ้านบอกว่า หลังจากประสบอุทกภัยและวาตภัย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ทางกรมอนามัยได้เข้ามาตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ และเด็กในหมู่บ้าน

 

กระทั่งเดือนเมษายน 2554 มีการส่งเสริมอบรมจริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับยาเสพติด มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมอบรมประมาณ 150 คน

 

โครงการล่าสุดของบ้านปาตาบูดีคือ ทำก๊าซชีวภาพที่เดินทางไปศึกษาถึงจังหวัดพัทลุง

 

ชุมชนปาตาบูดีเป็นชุมชนนำร่องในอ่าวปัตตานี ที่ทดลองทำก๊าซชีวภาพในครัวเรือน คาดว่าในอนาคตจะได้ใช้ก๊าซชีวภาพที่ผลิตขึ้นเอง

 

ส่วนระยะต่อไป จะจัดอบรมรับมือกับภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กันไปกับจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การทำก๊าซชีวภาพ

 

หลังเกิดภัยพิบัติที่ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายแวมุสตอปา ดอเลาะ แกนนำชุมชนตำบลตันหยงลุโละ และอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติ เล่าว่า ชาวบ้านได้นำงบประมาณที่ได้รับจาก PB watch มาจัดอบรมการเฝ้าระวังรับมือภัยพิบัติ 2 รุ่น นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการนำขยะมาทำก๊าซชีวภาพในครัวเรือนด้วย

 

ตลอดระยะเวลาที่ได้รับงบประมาณทางตำบลตันหยงลุโละมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย พร้อมกับฝึกให้คนในชุมชนจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และจัดสวัสดิการชุมชน เน้นให้ชุมชนเก็บออมเงิน เป็นต้น

 

กระทั่ง วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 ชาวตันหยงลุโละ จึงได้จัดอบรมให้ความรู้ถึงบทบาทสตรีในการรับมือภัยพิบัติในอนาคต เพื่อไม่ให้ชาวบ้านตื่นตระหนก และสามารถรับมือจากภัยพิบัติได้

 

หลังจากนี้ ชาวตันหยงลุโละจะปลูกต้นไม้เป็นแนวกั้นคลื่นลมและน้ำทะเล และสร้างธนาคารเขื่อน เพื่อเพิ่มผลิตผลที่เกิดขึ้น และทำก๊าซชีวภาพใช้ในครัวเรือน

 

ทั้งหมดเป็นข้อมูลจากคำบอกเล่าของ “นายแวมุสตอปา ดอเลาะ” แกนนำชุมชนตำบลตันหยงลุโละ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติ

 

ขณะที่โครงการการพัฒนาและการขับเคลื่อนกลไกการสร้างชุมชนเข้มแข็งให้พร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติของจังหวัดพัทลุง

 

“รศ.ดร.เกษม อัศวตรีรัตนกุล” จากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะประธานโครงการฯ บอกว่า ทางโครงการฯ แบ่งพื้นที่ออกเป็นสามนิเวศน์ ประกอบด้วย ควน นา เล ที่ผ่านมาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือนา และพื้นที่เกษตรริมทะเลสาบสงขลา หรือพื้นที่เล ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่น้อยที่สุดคือควน

 

ทางโครงการฯ จะเข้าไปเสริมสร้างความพร้อมให้กับชุมชน เพราะถ้าชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติใดๆ ชุมชนสามารถแก้ปัญหาตัวเองได้

 

การพึ่งพาตัวเองอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ในระยะสั้นจะต้องศึกษาว่า ปรากฏการณ์หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นมีปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน โดยเน้นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหา

 

โดยการเรียนรู้จะต้องควบคู่กับการจัดระบบ มีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ โดยกำหนดพื้นที่เบื้องต้น ทั้งควนและเลประมาณ 15 ชุมชน ทั้งหมดเป็นชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน และมีแกนนำ หรือผู้นำชุมชน ที่หน่วยงานภาครัฐ หรือพรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ยาก เพราะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้รวดเร็ว

 

คณะทำงานนอกจากมหาวิทยาลัยทักษิณแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ เข้ามาร่วมทำงานด้วย โดยมีสมาคมครอบครัวเข้มแข็ง โครงการโรงเรียนใต้ร่มไม้ของมูลนิธิอริยาภา เครือข่ายเกษตรในแต่ละชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยขับเคลื่อน

 

ด้วยการเปิดเวที “เวทีคนไม่งอมืองอเท้าก้าวข้ามวิกฤต” จากนั้นตามมาด้วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อปลุกชุมชนให้ตื่นขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง โดยชุมชนต่างๆ เข้าร่วมเวทีกว่า 20 ชุมชน ในจำนวนนี้ประกาศเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 15 ชุมชน

 

จากนั้น จึงจัดเวทีเตรียมคน โดยฝึกอบรมการเข้าถึงชุมชน ขณะนี้เกิดแผนนำร่องที่ชุมชนเขาพนม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และการเยียวยาหลังจากประสบภัยพิบัติ

 

หลังจากนั้น มีการจัดทำแผนที่อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ใน 4 ชุมชนคือ บ้านคลองดุน บ้านกะทิ บ้านกะตัง บ้านคลองขุด ทั้งหมดเป็นชุมชนริมทะเลน้อย ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเป็นประจำ

 

ชุมชนคลองขุด มีการจัดตั้งโครงการกองทุนหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูอาชีพ เป็นเงินยืมไม่คิดดอกเบี้ยในการยืมครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนได้ใช้เงินกองทุนกันอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนยังมีความคิดว่าจะซื้อเรือมาไว้ใช้ ขณะเดียวกันก็จะกองทุนร่วมกันสร้างเครือข่ายชุมชนรับมือกับภัยพิบัติ โดยวัดในชุมชนเป็นที่ศูนย์รวม

 

เมื่อชุมชนคลองขุดเสนอโครงการนี้ ชุมชนบริเวณใกล้เคียงได้จัดตั้งกองทุนเช่นกัน อาทิ ชุมชนสะทัง ขณะที่ชุมชนแหลมดิน มีสมาชิกของเครือข่ายวิทยุเพื่อการเตือนภัย เสนอให้จัดตั้งเครือข่ายวิทยุเพื่อการเตือนภัย เชื่อมโยงจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดใกล้เคียง จึงสร้างโครงการนี้ เพื่อการเตือนภัยเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ

 

ขณะเดียวกันชุมชนเขาพนม ซึ่งเป็นชุมชนทางน้ำผ่านก่อนลงสู่ทะเล ที่กลายเป็นทางระบายน้ำและขยะ ก็ร่วมกันขุดลอกคูระบายน้ำสายเขาพนม–คลองท่า เพื่อความสามัคคี

 

เมื่อวันที่ 23–24 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา จังหวัดพัทลุงได้จัดกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 9 ชุมชน ที่วิทยาลัยภูมิปัญญา มหาวิทยาลัยทักษิณ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน ริมทะเลน้อย โดยเชิญเครือข่ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฏร์ธานีมาร่วมแลกเปลี่ยน

 

ล่าสุด จังหวัดพัทลุงมีแผนจะร่วมกับพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมให้เป็นรูปแบบเดียวกัน สิ่งที่ต้องการคือแผนชุมชนระหว่างพื้นที่ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด

 

ด้าน “นางวัลภา ฐาน์กาญน์” ประธานโครงการฟื้นฟูน้ำท่วมหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลกับเครือข่ายภัยพิบัติว่า พื้นที่ภัยพิบัติในหาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนริมคลองร.1 ชุมชนตลาดป้อม 6 ซึ่งเป็นชุมชนแออัด ประชาชนประกอบธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง มีทั้งร้านค้า ร้านซ่อมรถ และโรงพิมพ์ จำนวนประชากรเยอะ มีลักษณะเป็นเครือญาติบ้านติดกันใช้บ้านเลขที่ซ้ำกัน

 

พื้นที่ดังกล่าว เป็นทางผ่านของน้ำที่ขึ้นสูงประมาณ 3.5 เมตร เนื่องจากถูกน้ำท่วมประจำ จึงมีการขับเคลื่อนที่จะตั้งกลุ่มฟื้นฟู โดยมีแผนที่จะสร้างเครือข่ายผู้ประสบภัยระหว่างชุมชนริมคลอง

 

ได้จัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้น เช่น กลุ่มการทำขันหมากของชาวไทยพุทธและมุสลิม เป็นกลุ่มแม่บ้านเทศาพัฒนา ส่วนอีกชุมชนนำร่องคือ ชุมชนคลองร.1 มีลักษณะเด่นเกี่ยวกับภาวะความเป็นผู้นำ สร้างแกนนำที่มีจิตอาสาขึ้นมา ตอนนี้มีกลุ่มออมทรัพย์คลองร.1 จากเดิมมีสมาชิก 8 คน ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 132 คน มีเงินออมสะสม 20,000 กว่าบาท โดยเฉลี่ยมีการเก็บทุกเดือน เดือนละ 30 บาท

 

ปัจจุบันจากกลุ่มออมทรัพย์ ได้ตั้งคณะกรรมการทำแผนเตรียมรับภัยพิบัติ แต่งตั้งหัวหน้าซอยแต่ละซอยขึ้นมารับผิดชอบ เช่น ฝ่ายสื่อสาร ฝ่ายกำลังคน ปัจจุบันดำเนินการตามไปได้ 20% มีการวางแผนไว้ว่าจะจัดทำฐานข้อมูลให้สมบูรณ์ในอนาคต

 

ขณะที่ “นางมาลินี กาเดร์” ประธานกลุ่มออมทรัพย์ ชุมชนคลองร.1 กล่าวว่า หลังเกิดภัยพิบัติ ชาวบ้านไม่ทราบจะเริ่มต้นตรงไหน เมื่อมีงบประมาณเข้ามาช่วย จึงคิดที่จะจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคต

 

สำหรับโครงการฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติคลองป้อม 6 “นายรุสดี บินหวัง” ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูน้ำท่วมหาดใหญ่ บอกว่า มีการรวมกลุ่มเพาะเห็ดขายในตลาดใกล้ๆ ชุมชน มีสมาชิก 8 คน โดยในส่วนของเยาวชนมีการรวมกลุ่มกันทำขันหมากชาวไทยมุสลิม พร้อมกับมีการจัดตั้งออมทรัพย์สวัสดิการชุมชนป้อม 6 มีสมาชิก 102 คน

 

หลังจากนี้ ทั้ง 6 ชุมชนของหาดใหญ่ จะวางแผนร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพิ่มแกนนำเป็น 30 คน และมีแกนเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 22 คน มีกิจกรรมฟื้นฟูร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยมีมูลนิธิชุมชนสงขลาให้ความช่วยเหลือ.oการซ่อมบ้าน

 

นอกจากนี้ ยังเริ่มโครงการสร้างอาชีพจากงบประมาณที่ได้รับจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ 10,000 บาท โดยรวบรวมผู้ที่สนใจมาเป็นสมาชิกกลุ่ม มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม 100 บาทเป็นทุนตั้งต้นในการเพาะเห็ด

 

ในอนาคตถ้าหากมีกำไร นอกจากปันผลแล้วจะกันเงินส่วนหนึ่งตั้งกองทุนสาธารณประโยชน์ เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติต่อไป

 

“เราคงต้องช่วยตัวเองเป็นหลัก เพราะเทศบาลนครหาดใหญ่มีภารกิจมาก ตั้งแต่เตรียมความพร้อมเรื่องเยียวยา การขุดลอกและขยายท่อ–คูระบายน้ำ โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการป้องกันอุทกภัย ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล”

 

เป็นเสียงสะท้อนจากแกนนำชุมชน ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่บอกเล่าถึงภาระที่ต้องแบกรับ ในขณะที่แต่ละหน่วยงาน ต่างมีภารกิจขนาดใหญ่ต้องดูแล