Skip to main content

 

จริงใจ จริงจิตร โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

อีก 4 ปี ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” อันตามมาด้วยการเปิดเสรีด้านต่างๆ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงาน

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะส่งผลบวกหรือลบอย่างไรกับแรงงานไทย นับเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิด ข้อมูลที่ได้จากปาฐกถาของเลขาธิการอาเซียน “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” เรื่อง “แนวทางการรับมือกับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่มีต่อแรงงานไทย” นับเป็นอีกประเด็นที่คนไทยโดยรวมควรมีโอกาสได้รับรู้

เป็นปาฐกถาในโครงการ “แนวทางรับมือกับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่มีต่อแรงงานไทย” ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดร่วมกับชมรมการจัดการงานบุคลจังหวัดสงขลา ที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีช เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา

            ทำไม การจะมอบภาระให้คนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหัวหอกนำไทยสู่ตลาดอาเซียน ถึงต้องเปลี่ยนทัศนคติกรุงเทพมหานคร

โปรดไล่สายตาหาเหตุผลได้ ด้วยการอ่านปาฐกถาชิ้นนี้โดยพลัน

สุรินทร์ พิศสุวรรณ

สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน

………………………………………………….

 

“ชายแดนภาคใต้ ประชากรมีลักษณะแตกต่างหลากหลายดีอยู่แล้ว ขอให้เปลี่ยนทัศนคติของกรุงเทพมหานคร อย่าถือว่าความแตกต่างหลากหลายและเอกลักษณ์เหล่านี้ ทำลายความเป็นเอกภาพของชาติ

คนที่นี่พูดภาษามาเลย์ท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เปลี่ยนทัศนคติได้ไหมว่า นี่คือทรัพยากรที่มีอยู่ สอนภาษามลายูกลางให้เขา สองภาษาของที่นี่ก็เป็นภาษามลายูกลางกับอังกฤษ เขาจะเป็นหัวหอกในการนำไทยสู่ตลาดอาเซียน นำนักท่องเที่ยวเข้ามา ดึงเอาการลงทุนเข้ามา ดัน SMEs สู่ตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เพราะเขารู้ภาษามลายู

ภาษาถิ่นตรงนี้เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญ รักษาไว้ พัฒนามัน สอนให้เขาพูดมาเลย์กลางที่พูดกัน 300 กว่าล้านคนในอาเซียน ครึ่งหนึ่งในอาเซียนพูดภาษามาเลย์ แต่เพราะทัศนะของกรุงเทพมหานครมองว่า สิ่งนี้จะนำไปสู่การแตกแยก มันถึงพัฒนาต่อไปไม่ได้ มันถึงกลายเป็นความแตกแยก ต้องเปลี่ยนทัศนคติ”

 

………………………………………………….

 

ผมดีใจมากๆ ที่เห็นความตื่นตัวของพี่น้องชาวจังหวัดสงขลามีมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หัวข้อที่ตั้งไว้วันนี้คือ ผลกระทบ การเตรียมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของแรงงาน บุคคลากร ทรัพยากรมนุษย์ ที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 หรือค.ศ. 2015

ปีนี้ ค.ศ. 2011 เหลืออีก 4 ปีจะเป็นประชาคมอาเซียน ที่เรียกว่า The ASEAN Community

ประชาคมอาเซียนวางอยู่บน 3 เสาหลัก เสาหลักที่หนึ่งคือ เรื่องการเมืองและความมั่นคง Political and Security Community เสาหลักที่สองคือ Economic Community หรือ AEC

ท่านจะเห็นว่ามีการพูดถึง AEC กันบ่อยในสื่อมวลชนทั้งหลาย ในเรื่องการเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC การเตรียมพร้อมที่จะได้ประโยชน์จาก AEC การเตรียมพร้อมที่จะเข้าไปแข่งขันใน AEC การเตรียมพร้อมเพื่อจะแย่งตลาด AEC

อีกเสาหลักหนึ่งคือเรื่องสังคมและวัฒนธรรม ASEAN Socio-Cultural Community แปลว่าเป็นเสาที่จะทำให้ประชากรอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ 600 ล้านคน มีความรู้สึก รู้จัก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเจ้าของประชาคมนี้ด้วยกัน พร้อมจะเข้ามาหาประโยชน์จากประชาคมนี้ แข่งขันในประชาคมนี้ และเป็นเจ้าของในการสร้างประชาคมนี้ด้วยกัน

โลกสมัยใหม่คือโลกที่แข่งขันกันด้านเศรษฐกิจ ภาษาที่ใช้กันในการทูตสมัยใหม่คือ ภาษาธุรกิจ การลงทุน การแข่งขัน เดี๋ยวนี้ในทางการทูตมีการพูดถึงเรื่องความมั่นคง ข้อตกลง การรับรองข้อตกลงน้อยลง 60–70% เป็นเรื่องของการลงทุน การแลกเปลี่ยน การท่องเที่ยว การแข่งขัน การลดภาษี การลดกำแพงภาษี การลดกำแพงซึ่งไม่ใช่ภาษี

กำแพงซึ่งไม่ใช่ภาษีคือ คุณภาพของสินค้า ขนาด ส่วนผสม สีสันของสินค้า เพื่อที่จะตั้งประเด็นกีดกัน ไม่ให้สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเข้ามา เพราะมีการลดภาษีระหว่างกันหมดแล้ว ตามข้อตกลง เขาเรียกว่า None Tariff Barrier คือ การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การเก็บภาษีสินค้าขาเข้า

เพราะฉะนั้น สงขลาหรือภาคใต้ของประเทศไทย ถ้ามองแผนที่ของภูมิภาค จะเห็นเป็นหัวใจที่ยื่นเข้าสู่อาเซียนทางใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ทางตะวันตก เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ทางตะวันออก 200 กว่ากิโลเมตรข้ามอ่าวไทยก็คือ เขมร เวียดนาม ไกลไปอีกหน่อยก็คือ ฟิลิปปินส์

จะเห็นได้ว่า ด้ามขวานของภาคใต้ของเรา ยื่นเข้ามาในหัวใจของอาเซียน มันจึงมีการท้าทายมาก มีสิ่งต้องเตรียมพร้อมเรียนรู้ รับรู้มาก โอกาสมีมาก ลูกหลานของเรา หรือตัวเราเอง สามารถที่จะออกไปหางานทำในภูมิภาคอาเซียนได้ ทั้ง 10 ประเทศ

ชีวิตในอนาคต จึงเป็นชีวิตที่เคลื่อนย้าย เคลื่อนไหว (Mobile) เป็นชีวิตที่มีทางเลือกเยอะ เป็นชีวิตที่มีความน่าตื่นเต้น มีโอกาสเปิดกว้าง แต่ก็เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เพราะต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือคุณภาพของคน จะต้องแข่งขันกับคน 600 ล้านคน

คนเรียนจบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาเขตหาดใหญ่ หรือปัตตานีก็ตาม ไม่ได้แข่งขันกับคนแค่ 60 ล้านคนในประเทศเท่านั้น ถ้าจะเป็นวิศวกร เป็นสถาปนิก เป็นทันตแพทย์ เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นบุคลากรด้านการท่องเที่ยว

Hospitality Industry เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่แปลก สงขลาน่าจะมี เพราะมีท่าเรือ มีสนามบินนานาชาติ ต้องสำรวจสินค้าก่อนเรือและก่อนเครื่องบินออกว่า ถูกต้องตาม L/C ใบสั่ง ตามข้อตกลงที่บริษัทจากมาเลเซีย จากสิงคโปร์ จากยุโรป จากจีน จากญี่ปุ่น สั่งเข้ามาหรือไม่ เรียกอาชีพนี้ว่า Surveyor แปลว่า สำรวจสินค้าให้ถูกต้องตามสเป็คที่เขาสั่ง อีกอาชีพหนึ่งคืออาชีพการบัญชี

ขณะนี้ตกลงกันแล้วว่า เป็น 8 อาชีพ ที่จะมีโอกาสเคลื่อนย้ายในภูมิภาคของอาเซียน ไปที่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น 8 อาชีพนี้คือ 8 อาชีพที่มองได้ 2 แง่

1. ทางเลือกเยอะในชีวิต

2. จะไม่จำกัดอยู่ตรงนี้แล้ว

จะไปเปิดคลินิกที่สิงคโปร์ก็ได้ ไปเปิดบริษัท Consultant (ที่ปรึกษา) ทางด้านสถาปัตยกรรม และทางด้านวิศวกรรมที่มาเลเซียก็ได้

ไปทำงานใน Hospitality Industry เรียนมาทางด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการต้อนรับขับสู้คือ โรงแรม สปา การให้บริการทางด้านท่องเที่ยว เป็นไกด์ เป็นผู้นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ สามารถจะไปทำงานที่บรูไนได้ หรือที่ฟิลิปปินส์ได้

มองได้ว่าโอกาสมีมากขึ้น ชีวิตน่าตื่นเต้น มีทางเลือก ชีวิตของลูกหลานเราต่อไปนี้ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในขอบขัณฑสีมาของประเทศนี้อีกแล้ว

อีกแง่หนึ่งคือ ถ้าเราต้องการจะย้ายไปบ้านเขา เขาก็ย้ายมาที่เราได้ เพราะฉะนั้นการแข่งขันจะสูงขึ้น คุณภาพต้องดีขึ้น สามารถที่จะแข่งขันกับคนอื่นแล้วรอด หรือเอาชนะได้

ตรงนี้แหละคือ ปัญหาของประเทศไทย ปัญหาของคนสงขลา ปัญหาของคนทุกจังหวัดในประเทศไทยคือ เรื่องความสามารถในการแข่งขัน เรื่องของ Competitiveness คุณภาพของบุคคลากรที่ผลิตออกมา คุณภาพของผลผลิตในด้านทรัพยากรมนุษย์ที่เราผลิตออกมา

คนสิงคโปร์มาเที่ยวที่นครศรีธรรมราช เข้าไปร้านอาหารที่โรงแรม นั่งโต๊ะบอกว่า May I have a glass of water? พนักงานเสิร์ฟที่นครฯ บอกว่า อะไรก๊อ 3 ครั้ง เขาหายอยากเลยครับ ลุกหนี เข้าใจว่าสงขลา และหาดใหญ่ไม่มีปัญหานั้น

ผมดีใจที่ได้ยินนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พูดถึงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เริ่มด้วยภาษา คุณจะเป็นหมอที่ดีเยี่ยม แต่ถ้าคุณยังถามอะไรก๊ออยู่ คุณจะเป็นสถาปนิก หรือวิศวกรที่ดีเยี่ยม แต่ถ้าคุณไม่สามารถบริการลูกค้าได้ เพราะสื่อกับเขาไม่ได้ จะเป็นทันตแพทย์ หรือพยาบาล หรือหมอ ถึงแม้จะไปเปิดคลินิกในต่างประเทศ ภายใต้กรอบของอาเซียนได้ แต่ถ้ายังสื่อกับเขาไม่ได้ พูดได้แค่ภาษาเดียว คุณก็ไม่สามารถจะไปได้

ระวังให้ดี 68% ที่เข้ามาลงทุนในอาเซียน เข้ามาสู่ภาคบริการ ใน 100 บาท มี 68 บาท จะเข้าสู่ระบบของการศึกษา ธุรกิจด้านสาธารณสุข การบริการด้านให้คำปรึกษา ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โรงแรม เป็นธุรกิจภาคบริการ

เพราะฉะนั้น จะหวังให้โรงงานจากญี่ปุ่น ย้ายมาตั้งโรงงาน ใช้คำว่า  Food Processing หรือการผลิตอาหาร การบรรจุหีบห่อ การแข่งขันด้านแรงงานราคาถูก โรงงานทอผ้า แม้แต่โรงงานผลิตรถยนต์ ภาคการผลิตในโรงงานที่เรียกว่า Manufacturing ลดลง ลดลง ลดลง เหตุเพราะค่าแรงงานที่จีนถูกกว่า ค่าแรงงานที่อินเดียถูกกว่า ค่าแรงงานประเทศเพิ่งเกิดใหม่ในเอเชียกลาง ถูกกว่าในอาเซียน

68% ของการลงทุนต่างประเทศ ปีหนึ่ง 50,000 ล้านดอลลาร์ เกือบ 70% ที่เข้ามาคือ ภาคบริการ

ภาคบริการจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ภาคบริการคือการให้มูลค่าเพิ่มกับคนต่างชาติ หรือคนในประเทศ ที่ต้องการมีคุณภาพในชีวิตที่ดีขึ้น เพราะในเรื่องวัตถุ รายได้ เศรษฐกิจ เราขยับขึ้นมาแล้วจ ากการหาเช้ากินค่ำมาเป็นหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หาการบริการในชีวิตที่ดีขึ้น

ตรงนี้แหละครับ เป็นสิ่งที่ทั้ง 10 ประเทศ ทั้ง 600 ล้านคน จะต้องให้ความสนใจการพัฒนาบุคคลากรของตัวเอง เพื่อเอาประโยชน์จากการที่เขาจะแสวงหาคุณภาพชีวิต การบริการที่ดีขึ้น

ญี่ปุ่นต้องการพยาบาลจากประเทศอาเซียนทั้งหมด เพราะคนของเขาแก่ลง มีคนเข้าไปอยู่ในที่พักคนชรามากขึ้น เขาผลิตพยาบาลไม่ทัน คนรุ่นใหม่ของเขาผลิตไม่ทัน หรือผลิตแล้ว เลือกที่จะมีครอบครัวดูแลลูก แทนที่จะอยู่ในภาคการบริการพยาบาล

เขาให้ทุนมาสอนภาษาญี่ปุ่นกับพยาบาลในอาเซียน เรียนไปหนึ่งปีสอบภาษาญี่ปุ่นได้สองคน เพราะกว่าจะจบพยาบาลอายุ 23, 24, 25 ปี มันอาจจะช้าเกินไป ที่จะเลือกเรียนภาษาที่สองให้กับตนเอง

ที่สิงคโปร์ขณะนี้ ตลาดการบริการ ไม่ว่าร้านอาหาร สปา โรงแรม เต็มไปด้วยคนจีน และคนจีนเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษ แรงงานจีนเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าแรงงานไทย สมัยหนึ่งเป็นแรงงานจากฟิลิปปินส์ แต่ตอนนี้จีนเต็มไปหมด สมัยหนึ่งเคยเป็นคนอินโดนีเซีย แต่เดี๋ยวนี้จีนเข้ามาแย่งงานด้านการบริการระดับนั้นไป

ตอนนี้ สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ปรึกษาทั้งหลาย ต้องตัดสินใจคือ แรงงานระดับไหนในอาเซียน ที่ต้องการเจาะให้เป็นพื้นที่ของแรงงานไทย จะไปแข่งกับเขาในระดับนั้นไหม ไม่มีทางที่จะสู้เขาได้ จะแข่งกับเขาในระดับนี้ไหม ไม่แน่ว่าจะสู้เขาได้หรือเปล่า

จะแข่งกับเขาในเรื่องการบริหารจัดการ หรือด้านการวิจัยค้นคว้า Research and development และพัฒนาสินค้า สู้เขาได้ไหม ไม่แน่

ตรงนี้แหละครับ 64 ล้านคน จะอยู่ตรงไหนของประชาคมอาเซียน เป็นคำถามระดับประเทศ เป็นคำถามสำหรับผู้บริหาร เป็นคำถามสำหรับรัฐบาลใหม่ เป็นคำถามของผู้บริหารระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องถิ่น และจังหวัดที่อยู่ชายแดน

สงขลานี่ยิ่งกว่าชายแดนอีก เพราะเป็นบริเวณที่สภาพภูมิศาสตร์ยื่นเข้าไปในหัวใจของอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดการแข่งขันที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะฉะนั้นที่คิดเรื่องนี้นี่ถูกแล้ว แต่อยากจะเรียกร้องว่า ต้องเร็วกว่านี้ ต้องมี Sense of Urgency ความรู้สึกว่ามันฉุกเฉินแล้วนะ วันเดียวก็เสียไปไม่ได้แล้ว ชั่วโมงเดียวก็ปล่อยไม่ได้แล้ว ต้องตื่นตัวทั้งองคาพยพ

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาบอกว่า ในตลาดของการขุดเจาะนอกฝั่งสงขลา แรงงานต่างประเทศทั้งนั้น เพราะเราไม่มีบุคลากรด้านนั้น ในราคานั้น ในระดับความรู้ความสามารถ Skill ขนาดนั้น

การต่อท่อในโครงสร้างทางทะเล การบริหารจัดการ การส่งทรัพยากร หรือปัจจัยทั้งหลายบนแท่นขุดเจาะ ไม่ว่าอาหาร น้ำ พืชผัก มันจะมีเรื่อง Logistics เข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะมีเรื่องขนส่งสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะมีเรื่องการบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าสงขลาไม่พร้อมที่จะสู้ ถ้าภาคใต้ของไทยไม่พร้อมเข้าไปแข่งขันในตลาดตรงนั้นที่กำลังเกิดขึ้น ก็ต้องระวัง เพราะมันจะเต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาแข่งขันกับเรา

ตรงนี้แหละครับที่ท่านทั้งหลายกำลังทำอยู่ในวันนี้ ทำในสิ่งซึ่งเป็นหัวใจ และปัจจัยของประชาคมอาเซียน เราอยากให้คนทั้ง 600 ล้านคนแหละครับได้ประโยชน์ในระดับที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความพร้อม ความสามารถ และความตั้งใจที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดนี้ แต่ที่แน่ๆ รออยู่ตรงนี้ไม่ได้ ทั้งองคาพยพที่มีอยู่ในประเทศนี้ ต้องพัฒนา ต้องปรับปรุง ต้องขยัน

อาเซียนคนรู้จักเยอะ โรงแรมอาเซียนมีอยู่ในหาดใหญ่ใช่ไหมครับ โฆษณาให้เขาหน่อย เพราะผมใช้บ่อย ที่ภูเก็ตมีร้านตัดผมอาเซียน ที่พัทยามีสถานอาบ อบ นวด อาเซียน แต่คนไทย 64 ล้านคน เข้าใจสปิริต เข้าใจสาระ เข้าใจจุดประสงค์ และเป้าหมายของคำว่า อาเซียนแค่ไหน นี่คือภารกิจที่ผมต้องทำ ในช่วงที่เหลืออีกปีครึ่ง ก่อนจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน

ผมหวังจะเห็นคำว่า อาเซียนจะมีความหมายมากกว่าโรงแรมที่หาดใหญ่ มากกว่าร้านตัดผมที่หาดป่าตอง และมากกว่าสถานอาบ อาบ อบ นวดที่พัทยา เพราะถ้าไม่รู้จัก ปี 2558 มันมาเร็วมาก ตอนนั้นผมไม่อยู่แล้ว

อีก 44 ปีครึ่ง ประเทศไทยถึงจะมีโอกาสเป็นเลขาธิการอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง เพราะเราผลัดเปลี่ยนกันเป็นประเทศละ 5 ปี 10 ประเทศ 50 ปี เพราะฉะนั้น ถ้าจะเตรียมลูกเตรียมหลานไปเป็นเลขาธิการอาเซียนคนต่อไป ยังมีเวลาให้เตรียมตัวอีก 45 ปี

หวังว่าผมหมดวาระแล้ว อย่างน้อยๆ คนไทยจะรู้จักอาเซียนมากขึ้น บางทีนักเรียนมากล่าวหาผมว่า สะกดคำว่า ASEAN ผิด บอกว่าตัว I ครับท่านเลขาธิการไม่ใช่ตัว E อันนี้มัน ASEAN Association Of Southeast Asian Nation เกิดที่ประเทศไทย ตั้งที่ประเทศไทย ประเทศไทยเป็นผู้ขับดัน ผลักดันในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอาเซียนมาโดยตลอด

หรือเรื่อง AEC หรือ AFTA หรือ ASEAN Free Trade Area เป็นความคิดของนายอานันท์ ปันยารชุน ตอนเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรก เพราะจีนกับอินเดียกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เราใช้คำว่าจีนกับอินเดีย ดึงเอาออกซิเจนทางเศรษฐกิจ ทางการลงทุนจากต่างประเทศ ไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็วมาก เราไม่มีอากาศจะหายใจ เราไม่มีออกซิเจนบริสุทธิ์ที่จะหายใจ มีแต่คาร์บอนไดออกไซด์

นายอานันท์ถึงบอกว่า ถ้าไม่คิดถึง AFTA เขตการค้าเสรีอาเซียน อย่าหวังเลยว่า จะยืนหยัดอยู่ได้ในรูปของประชาคม เพราะฉะนั้นต้องคิดถึงเขตการค้าเสรี นี่เป็นความคิดของคนไทย

ถามว่าตั้งแต่ปี 1992 ที่คุณอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรก จนกระทั่งบัดนี้เราพร้อมกว่าเดิมไหม ผมไม่แน่ใจ ทัศนคติของภาคเอกชนดีครับ ภาคเอกชนไทยนี่ กล้า มั่นใจ พร้อมที่จะเผชิญ พร้อมที่จะแข่งขัน

จะเห็นว่า ผู้นำภาคเศรษฐกิจไทยไม่มีใครบอกว่า ต้องปิดประเทศ ไม่มีใครบอกว่าต้องชะลอ ไม่มีใครบอกว่าต้องถอย ทุกคนบอกว่าต้องสู้ ต้องพัฒนา ต้องปรับปรุง ต้องเปลี่ยนระบบการผลิต ต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ต้องมีการบริหารจัดการใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ต้องแข่งขันกับเขา ต้องพัฒนาบุคคลากร

หลายประเทศหวั่นไหว หลายประเทศมีเสียงโอดครวญ หลายประเทศมีทัศนคติที่ค่อนข้างจะรีรอ แต่เชื่อผมเถอะ อาเซียนไม่เปิด  WTO ก็เปิด ถึง ASEAN, WTO ไม่เปิด Globalization มันก็จะเปิด เพราะในโลกของยุคโลกาภิวัตน์ การแข่งขันมันเกิดขึ้นในทุกมุม ทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล โรงงานจะย้ายเข้ามาสู่หมู่บ้านมากขึ้น

สมัยที่ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ๆ ปี 2529 หาเสียงในเขตพื้นที่ชนบทนครศรีธรรมราช ไม่มีคนต่างชาติ ไม่มีคนตาสีทอง ไม่มีคนตาสีฟ้าแม้แต่คนเดียว

3–4 ปีให้หลัง เดินหาเสียงในพื้นที่ทุกชุมชนทุกหมู่บ้าน ลูกเขยเป็นฝรั่ง ลูกสะใภ้เป็นฝรั่ง หลานสะใภ้เป็นคนญี่ปุ่น หลานเขยเป็นคนเกาหลี เหลนเขยเป็นคนออสเตรเลีย เพราะแรงงานของเราเคลื่อนย้าย โลกาภิวัตน์มันไหลไปทุกที่ ลูกหลานของเราออกไปหางานทุกที่ งานมันเข้ามาหา และการแข่งขันมันเข้ามาหาทุกพื้นที่ มันไม่ใช่สังคมเกษตรกรรมเหมือน 30–40 ปีที่แล้ว

ขับรถมาจากพัทลุงก่อนเข้าสงขลา เฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศ เฟอร์นิเจอร์จากจีนทั้งนั้น โรงงานมาจากต่างประเทศทั้งนั้น แทนที่จะเอาน้ำยางหรือก้อนยางออกไปผลิตในโรงงานเขา เขามาผลิตในบ้านเรา ราคายังถูกอยู่ ค่าขนส่งไม่ใช่ขนส่งเป็นก้อนใหญ่ๆ เรือใหญ่ๆ เป็นวัตถุดิบ แต่แปรสภาพเปลี่ยนสภาพเป็นสินค้าที่ใช้ได้ ออกจากสงขลา จากหาดใหญ่ไปสู่ตลาดผู้บริโภค เข้าตลาดเข้าร้านเค้าเรียกว่า Modern Trade หรือศูนย์การค้าใหญ่ๆ ได้ทันที ขึ้นหิ้ง ขึ้น Shelf ได้เลย

ประเทศในอาเซียน มีชนชั้นกลางมากขึ้น ประเทศในอาเซียนคนมีกำลังซื้อมากขึ้น ประเทศในอาเซียนการแข่งขันแรงงานจะสูงขึ้น ประเทศในอาเซียนจะถูกแย่งงานในระดับแรงงานขั้นต่ำมากขึ้น ประเทศในอาเซียนมีการประกอบสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น

ทั้งหมดต้องการแรงงานที่พัฒนามากกว่านี้ ทั้งหมดต้องการผู้บริหารการจัดการด้านแรงงานสูงกว่านี้ ต้องการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความรู้ ประสบการณ์ด้านการบริหารมากกว่าที่เป็นอยู่

เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมี Sense of urgency รู้สึกว่านี่คือ ภาวะฉุกเฉินแล้ว วิ่งเกียร์หนึ่ง เกียร์สองอยู่เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องเกียร์สี่ เกียร์ห้า

สถาบันการศึกษาต้องเข้าใจ สิ่งท้าทายอันนี้ ผลิตหมอไม่ใช่เพื่อ 76 จังหวัด หรือ 77 จังหวัดในประเทศไทย เพราะจะมีหมอฟิลิปปินส์มาแย่งงาน ด้านการบริการสุขภาพ จะมีพยาบาลจากอินโดนีเซีย จะมีแพทย์จากสิงคโปร์ ถ้าเราหวังให้เขาเปิด เขาไม่ได้เปิดอยู่ข้างเดียว

yes mobile ชีวิตในอนาคตมีทางเลือกเยอะ แต่ลูกหลานเราก็ต้องเก่งและดีจริงๆ ตรงนี้แหละครับจะทำอย่างไร

ตอนอยู่ในรัฐบาล ผมเคยเสนอว่า สาม สี่ ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชากรมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายดีอยู่แล้ว ขอให้เปลี่ยนทัศนคติของกรุงเทพมหานครนิดเดียว อย่าถือว่าความแตกต่างหลากหลายและเอกลักษณ์เหล่านี้ ทำลายความเป็นเอกภาพของชาติ

คนจะนะ สะบ้าย้อย เทพา นาทวี พูดภาษามาเลย์ท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เปลี่ยนทัศนคติได้ไหมว่า นี่คือทรัพยากรที่มีอยู่ สอนภาษามลายูกลางให้เขา สองภาษาของที่นี่ก็เป็นภาษามลายูกลางกับอังกฤษ เขาจะเป็นหัวหอกในการนำไทยออกสู่ตลาดอาเซียน นำนักท่องเที่ยวเข้ามา ไปดึงเอาการลงทุนเข้ามา ดัน SMEs เข้าสู่ตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เพราะเขารู้ภาษามลายู

ผมเคยพูดอยู่ตลอดว่า ภาษาถิ่นตรงนี้เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญ รักษาไว้ พัฒนามัน สอนให้เขาพูดมาเลย์กลางที่พูดกัน 300 กว่าล้านคนในอาเซียน ครึ่งหนึ่งในอาเซียนพูดภาษามาเลย์ แต่เพราะทัศนะของกรุงเทพมหานครมองว่า สิ่งนี้จะนำไปสู่การแตกแยก มันถึงพัฒนาต่อไปไม่ได้ มันถึงกลายเป็นความแตกแยก เพราะฉะนั้น ต้องเปลี่ยนทัศนคติ

ผมยืนยันว่าภาษาอังกฤษดีขึ้น 25% วันรุ่งขึ้นประเทศไทย จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้น 100% เพราะเราที่ผ่านมาเราสื่อกับเขาไม่ได้ เราไปหลงภูมิใจในประวัติศาสตร์ว่า อย่ามาโทษเรานะภาษาต่างประเทศเราไม่ดี เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร พูดอยู่อย่างนี้ 30, 40, 50 ปี จนกระทั่งประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งลาว เขมร เวียดนาม พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าเรา สอบ TOFEL ได้มากกว่านักเรียนไทย ดีกว่านักศึกษาไทย ทั้งที่ประเทศเหล่านี้ ใช้ภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศอาณานิคม เป็นประเทศแม่ แล้วเราจะอธิบายยังไง

ผู้นำไทยทุกระดับที่ออกไปสู่ประชาคมอาเซียน ออกไปแล้วพูดกับเขาไม่ได้ ออกไปแล้วไม่สามารถที่จะแสดงความคิด มีส่วนร่วม โต้ตอบ ดีเบตเสนอความคิดกับเขาได้ มีแต่ Yes Coca cola มีแต่ No Pepsi มันต้องเปลี่ยนตรงนี้

คนที่ควรจะเปลี่ยนคือ คนที่อยู่ชายแดน คนที่ควรจะเปลี่ยนคือ คนที่อยู่ท่ามกลางพายุของการแข่งขัน คนที่ควรจะเปลี่ยนคือ พวกท่านที่อยู่ตรงนี้ คนภาคใต้คือคนที่ถูกโลกาภิวัตน์โดยภาคบังคับ เพราะภูมิศาสตร์ภาคใต้ หยิบยื่นลงไปในภูมิภาคส่วนใหญ่ของอาเซียน

ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย กำลังกลายเป็นมหาสมุทรที่มีการแข่งขันสูงยิ่งในขณะนี้ มีทั้งจีน อเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่นเข้ามา เพราะช่องแคบมะละกาคือ เส้นชีวิตของจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หมื่นกว่าลำเรือสินค้า ด้านพลังงาน แก๊ส Oil Fuel แปลว่าน้ำมันดิบ มีอยู่ไม่รู้กี่หมื่นลำ ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับช่องแคบมะละกา ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไม่มีอากาศจะหายใจ เพราะไม่มีพลังงานไปผลิตสินค้า

จะผลักดันโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็เกิดปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น พลังงานจะต้องผ่านที่ไหนก่อน ถ้าจะผ่านประเทศไทยก็ตรงนี้ ภูเก็ต ตรัง เกาะปีนัง วิชาการเทคโนโลยีทั้งหลาย มันมาทางยุโรปมาที่เรา ถ้ามันมาจากจีน ญี่ปุ่น มันจะขึ้นฝั่งอ่าวไทย

ตรงนี้ล่ะครับคือ โลกาภิวัตน์ภาคบังคับของประเทศไทย

ลัทธิ ความคิด ความเชื่อ ไปดูสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองหลวงของเรา กรุงเทพมหานคร วัดจีนอยู่ฝั่งนี้ โบสถ์แขกอยู่ฝั่งนั้น โบสถ์คริสต์อยู่ฝั่งนี้ โบสถ์ฮินดูอยู่ฝั่งนั้นคือ สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ มาทางเรือทั้งนั้นแหละ แล้วมาทางไหนก่อน ไม่ได้มาทางตอนเหนือของประเทศไทย แต่มาทางภาคใต้นี้แหละครับ เพราะฉะนั้นทัศนคติของคนตรงนี้ จึงพร้อมที่สู้ พร้อมที่เปิด พร้อมที่จะเผชิญ

จึงไม่แปลกที่คนภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล จะคิดอย่างนี้ จึงไม่แปลกที่นครศรีธรรมราชคิดอย่างนี้ แต่ต้องต่อยอด เราอยู่กับอดีตไม่ได้ ต้องมองไปข้างหน้าและพร้อมจะเผชิญ

อย่างที่ผมเรียนให้ถือว่าอาเซียนคือ บ้านพักกลางทาง โลกาภิวัตน์มันมาแน่ และเราคุ้นเคยกับมันด้วย สำหรับกระแสนี้ การเปิดตลาด การแข่งขันตามมาแน่ และเราคุ้นเคยกับมัน เราเคยอยู่รอดมาแล้ว ให้ถือซะว่าอาเซียนคือบ้านพักกลางทาง ถ้าไม่มีอาเซียนมันจะแข่งขันกันรุนแรงกว่านี้

อาเซียน ให้เราเปิด ให้เราเผยอ ให้เราแย้ม และให้เราพัก หยุดพักเหนื่อยได้ ไม่เช่นนั้นจะเปิดกว้างทันที สู้เค้าไม่ได้ รับไม่ไหว ทนไม่ไหว เขาเอาหมด เขาแย่งหมด เขากินหมด เขากินเรียบ และอาเซียนค่อยๆเปิด ค่อยๆ เตือน ค่อยๆ สร้างความพร้อม และค่อยๆ ให้เราได้ปรับตัว

ไม่มีอาเซียนก็มี WTO ไม่มีอาเซียน ไม่มี WTO ก็มีโลกาภิวัตน์ เราปิดประเทศไม่ได้ ยกกำแพงขึ้นมาล้อมรอบไม่ได้ มีหนังสือเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ฉบับหนึ่งเขาบอกว่า โลกแบนแล้วครับ ซึ่งเป็นชื่อหนังสือที่น่าสนใจมาก The World is flat ซึ่งมันขัดกับที่เราเรียนมา กาลิเลโอบอกว่าโลกกลม วิทยาศาสตร์บอกว่าโลกกลม แต่ไอ้นี่บอกว่า The World is flat เพราะมันไม่มีกำแพงระหว่างกันแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันเคลื่อนย้ายได้

6 ประเทศอาเซียนบอกว่า ต่อไปนี้ ภาษีสินค้า 0% ทุกชนิด ขณะเดียวกันทั้ง 6 ประเทศก็พยายามกีดกันในส่วนซึ่งไม่ใช่ภาษี เช่น คุณภาพ สีสัน ขนาด ยาของคุณมีส่วนผสมอันนั้นเกินไปจากมาตรฐานของเรา ลิปสติกของ You มีสารชนิดนั้นมากกว่าที่เราอนุญาต เพราะฉะนั้นไม่ให้นำเข้า

สิ่งเหล่านี้กำลังได้รับการเจรจา สิ่งเหล่านี้กำลังได้รับการแก้ไข สิ่งเหล่านี้กำลังได้รับความสนใจ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน สำหรับคน 600 ล้านคน เมื่อตลาดเป็น 600 ล้านคน แน่นอน งานมันจะเพิ่มขึ้น แต่มันต้องแข่งขัน เมื่อตลาดเป็น 600 ล้านคนจริง แน่นอนการลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามา เพราะเขาต้องการลูกค้า 600 ล้านคนตรงนี้

ตรงนี้คือโจทย์ คือปัญหาที่เราต้องเตรียมรับ ผมก็ได้แต่เตือน ได้แต่เรียกร้อง ได้แต่พยายามที่จะกระตุ้น คุณพ่อ คุณแม่อยู่บ้านต้องเอาใจใส่ ในเรื่องที่ลูกเรียน ต้องเอาใจใส่ในเรื่องที่ลูกกำลังเตรียมตัวเพื่ออนาคต ต้องเอาใจใส่สาขาวิชาที่ลูกเรียน และต้องเรียกร้องจากสถาบันการศึกษา ไม่ว่าเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน หลักสูตรของ You ต้องดีเลิศ การฝึกอบรม Training ของ You ต้องตลอดชีพ สนใจวิชาอะไร เข้ามาเรียนภาคฤดูร้อน เรียนภาคค่ำ เพราะต้องแข่งขันกับคนข้างนอก

สำคัญที่สุดคือ พอกันทีกับความภูมิใจในอดีต ในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ เช่น เรามีภาษาของเราเอง เราไม่ต้องเรียนภาษาอื่น เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร

โลกสมัยนี้ เขาไม่ถามว่าคุณเป็นเมืองขึ้นของใครหรือเปล่า โลกสมัยนี้เขาถามว่า คุณรับการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน แรงงานของคุณมีคุณภาพแค่ไหน เทคโนโลยีของคุณพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน การบริหารจัดการมีสมรรถนะ สมรรถภาพแค่ไหนที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับแรงงานได้ดีและราบรื่นไม่มีปัญหา

อีกอันหนึ่งที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาพูดคือ Sustain Ability พัฒนาให้ยั่งยืน พัฒนาแล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาแล้วไม่ทำลายแหล่งน้ำ พัฒนาแล้วไม่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นเครื่องจรรโลงชีวิตที่มีคุณภาพ

เพราะฉะนั้น Sustain Ability กับเรื่องของการยั่งยืนและการพัฒนา คือสิ่งที่โลกมองเหมือนกัน แม้แต่สวนปาล์มและน้ำมันปาล์ม ผลิตผลน้ำมันปาล์มก็เป็นประเด็นที่มีความขัดแย้ง เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนออกมาบอกว่า การปลูกปาล์มน้ำมัน เป็นการเปลี่ยนป่าเมืองร้อนเป็นป่าชนิดเดียว กว้างขวางหลายร้อยหลายพันตารางกิโลเมตร คุณทำลาย Diversity ของป่าเมืองร้อน เราบอกว่า นี่คืออาชีพของเรา เขาบอกว่าถ้าคุณปลูกพืชชนิดเดียว มันทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย

ตอนนี้ มีการต่อต้านการปลูกน้ำมันปาล์ม และผลิตผลจากน้ำมันปาล์มโดยที่เราไม่รู้ตัว