Skip to main content

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2554 ภาควิชาประวัติศาสตร์ แผนกวิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับหน่วยวิจัยภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิเอเชีย จัดโครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ : ร้อยเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี หรือ 100 Important Documents about Patani History Project ที่ใต้ถุนห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)รูสะมิแล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน โดยมีการนำเสนอเอกสารเกี่ยวประวัติศาสตร์ปัตตานี 100 ชิ้น ทั้งที่เป็นเอกสารภาษามลายู ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ

 

ดร.อาหมัดอูมาร์ จะปะกียา รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และกิจการพิเศษรองประธานกรรมการ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวปาฐกถาว่า สมัยก่อนการเรียนประวัติศาสตร์ปัตตานีต้องเรียนอย่างลับๆ แต่การพูดเรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานีในวันนี้ เพื่อกำหนดทิศทางในอนาคต ซึ่งการพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ควรแยกจากการเมืองปัจจุบัน และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบต่อจิตใจหรือเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้

 

ดร.อาหมัดอูมาร์ กล่าวว่า เอกสารการเขียนประวัติศาสตร์ปัตตานี แม้ไม่ค่อยมีคนเขียนมากนัก แต่ปัจจุบันมีงานเขียนด้านนี้มากขึ้น โดยเฉพาะงานเขียนวิชาการ

 

ดร.อาหมัดอูมาร์ กล่าวว่า ในอดีตขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังไม่มี แต่มีเพียงการเรียนร้องสิทธิของชาวมลายู จนกระทั่งปี ค.ศ.1960 จึงเกิดขบวนการแย่งแยกดินแดนขึ้นมา จุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การหายตัวไปของฮัจยีสุหลงในช่วงก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี

 

ดร.อาหมัดอูมาร์ กล่าวว่า การเมืองไทย ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น เพราะนักการเมืองหลายคนในปัจจุบันก็เป็นผู้ที่เคยจับอาวุธ แต่หลังจากที่มีนโยบาย66/23 ทำให้พวกเขาหันมาต่อสู้ทางการเมืองแทน

 

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวว่า มีการเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ปัตตานีจำนวนหนึ่งที่เขียนในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ค่อยเขียนเอกสารประวัติศาสตร์ปัตตานี แต่เอกสารดังกล่าวก็ไม่สามารถนำเข้ามาในประเทศไทยได้ ส่วนเอกสารประวัติศาสตร์ปัตตานีที่มีก็ถูกทำลาย ถูกซุกซ่อนในกระบอกไม้ไผ่ หรือฝังดิน

 

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า เอกสารประวัติศาสตร์ปัตตานีส่วนใหญ่จะบันทึกเป็นภาษาต่างประเทศ เนื่องจากชาวต่างชาติจะบันทึกโดยไม่มีอคติ หนึ่งในนั้นมีจดหมายฉบับที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ โดยชาวต่างชาติคนหนึ่งที่เข้ามาทำเหมืองแร่ในปัตตานี ได้เขียนเล่าเรื่องราวในปัตตานีสมัยก่อน ปัจจุบันจดหมายฉบับนี้ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ

 

“การค้นบ้านผู้ต้องสงสัย มีการค้นพบเอกสารเกี่ยวกับปัตตานี ที่เป็นภาษายาวีทุกครั้ง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เอกสารทั้งหมด ต้องถูกขนย้ายออกไปอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย” พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว

 

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวต่อไปว่า การเขียนประวัติศาสตร์ปัตตานีมักถูกบิดเบือน ล่าสุดตนพบเอกสารในตัวผู้เสียชีวิตรายหนึ่งที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เอกสารดังกล่าวเป็นภาษายาวี หลังจากนำมาแปลเป็นไทยแล้ว พบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่มีเนื้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง

 

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า การเขียนเอกสารประวัติศาสตร์ปัตตานีส่วนใหญ่ เขียนเป็นภาษายาวี แต่น่าเสียดายที่เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักจะทิ้งภาษายาวีไป แล้วหันไปเขียนและอ่านเอกสารที่เป็นภาษาไทย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงอรรถรสในงานเขียนภาษายาวีได้ เนื่องจากอักขระแต่ละตัวแฝงไปด้วยความหมายมากมาย

 

นายอุดม ปัตนวงศ์ ตัวแทนจากมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวว่า การบันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยศรีวิชัย เป็นการบันทึกโดยใช้ภาษาสันสกฤต ด้วยอักขระปารวะ ซึ่งเป็นภาษามลายูโบราณ แต่เมื่อ 800 กว่าปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนภาษาในการบันทึกประวัติศาสตร์จากอักษรปารวะเป็นภาษายาวี แม้เซนต์ ฟรานซิส ซาเวียร์จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ก็ยังต้องเผยแพร่ศาสนาด้วยภาษายาวี และอยากฝากถึงคนรุ่นหลังให้เขียนประวัติศาสตร์ปัตตานีให้มากขึ้น เนื่องจากการเขียนประวัติศาสตร์ยังสามทรถเป็นประจักษ์พยานในทางวิชาการอีกด้วย

 

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี กล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของผลงาน “จากกรือเซะ สู่บางกอก” เขียนขึ้นในฐานะเชลยศึกที่ถูกเกณฑ์ไปจากปัตตานี และตนเคยอ่านหนังสือของนักภาษาศาสตร์คนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงการใช้ภาษาว่า ภาษาอะไรก็ตามที่ไม่ได้พูดใน 30 ปี ภาษานั้นจะสูญหายไป