Skip to main content
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
 
ครึกครื้นตื่นเต้นเร้าใจเกือบตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กับหลากหลายรูปแบบโฆษณา และหลายหลากท่วงท่าของลีลาการประชาสัมพันธ์โหมโรง ก่อนเคลื่อนข้าสู่โหมด “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41”
 
นอกจากรูปแบบการเคลื่อนไหวผ่านสื่อ จะสร้างความตื่นเต้นให้กับบรรดาเครือข่ายภาคประชาชนในภาคใต้แล้ว ในทางกลับกันก็สร้างความหวั่นไหวให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอยู่น้อย เนื่องเพราะนี่เป็นม็อบแรกที่ลงสู่ท้องถนนต้อนรับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อบอกนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศนี้ว่า โปรดอย่าผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ในนามผนพัฒนาภาคใต้ และแผนพัฒนาพลังงาน ลงมาในพื้นที่ภาคใต้
 
 
ใต้เมกะโปรเจ็กต์ – แผนที่พัฒนาภาคใต้ จะเห็นเมกะโปรเจ็กต์ ผุดเต็มไปหมดทั้ง 2 ฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
 
จึงไม่แปลกที่ “นายพินิจ เจริญพานิช” ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร จะออกมาสั่งการให้พันตำรวจเอกนรินทร์ บุษยวิทยท์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร จัดชุดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับรถสัญจรมาไป และชาวบ้านผู้เข้าร่วมชุมนุมในแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ที่คาดว่าจะมีตัวเลขอยู่ในระดับหลักพัน
 
          “ส่วนจะระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลกี่นาย ผมไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับพันตำรวจเอกนรินทร์จะจัดกำลังมาเท่าไหร่ นอกจากตำรวจแล้ว ผมยังขอกำลังทหาร มาช่วยรักษาความปลอดภัยในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินด้วย” นายพินิจ กล่าว
 
ขณะที่บรรดาเครือข่ายเริ่มทยอยเข้ามายังบริเวณวนอุทยานเขาพาง (วัดภูพางพัฒนาราม) ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ตั้งแต่ช่วงสายๆ ของวันที่ 21 สิงหาคม 2541 สถานที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 “นางแสงนภา สุทธิภาค” คณะทำงานเครือข่ายความร่วมมือสิทธิพลเมืองจังหวัดชุมพร บอกว่า ตอนนี้มีการแจ้งจาก 12 จังหวัดภาคใต้ว่า จะเข้าร่วมแผนปฏิบัติการเพชเกษม 41 ประกอบด้วย จังหวัดสตูล สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎระธานี กระบี่ พังงา ระนอง ปัตตานี พัทลุง ตรัง ภูเก็ต และชุมพร รวมถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย ยอดที่แจ้งในเบื้องต้นว่าจะเข้าร่วมปฏิบัติการอยู่ที่กว่า 2 พันคน
 
“ค่ำวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมถึง 3 พันคน จำนวนขนาดนี้ทางเจ้าภาพหลักจังหวัดชุมพรยังรับได้ เพราะจังหวัดชุมพรไม่ได้เป็นเจ้าภาพจังหวัดเดียว เราเป็นเจ้าภาพด้วยกัน แต่ละจังหวัดมีการนำข้าวสาร อาหารแห้ง กุ้ง หอย ปู ปลามาร่วมแบ่งปันกันด้วย” นางแสงนภา กล่าว
 
เนื่องเพราะวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เป็นวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เครือข่ายปฏิบัติการเพชรเกษม 41 จึงยืดเวลาการชุมนุมออกไปจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เพื่อเกาะติดการแถลงนโยบายต่อรัฐสภานโยบายของรัฐบาล
 
นั่นหมายถึงจะมีแถลงการณ์ และท่าทีของเครือข่ายฯออกมาเป็นระยะๆ
 
“สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ติดต่อว่าจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมออกอากาศรายการสดกับทางกรุงเทพมหานคร ในระหว่างที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของรัฐบาล เพื่อที่จะถามตอบนโยบายเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ และแผนพัฒนาพลังงานภาคใต้” นายสมยศ กล่าว
 
อันที่จริงเครือข่ายประชาชนภาคใต้ เริ่มปฏิบัติการเพชรเกษม 41 มาก่อนหน้านี้แล้วในหลายจังหวัด ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางกิจกรรม ในบางจังหวัด
 
เช้าวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลาประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายผลักดันสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูล ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และท่าเรือน้ำลึกปากบารา รวมทั้งยุติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคใต้
 
ปรากฏว่านายวิญญูไม่ได้ออกมาพบชาวบ้าน อ้างว่าติดปฏิบัติราชการ ส่งนายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามารับหนังสือดังกล่าวจากนางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา
 
“ผมกับชาวบ้านบอกกับนายพิศาล ว่าจะไปร่วมแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ระหว่างวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 ที่จังหวัดชุมพร กับเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ เพื่อส่งสัญญาณไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการโครงการเมกะโปรเจ็กต์”
 
เป็นคำบอกเล่าของ “นายกิตติภพ สุทธิสว่าง” คณะทำงานเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา
 
เวลาประมาณ 14.00 น. วันเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร ชาวบ้านเครือข่ายความร่วมมือและส่งเสริมสิทธิพลเมืองจังหวัดชุมพรประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน “นายพินิจ เจริญพานิช” ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายแผนพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และแผนพลังงานในภาคใต้ โดย “นายพินิจ เจริญพานิช” ได้เชิญตัวแทนเครือข่ายร่วมพูดคุย ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดชุมพร ประมาณ 1 ชั่วโมง
 
“ชาวบ้านมีสิทธิที่จะออกมาปกป้องทรัพยากร ปกป้องสิทธิชุมชน ถ้าหากขาดตกบกพร่อง อะไรสามารถติดต่อทางโทรศัพท์ถึงผมได้ทุกเวลา ผมรู้สึกวิตกกังวลนิดหน่อย ชาวบ้านอย่าปิดถนนนานเกินไป เพราะจะทำให้การจราจรติดขัด”
 
เป็นคำกล่าวของ “นายพินิจ เจริญพานิช”
 
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายประชาชนจังหวัดชุมพร ป้ายผ้าเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ที่นำมาติดไว้ตามที่ต่างๆ ปรากฏว่ามีคนแอบปลดออก แต่หลังจากพูดคุยกับนายพินิจ เจริญพานิช” ปรากฏว่าป้ายผ้าที่ติดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีใครมาทำลาย หรือปลดออก
 
นายประทีป มีคติธรรม คณะทำงานติดตามแผนพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า มี
 
ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 เครือข่าย ต่างทยอยเดินทางเข้าร่วมแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ที่จังหวัดชุมพรอย่างพร้อมเพรียง ทั้งเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเครือข่ายอ่าวบ้านดอน
 
สำหรับเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี – พุมดวง แยกกลุ่มผู้เข้าร่วมปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกไปร่วมในวันที่ 21 สิงหาคม 2554 อีกหนึ่งชุดจะเข้าร่วมในวันที่ 22 สิงหาคม 2554
 
ต่อจากนั้น วันที่ 24 สิงหาคม 2554 เครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จะยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายธีระยุทธ  เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง
 
ก่อนเปิดปฏิบัติการเพชรเกษม 41 จะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมง
 
เย็นวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ชาวบ้านในเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเครือข่ายประชาชนติดตามการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราอำเภอละงู จังหวัดสตูล ประมาณ 20 คน ก็บุกสำนักงานงานพรรคประชาธิปัตย์ สาขาอำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่มี “นายฮอซาลี ม่าเหร็ม” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ดูแล
 
จากนั้นยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายฮอซาลี ม่าเหร็ม ตรวจสอบการดำเนินนโยบายพัฒนาแลนด์บริดจ์ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เขื่อน ฯลฯ เพื่อการอุตสาหกรรมในจังหวัดสตูล
 
หนังสือฉบับนี้มีใจความว่า เครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายถมทะเล การพัฒนาแลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล ท่าเรือน้ำลึกปากบารา คลังน้ำมันและท่อส่งน้ำมัน เนื่องจากชัดเจนว่าเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมหนัก
 
เราในฐานะประชาชนสตูลจึงไม่เห็นด้วยและไม่ต้องการให้เกิดขึ้น จึงขอท่านไม่สนับสนุนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและพลังงานเกินความจำเป็นในภาคใต้และในจังหวัดสตูล
 
“เราจะขอสนับสนุน และส่งเสริมให้กระบวนการติดตามตามกลไกของรัฐสภา ที่มีท่านและพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำฝ่ายค้าน จึงขอให้แสดงบทบาทอย่างเที่ยงตรง และยืนหยัดกับผู้ลงคะแนนเสียงอย่างแท้จริง” หนังสือดังกล่าว ระบุ
 
เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2554 ทางตนและทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์จะอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล และโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆของรัฐบาลชุดนี้
 
          “รัฐบาลประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับท่าเรือทวาย ประเทศพม่า กับท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจึงหันมาเน้นหนักกับแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล ที่บริษัทดูไบเวิร์ลเคยศึกษาไว้ในสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล” นายฮอซาลี หม่าเร็ม กล่าว
 
ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเครือข่ายประชาชนติดตามการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ประมาณ 20 คน ก็บุกศูนย์ประสานงานพรรคชาติไทยพัฒนา สาขาจังหวัดสตูล ของนายธานินทร์ ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูล ยื่นหนังสือถึงนายธานินทร์ว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูล โดยเฉพาะโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
นายธานินทร์ ใจสมุทร บอกว่า จะให้การสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และเส้นทางแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล แต่ไม่ต้องการให้ชักนำอุตสาหกรรมหนักเข้ามาในจังหวัดสตูล สมบูรณ์ กำแหง บอกไปว่าการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยไม่มีอุตสาหกรรมหนักจะไม่มีความคุ้มทุน นี่คือคำยืนยันจากผู้ประกอบการเดินเรือ และนักวิชาการด้านโลจิสติกส์
 
“นายธานินทร์ บอกว่า เขาเป็นแค่ ส.ส. ตัวเล็กๆ ของพรรคเล็กๆ ที่ได้ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะปฏิเสธโครงการทั้งหมดเป็นไปได้ยาก”