Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

 

 

 

ประกายแดดสุดท้ายของวัน สาดแสงส่องระหว่างชะง่อนผาปากร่องน้ำทางเข้าบ้านบ่อเจ็ดลูกกับเกาะเขาใหญ่ อาณาเขตของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

เรือประมงจอดเกยหาดโคลน ท้องทะเลมีแต่เลนดินเลนทรายไกลสุดลูกหูลูกตา ชาวบ้านหลายคนถือกระเช้า ช้อน และอุปกรณ์เท่าที่สรรหาได้ กุลีกุจอตั้งหน้าตั้งตาขูดทรายหาหอยนานาชนิด ในช่วงเวลา 5 โมงเย็น ที่อ่าวปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล

ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม..) พร้อมนักศึกษาอีกหนึ่งคน มีเยาวชนจากบ้านตะโละใส, ปากบารา และท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ 3 คน นำลงพื้นที่เพื่อดูปูทหารยักษ์

เป็นปูทหารยักษ์ ที่คณะวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดยนำโดย ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญสิ่งมีชีวิตกลุ่มปู และอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพิ่งค้นพบ กลายเป็นปูพันธุ์ใหม่ของโลก

เป็นการค้นพบ จากงานวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการพื้นที่ที่มีความหลากหลายชีวภาพ (Biodiversity Hotspots) เพื่อศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเลอันดามัน

“เราเองก็ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นว่าปูทหารเป็นอย่างไร ปากบารามีด้วยเหรอปูทหารยักษ์พันธุ์ใหม่ของโลก มีลักษณะพิเศษตรงไหน นี่ก็เป็นโอกาสแรกที่เราต้องการเห็นเหมือนกัน” เยาวชนในพื้นที่บอก ขณะควานหาและจับจ้องปูในหาดโคลนช่วงน้ำลง

ปูตัวเล็กจำนวนมาก คลานในพื้นที่หาดเลนที่น้ำทะเลสาดถึง เดินคล้ายขบวนทหารมีปูตัวใหญ่นำหน้า เมื่อเข้าใกล้จะหมุนตัวเป็นเกรียวมุดลงทรายคล้ายสร้างบังเกอร์

“ปูนี่เราเคยเห็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรนี่” เด็กหนุ่มคนหนึ่งอุทาน พลางสังเกตเป็นพิเศษ ส่วนเด็กหญิงชายวิ่งไล่จับปูทหารจนเหนื่อยหอบ

ความเป็นมาของการค้นพบปูทหาร ทยอยออกจากของดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง

การค้นพบครั้งนี้ เริ่มจากดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง กับอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร่วมศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

จากการศึกษาคณะวิจัยก็พบกับปูทหารยักษ์ ที่ชาวบ้านพบเห็นกันทั่วไป ปูชนิดนี้จะขึ้นมาเกลื่อนชายหาดเมื่อยามน้ำลง เดินเป็นฝูงเหมือนทหารราบ พอมีอะไรเข้าใกล้จะมุดลงทราย

ชาวบ้านเรียกว่า ปูกระดุม เพราะลักษณะเหมือนกระดุม

จากการสำรวจเบื้องต้น ในประเทศไทยพบปูเพียง 13 ชนิด ใน  2 กลุ่ม คือกลุ่มปูทหาร และกลุ่มปูยักษ์ ที่เคยมีรายงานมีเพียง 1 ชนิดพบที่จังหวัดชลบุรี

สำหรับปูทหารที่ปากบารา ไม่เหมือนกับปูทหารชนิดอื่น เมื่อส่งไปตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องปู ที่ประเทศสิงคโปร์ และออสเตรเลีย พบว่าอาจเป็นปูทหารยักษ์ชนิดใหม่ของโลก โดยระหว่างนี้กำลังอยู่ในระหว่างตรวจสอบดีเอ็นเอ

 

 

 

 

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

 

 

อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาสวัสดิ์ ตั้งชื่อปูชนิดนี้ว่า “ปูทหารแห่งปากบารา” และเตรียมเสนอขอพระบรมราชานุญาต พระราชทานชื่อปูชนิดใหม่ของโลกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวาระเฉลิมฉลองพระชนมายุครบรอบ 84 พรรษาว่า “ปูทหารแห่งพระราชา”

บริเวณชายฝั่งทะเลสตูลเป็นหาดทรายโคลน ดร.สักดิ์อนันต์ ปลาทอง บอกว่าไม่ได้เป็นหาดสกปรก หาดโคลนแสดงถึงมีธาตุอาหารสะสมเยอะ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าทะเลบริเวณมีความอุดมสมบูรณ์ ปูทหารเป็นปูที่กินเศษซากพืช ตะกอนดินเป็นอาหาร เป็นการกำจัดซากพืช ซากสัตว์ไปด้วยในตัว เพราะถ้าไม่มีวงจรกำจัดอาหาร ลดน้ำเน่าเสียเป็นการปรับหน้าดินให้รับออกซิเจน เพื่อทำให้ระบบนิเวศน์มีความสมดุล

ยามน้ำลงปูทหารจะเดินออกมาเป็นฝูงใหญ่เต็มพื้นที่ ระหว่างที่เดินไปจะคุ้ยดินกินสารอินทรีย์ ซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ตามดินตะกอนกินเป็นอาหาร  การคุ้ยเขี่ยดิน และการฝังตัวของปูทหาร ยังเป็นเหมือนการคุ้ยเอาดินที่อยู่ชั้นล่างขึ้นมาสัมผัสอากาศ ทำให้พื้นดินไม่ขาดออกซิเจน  คุณภาพดินจึงดีขึ้น เหมาะกับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำให้สิ่งมีชีวิตในดินเพิ่มจำนวน และความหลากหลายมากขึ้น

สัตว์หน้าดินเหล่านี้ จะกลายเป็นอาหารของกุ้ง หอย ปู ปลา ขนาดใหญ่ต่อไปตามลำดับขั้นของวงจรชีวิต บริเวณชายหาดปากบารา จึงเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตหน้าดินสูงมาก เช่น หอยปากเป็ด (หอยราก) หอยเสียบ อีแปะทะเล หอยมะระ ไส้เดือนทะเล ปู ฯลฯ สัตว์เหล่านี้ ต่างทำหน้าที่ภายใต้ระบบนิเวศ

ขณะที่รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา กลับระบุว่า สัตว์หน้าดินบริเวณนี้มีน้อยมาก ซึ่งขัดแย้งกับความจริงอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่น่ากังวลคือ ชายฝั่งจังหวัดสตูลไม่ใช่แหล่งสะสมธาตุอาหารอย่างเดียว

ทว่า ขยะในทะเลจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่างถูกซัดขึ้นชายฝั่งจังหวัดสตูล ถ้าหากเกิดท่าเรือน้ำลึก น้ำเสียที่ปล่อยจากเรือ น้ำมัน สารเคมีรั่ว จะถูกซัดเข้าหาชายฝั่ง สารพิษก็จะสะสมในปูทหารแห่งปากบารา ซึ่งเก็บกินซากแนวชายฝั่งเป็นอาหาร ส่งผลให้ปูชนิดนี้สูญพันธุ์ได้

ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง กับนักศึกษา ถือกล้องถ่ายรูปเดินออกไปไกลลิบๆ ถ้าไม่ติดกับน้ำทะเลที่ขวางกั้นเพียง 2 กิโลเมตร คณะสำรวจคงจะเดินจนถึงเกาะเขาใหญ่

ทั้งหมดกลับมาถึงชายฝั่ง พร้อมภาพถ่ายที่ชี้ชัดถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตหน้าดิน บริเวณชายทะเลปากบารา ไม่ว่าจะเป็นหอยปากเป็ด (หอยราก) หอยเสียบ อีแปะทะเล หอยมะระ ไส้เดือนทะเล ปู ฯลฯ

หกโมงครึ่งท้องฟ้าเหนือทะเลอันดามัน บริเวณอ่าวปากบาราค่อยๆ สลัว ภาพเกาะตะรุเตา เกาะเขาใหญ่เลือนรางลง

 

ขณะที่ข่าวดี พบปูทหารยักษ์พันธุ์ใหม่ และความหลากของสิ่งมีชีวิต ณ ทะเลปากบารา เริ่มซาลง

พลันข่าวร้าย โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราถูกหยิบขึ้นมาผลักดันอีกครั้ง ก็เริ่มกระหึ่มดัง

 

ชัดๆ    รูปร่างหน้าตาปูทหารยักษ์พันธุ์ใหม่ ที่ทะเลปากบารา